บาลีวันละคำ

ปุคคลสัปปายะ – 1 ในสัปปายะ 7 (บาลีวันละคำ 3,883)

ปุคคลสัปปายะ – 1 ในสัปปายะ 7

ปุคคลสัปปายะ – 1 ในสัปปายะ 7 

บุคคลที่ถูกกันเหมาะกัน

…………..

สัปปายะ” หมายถึง สิ่งที่สบาย, สภาพเอื้อ, สิ่งที่เกื้อกูล, สิ่งที่เอื้อต่อการอยู่ดีและการที่จะพัฒนาชีวิต, สิ่งที่เหมาะกัน อันเกื้อหนุนในการเจริญภาวนาให้ได้ผลดี ช่วยให้สมาธิตั้งมั่น ไม่เสื่อมถอย มี 7 อย่าง คือ 

1. อาวาสสัปปายะ = ที่อยู่อันเหมาะ

2. โคจรสัปปายะ = แหล่งอาหารอำนวย

3. ภัสสสัปปายะ = การพูดคุยที่เหมาะกัน 

4. ปุคคลสัปปายะ = บุคคลที่ถูกกันเหมาะกัน 

5. โภชนสัปปายะ = อาหารที่เหมาะกัน 

6. อุตุสัปปายะ = ดินฟ้าอากาศธรรมชาติแวดล้อมที่เหมาะ 

7. อิริยาปถสัปปายะ = อิริยาบถที่เหมาะกัน 

…………..

ปุคคลสัปปายะ” อ่านว่า ปุก-คะ-ละ-สับ-ปา-ยะ

ประกอบด้วยคำว่า ปุคคล + สัปปายะ 

(๑) “ปุคคล” 

เขียนแบบบาลีเป็น “ปุคฺคล” (มีจุดใต้ คฺ ตัวหน้า) อ่านว่า ปุก-คะ-ละ รากศัพท์มาจาก –

(1) ปุ (นรก) + คลฺ (ธาตุ = เคลื่อน) + (อะ) ปัจจัย, ซ้อน คฺ ระหว่างบทหน้ากับธาตุ

: ปุ + คฺ + คลฺ = ปุคฺคลฺ + = ปุคฺคล แปลตามศัพท์ว่า “ผู้เคลื่อนไปสู่นรก” 

(2) ปูติ (ของบูดเน่า) + คลฺ (ธาตุ = กิน) + (อะ) ปัจจัย, รัสสะ อู ที่ ปู-(ติ) เป็น อุ แล้วลบ ติ (ปูติ > ปุติ > ปุ), ซ้อน คฺ ระหว่างบทหน้ากับธาตุ

: ปูติ > ปุติ > ปุ + คฺ + คลฺ = ปุคฺคลฺ + = ปุคฺคล แปลตามศัพท์ว่า “ผู้กินอาหารคือของบูดเน่า” 

(3) ปุคฺค (อาหารที่ยังอายุของสัตว์ให้เต็ม) + ลา (ธาตุ = กิน) + (อะ) ปัจจัย, ลบ อา ที่ ลา (ลา >

: ปุคฺค + ลา = ปุคฺคลา > ปุคฺคล + = ปุคฺคล แปลตามศัพท์ว่า “ผู้กินอาหารที่ยังอายุของสัตว์ให้เต็มเป็นไป” (คือต้องกินจึงจะมีชีวิตอยู่ได้) 

(4) ปูร (เต็ม) + คล (เคลื่อน), รัสสะ อู ที่ ปู-(ร) เป็น อุ แล้วลบ (ปูร > ปุร > ปุ), ซ้อน คฺ ระหว่าง ปูร + คล 

: ปูร > ปุร > ปุ + คฺ + คล = ปุคฺคล แปลตามศัพท์ว่า “ผู้ทำหมู่สัตว์โลกให้เต็มและเคลื่อนไปสู่ธรรมดาคือจุติและอุบัติ” (คือเกิดมาทำให้โลกเต็มแล้วก็ตาย)

ปุคฺคล” ในบาลีหมายถึง –

(1) ปัจเจกชน, บุคคล, คน (an individual, person, man) 

(2) สัตว์, สัตว์โลก (being, creature)

ปุคฺคล” ใช้ในภาษาไทยว่า “บุคคล” (อ่านว่า บุก-คน, ถ้ามีคำอื่นมาสมาสข้างท้ายอ่านว่า บุก-คะ-ละ-, บุก-คน-ละ-) 

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2542 บอกไว้ว่า –

บุคคล, บุคคล– : (คำนาม) คน (เฉพาะตัว); (คำที่ใช้ในกฎหมาย) คนซึ่งสามารถมีสิทธิและหน้าที่ตามกฎหมาย เรียกว่า บุคคลธรรมดา; กลุ่มบุคคลหรือองค์กรซึ่งกฎหมายบัญญัติให้เป็นบุคคลอีกประเภทหนึ่ง ที่ไม่ใช่บุคคลธรรมดา และให้มีสิทธิและหน้าที่ตามกฎหมาย เรียกว่า นิติบุคคล. (ป. ปุคฺคล; ส. ปุทฺคล).”

ต่อมา พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 ปรับแก้คำนิยามเหลือเพียง –

บุคคล, บุคคล– : (คำนาม) คน (เฉพาะตัว); (คำที่ใช้ในกฎหมาย) บุคคลธรรมดาและนิติบุคคล. (ป. ปุคฺคล; ส. ปุทฺคล).”

ในที่นี้คงรูปตามบาลีเป็น “ปุคคล

(๒) “สัปปายะ” 

เขียนแบบบาลีเป็น “สปฺปาย” อ่านว่า สับ-ปา-ยะ รากศัพท์มาจาก สํ (คำอุปสรรค = พร้อมกัน, ร่วมกัน) + (คำอุปสรรค = ทั่ว, ข้างหน้า) + อา (คำอุปสรรค = ทั่ว, ยิ่ง) + อิ (ธาตุ = ไป, ถึง) + ปัจจัย, ลบ , แปลงนิคหิตที่ สํ เป็น (หรือลบนิคหิตแล้วซ้อน ), แปลง อิ ที่ธาตุเป็น เอ, แปลง เอ เป็น อย แล้วทีฆะ อะ ที่ -(ย) เป็น อา ด้วยอำนาจ ปัจจัย (อย > อาย

: สํ > สปฺ + = สปฺป + อา = สปฺปา + อิ > เอ > อย = สปฺปย + = สปฺปยณ > สปฺปย > สปฺปาย แปลตามศัพท์ว่า “สิ่งที่ไปได้พร้อมทั่วถึง” = อยากจะไป อยากจะทำอะไร ก็ไปได้ทำได้ไม่ติดขัด 

สปฺปาย” ในบาลีใช้ในความหมายดังนี้ – 

(1) เป็นคำนาม: สิ่งที่เป็นประโยชน์, คุณประโยชน์, การช่วยเหลือ (something beneficial, benefit, help)

(2) เป็นคุณศัพท์: น่าเป็นจริง, มีประโยชน์, เหมาะสม, สมควร (likely, beneficial, fit, suitable)

สปฺปาย” ในภาษาไทยใช้ว่า “สบาย” (โปรดสังเกตว่าไม่ต้องประวิสรรชนีย์ที่ -) พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกความหมายไว้ว่า –

(1) อยู่ดีกินดี เช่น เดี๋ยวนี้เขาสบายขึ้น ลูก ๆ ทำงานหมดแล้ว, เป็นสุขกายสุขใจ เช่น เวลานี้เขาสบายแล้ว เพราะมีฐานะดีขึ้น ไม่มีวิตกกังวลใด ๆ.

(2) สะดวก เช่น ทำตามสบายไม่ต้องเกรงใจ มีรถส่วนตัวสบายกว่าไปรถประจำทาง, มักใช้เข้าคู่กับคำ สุข หรือ สะดวก เป็น สุขสบาย หรือ สะดวกสบาย.

(3) พอเหมาะพอดี เช่น เก้าอี้ตัวนี้นั่งสบาย.

(4) ไม่ลำบากกาย เช่น เขาทำงานสบายขึ้น ไม่ต้องแบกหามเหมือนเมื่อก่อน.

(5) ไม่เจ็บไม่ไข้ เช่น เวลานี้เขาสบายดี ไม่ป่วยไข้.

(6) มีความพอใจเมื่อได้สัมผัส เช่น สบายหู สบายตา สบายกาย.

ปุคฺคล + สปฺปาย = ปุคฺคลสปฺปาย (ปุก-คะ-ละ-สับ-ปา-ยะ) แปลว่า “บุคคลเป็นสัปปายะ” คือบุคคลที่เกื้อกูลให้การปฏิบัติธรรมก้าวหน้ายิ่งๆ ขึ้นไป

ปุคฺคลสปฺปาย” ใช้ในภาษาไทยเป็น “ปุคคลสัปปายะ

พจนานุกรมพุทธศาสตร์ ฉบับประมวลธรรม ของท่าน ป.อ. ปยุตฺโต ข้อ [286] สัปปายะ 7 บอกไว้ว่า 

…………..

4. ปุคคลสัปปายะ (ปุคคะละ-) : บุคคลที่ถูกกันเหมาะกัน เช่น มีท่านผู้ทรงคุณธรรม ทรงภูมิปัญญาเป็นที่ปรึกษาเหมาะใจ (suitable person)

…………..

ขยายความ :

ขอนำคำขยายความคำว่า “ปุคคลสัปปายะ” ที่ท่านแสดงไว้ในคัมภีร์วิสุทธิมรรคมาเสนอในที่นี้ หากมีถ้อยคำใดอ่านแล้วยังไม่เข้าใจ พึงศึกษาหาความรู้ต่อไป พึงตั้งอารมณ์ว่าอ่านเพื่อเป็นอุปนิสัยปัจจัยแห่งการศึกษาธรรมและปฏิบัติธรรม ก็จะเป็นมหากุศล

ข้อความในคัมภีร์วิสุทธิมรรคเป็นดังนี้ –

(สำนวนแปลของนาวาอากาศเอก เมฆ อำไพจริต อดีตหัวหน้ากองอนุศาสนาจารย์ กรมยุทธศึกษาทหารอากาศ, ผู้สอบเปรียญธรรม 9 ประโยคด้วยวิธีสอบข้อเขียนได้เป็นคนแรกของประเทศไทย)

…………..

แม้บุคคลที่เป็นผู้ไม่พูดติรัจฉานกถา ถึงพร้อมด้วยสีลาทิคุณ ซึ่งพระโยคาวจรได้อาศัยแล้วเป็นเหตุให้จิตที่ยังไม่เป็นสมาธิย่อมจะเป็นสมาธิบ้าง จิตที่เป็นสมาธิแล้วจะตั้งมั่นยิ่งขึ้นบ้าง เช่นนี้เป็นสัปปายะ 

ส่วนบุคคลผู้มากไปด้วยการทำกายให้มั่นคง[1] มักพูดติรัจฉานกถา เป็นอสัปปายะ เพราะว่าเขามีแต่จะทำให้เธอเศร้าหมอง ดุจน้ำโคลนทำน้ำใสให้ขุ่นไปฉะนั้น และเพราะอาศัยบุคคลเช่นนั้น สมาบัติย่อมเสื่อม ดุจสมาบัติของภิกษุหนุ่มผู้อยู่ ณ โกฏิบรรพต (วิหาร) เสื่อมเพราะอาศัยบุคคลเช่นนั้นฉะนั้น จะกล่าวอะไรถึงนิมิตเล่า

…………..

หมายเหตุ:

[1] ต้นฉบับแปลมีเชิงอรรถขยายความคำว่า “การทำกายให้มั่นคง” ดังนี้ –

……………………………………………….

มหาฎีกาว่า คือแทนที่จะมุ่งทำความตั้งมั่นทางจิต กลับไปสนใจทำความมั่นคงทางกาย ซึ่งมหาฎีกาให้อรรถาธิบายว่า ขวนขวายแต่ปรนปรือร่างกาย ดังบาลีที่หมายเอาข้อนี้กล่าวไว้ว่า บริโภคจนเต็มท้องตามที่ต้องการแล้วประกอบความสุขในการนอนอยู่เป็นประจำ

……………………………………………….

ที่มา:

วิสุทธิมรรคฉบับบาลี ภาค 1 หน้า 162

สุทธิมรรคแปล ภาค 1 ตอน 2 หน้า 102

…………..

ดูก่อนภราดา!

: ถ้าใจตนยังไม่ได้ดังใจตน

: จะหาคนได้ดังใจที่ไหนมี

#บาลีวันละคำ (3,883)

29-1-66

…………………………….

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

……………………………

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *