อวิหิงสา-ข้อ 8 ในทศพิธราชธรรม (บาลีวันละคำ 1,637)
อวิหิงสา-ข้อ 8 ในทศพิธราชธรรม
………………………………………
“ทศพิธราชธรรม” (ทด-สะ-พิด-ราด-ชะ-ทำ)
บาลีเป็น “ทสวิธราชธมฺม” (ทะ-สะ-วิ-ทะ-รา-ชะ-ทำ-มะ)
ทส = สิบ (จำนวนสิบ)
วิธ = มี-ชนิด, ประกอบด้วย-, มี-อย่าง, มี-ประการ
ราช = พระราชา, พระเจ้าแผ่นดิน, ผู้ปกครองบ้านเมือง
ธมฺม = หลักธรรม, หลักการ, หลักปฏิบัติ
“ทสวิธ” แปลว่า “มีสิบอย่าง” (tenfold)
“ราชธมฺม” แปลว่า “ราชธรรมหรือหลักของการเป็นพระเจ้าแผ่นดิน”, คือ กฎของการปกครอง, แบบแผนของความเป็นกษัตริย์ (“king’s rule,” i. e. rule of governing, norm of kingship)
พจนานุกรมพุทธศาสตร์ ฉบับประมวลธรรม ของท่าน ป.อ.ปยุตฺโต ข้อ [326] ราชธรรม 10 บอกความหมายไว้ว่า –
“ธรรมของพระราชา, กิจวัตรที่พระเจ้าแผ่นดินควรประพฤติ, คุณธรรมของผู้ปกครองบ้านเมือง, ธรรมของนักปกครอง (Rājadhamma: virtues or duties of the king; royal virtues; virtues of a ruler).”
“ทสวิธราชธมฺม – ทศพิธราชธรรม” ประกอบด้วย – 1 ทาน 2 ศีล 3 ปริจจาคะ 4 อาชชวะ 5 มัททวะ 6 ตบะ 7 อักโกธะ 8 อวิหิงสา 9 ขันติ 10 อวิโรธนะ
………………………………………
“อวิหิงสา” เขียนแบบบาลีเป็น “อวิหึสา” (อะ-วิ-หิง-สา) รากศัพท์มาจาก อ + วิหึสา
(๑) “อ” (อะ) คำเดิมคือ “น” (นะ) เป็นศัพท์จำพวกนิบาต แปลว่า ไม่, ไม่ใช่ (no, not)
แปลง น เป็น อ ตามกฎการประสมของ น + กล่าวคือ :
(1) ถ้าคำหลังขึ้นต้นด้วยพยัญชนะ แปลง น เป็น อ– เช่น
: น + มนุสฺส = นมนุสฺส > อมนุสฺส > อมนุษย์
“อมนุษย์” รากเดิมจึงไม่ใช่ อ + มนุษย์ อย่างที่ตาเห็นในภาษาไทย
(2) ถ้าคำหลังขึ้นต้นด้วยสระ (อ อา อิ อี อุ อู เอ โอ) แปลง น เป็น อน–
ในที่นี้ “วิหึสา” ขึ้นต้นด้วยพยัญชนะ จึงต้องแปลง น เป็น อ
(๒) “วิหึสา” อ่านว่า วิ-หิง-สา รากศัพท์มาจาก วิ (คำอุปสรรค = พิเศษ, แจ้ง, ต่าง) + หึสฺ (ธาตุ = เบียดเบียน) + อ ปัจจัย + อา ปัจจัยเครื่องหมายอิตถีลิงค์
: วิ + หึสฺ = วิหึสฺ + อ = วิหึสฺ + อา = วิหึสา แปลตามศัพท์ว่า “เจตนาเป็นเครื่องเบียดเบียนสัตว์” หมายถึง การเบียดเบียน, การทำอันตราย, ความโหดร้าย, การประทุษร้าย (hurting, injuring, cruelty, injury)
สันสกฤตมีคำว่า “หึสา”
สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน บอกไว้ว่า –
“หึสา : (คำนาม) บีฑา, พาธาหรือการให้โทษ ฯลฯ; การฆ่า; injury, mischief, &c.; slaughter or slaying.”
……..
น > อ + วิหึสา = อวิหึสา แปลตามศัพท์ว่า “เจตนาเป็นเครื่องเบียดเบียนสัตว์หามิได้”
“อวิหึสา” หมายถึง การไม่เบียดเบียน, ความปรานี, ความมีมนุษยธรรม, ฉันไมตรี, ความรัก (absence of cruelty, mercy, humanity, friendliness, love)
สันสกฤตมีคำว่า “อหึสา”
สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน บอกไว้ว่า –
“อหึสา : (คำนาม) ความไม่เบียดเบียน; harmlessness, doing injury to nothing.”
“อวิหึสา” ในภาษาไทยใช้ตามบาลีเป็น “อวิหิงสา”
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“อวิหิงสา : (คำนาม) ความไม่เบียดเบียน, เป็นธรรมข้อ ๑ ในทศพิธราชธรรม. (ดู ทศพิธราชธรรม และ ราชธรรม).”
……………
ความหมายเฉพาะของ “อวิหิงสา” ข้อ 8 ในทศพิธราชธรรม :
คัมภีร์ชาตกัฏฐกถา ภาค 8 อันเป็นคัมภีร์ที่อธิบายมหาหังสชาดกซึ่งเป็นที่มาของหลักทศพิธราชธรรม หน้า 283 ไขความคำว่า “อวิหิงสา” ไว้ว่า –
“กรุณาปุพฺพภาโค อวิหึสา”
แปลว่า “ส่วนเบื้องต้นแห่งกรุณา ชื่อว่า อวิหิงสา”
ไขความว่า คุณสมบัติที่ต้องการในที่นี้คือกรุณา ความตั้งใจที่จะเปลื้องทุกข์ คือแก้ปัญหาให้แก่เพื่อนมนุษย์
แต่จะมีกรุณาได้ ต้องเริ่มต้นด้วย “อวิหิงสา” การไม่เบียดเบียน
เมื่อใดใจไม่คิดจะเบียดเบียนใครให้เดือดร้อน เมื่อนั้นกรุณา-ความตั้งใจที่จะเปลื้องทุกข์ให้เขา ก็เริ่มต้นได้
มีภาษิตที่บัณฑิตกล่าวไว้ว่า –
“มหาปุริสภาวสฺส ลกฺขณํ กรุณาสโห”
แปลว่า “อัชฌาสัยที่ทนไม่ได้เพราะกรุณา เป็นลักษณะของมหาบุรุษ”
หมายความว่า เมื่อใจมีอวิหิงสาเป็นมูลราก มีกรุณาเป็นพื้นฐานแล้ว หากได้เห็นความลำบากทุกข์ยากของเพื่อนมนุษย์ มหาบุรุษจะไม่ยอมนิ่งเฉยดูดายเป็นอันขาด
พจนานุกรมพุทธศาสตร์ ฉบับประมวลธรรม ของท่าน ป.อ.ปยุตฺโต ข้อ [326] ขยายความไว้ว่า –
“อวิหิงสา (ความไม่เบียดเบียน คือ ไม่บีบคั้นกดขี่ เช่น เก็บภาษีขูดรีด หรือเกณฑ์แรงงานเกินขนาด ไม่หลงระเริงอำนาจ ขาดความกรุณา หาเหตุเบียดเบียนลงโทษอาชญาแก่ประชาราษฎร์ผู้ใดเพราะอาศัยความอาฆาตเกลียดชัง — Avihiŋsā: non-violence; non-oppression).”
…………..
ดูก่อนภราดา!
: ผู้ปกครองที่ประเสริฐ ประชาชนเทิดไว้เหนือหัว
: ผู้ปกครองที่ชาติชั่ว นั่งทับหัวประชาชน
27-11-59