บาลีวันละคำ

อุบาลีคุณูปมาจารย์ (บาลีวันละคำ 3,936)

อุบาลีคุณูปมาจารย์

ชื่อคุ้นๆ กันมานาน แต่อาจจะลืมนึกความหมาย

อ่านว่า อุ-บา-ลี-คุ-นู-ปะ-มา-จาน

ประกอบด้วยคำว่า อุบาลี + คุณ + อุปมา + อาจารย์

(๑) “อุบาลี

อ่านว่า อุ-บา-ลี เขียนแบบบาลีเป็น “อุปาลิ” (ไทยสระ อี บาลีสระ อิ) อ่านว่า อุ-ปา-ลิ รากศัพท์มาจาก อุป (คำอุปสรรค = เข้าไป, ใกล้, มั่น) + อลฺลฺ (ธาตุ = เปียกชื้น, ชุ่ม) + อิ ปัจจัย, แปลง อลฺลฺ เป็น อาล 

: อุป + อลฺล > อาล = อุปาลฺ + อิ = อุปาลิ แปลตามศัพท์ว่า “ผู้เข้าไปแนบติด” หมายถึง ผู้สนิทชิดเชื้อกับเจ้าศากยะ

คัมภีร์วิสุทธชนวิลาสินี อรรถกถาของคัมภีร์อปทาน ตอนอุปาลิเถราปานวัณณนา อธิบายที่มาของชื่อ “อุบาลี” ไว้ดังนี้ 

…………..

อุปาลิ  นาม  นาเมนาติ  กิญฺจาปิ  โส  มาตุ  นาเมน  มนฺตานิปุตฺตนาโม  อนุรุทฺธาทีหิ  ปน  สห  คนฺตฺวา  ปพฺพชิตตฺตา  ขตฺติยานํ  อุปสมีเป  อลฺลีโน  ยุตฺโต  กายจิตฺเตหิ  สมงฺคีภูโตติ  อุปาลีติ  นาเมน  สตฺถุ  สาวโก  เหสฺสติ  ภวิสฺสตีติ  อตฺโถ  ฯ

แปลความว่า –

คำว่า อุปาลิ  นาม นาเมน มีอธิบายว่า ท่านผู้นั้นชื่อ มันตานีบุตร ตามชื่อมารดาก็จริง แต่โดยที่เป็นผู้สนิทชิดเชื้อทั้งกายและใจกับเจ้าศากยะ เพราะออกบวชพร้อมกับเจ้าอนุรุทธะเป็นต้น จึงจักได้เป็นสาวกของพระศาสดา มีนามว่า “อุบาลี” (แปลว่า “ผู้สนิทชิดเชื้อ”) ดังนี้ 

ที่มา: วิสุทธชนวิลาสินี ภาค 1 หน้า 506

…………..

อุปาลิ” ใช้ในภาษาไทยเป็น “อุบาลี” ( ปลา ในบาลี เป็น ใบไม้ ในภาษาไทย)

พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ ของท่าน ป.อ. ปยุตฺโต ที่คำว่า “อุบาลี” ขยายความไว้ดังนี้ –

…………..

อุบาลี : พระมหาสาวกองค์หนึ่ง เดิมเป็นกัลบกของเจ้าศากยะ ได้ออกบวชที่อนุปิยอัมพวัน พร้อมกับพระอานนท์และพระอนุรุทธะ เป็นต้น มีอุปัชฌาย์ชื่อพระกัปปิตก ครั้นบวชแล้ว เรียนกรรมฐาน จะไปอยู่ป่า พระพุทธเจ้าไม่ทรงอนุญาต ท่านเล่าเรียนและเจริญวิปัสสนาไม่ช้าก็สำเร็จพระอรหัต เป็นผู้มีความรู้ความเข้าใจเชี่ยวชาญในพระวินัยมาก จนพระพุทธเจ้าทรงยกย่องว่าเป็นเอตทัคคะในบรรดาภิกษุผู้ทรงพระวินัย (วินัยธร) พระอุบาลีเป็นกำลังสำคัญในคราวทำปฐมสังคายนา คือเป็นผู้วิสัชนาพระวินัย

…………..

(๒) “คุณ” 

บาลีอ่านว่า คุ-นะ รากศัพท์มาจาก คุณฺ (ธาตุ = ประกาศ, ผูก, มัด, สั่งสม) + (อะ) ปัจจัย 

: คุณฺ + = คุณ (ปุงลิงค์) แปลตามศัพท์ว่า –

(1) “สิ่งที่ประกาศความดีของตน” = เมื่อทำสิ่งนั้น ก็จะประกาศให้รู้ว่าสิ่งที่ทำหรือผู้ทำสิ่งนั้นมีความดี

(2) “สิ่งที่ผูกผลไว้กับตน” = เมื่อทำสิ่งนั้นก็เท่ากับได้ผลของสิ่งนั้นติดพันมาด้วย

(3) “สิ่งอันผู้ต้องการความดีสั่งสม” = ใครต้องการความดีก็ต้องสั่งสมสิ่งนั้น ถ้าไม่สั่งสมก็ไม่มีและไม่ได้สิ่งที่ต้องการ

คุณ” ในบาลีหมายถึง –

(1) เชือก, ด้าย (a string, a cord) 

(2) ส่วนที่ประกอบขึ้น, ส่วนผสม, สิ่งที่ประกอบ (constituent part, ingredient, component, element)

(3) คุณภาพ, คุณความดี, ผลประโยชน์, ผลบุญ  (quality, good quality, advantage, merit)

(4) เมื่อใช้กับ “จำนวน” หรือสิ่งที่นับจำนวน หมายถึง ประการ, ส่วน, เท่า (-fold) 

ตัวอย่างในข้อ (4) ก็อย่างเช่นคำว่า “ทวีคูณ” ซึ่งแปลว่า “สองเท่า” (ทวี < ทฺวิ = สอง, คูณ = –เท่า) “-คูณ” คำนี้แผลงมาจาก “คุณ” นี่เอง

คุณ” ในภาษาไทย ใช้ตามความหมายเดิมในบาลีก็มี ใช้ตามความหมายเฉพาะในภาษาไทยก็มี พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 เก็บคำว่า “คุณ ๑” บอกไว้ดังนี้ –

(1) (คำนาม) ความดีที่มีประจำอยู่ในสิ่งนั้น ๆ เช่น คุณของแผ่นดิน, ความดีที่มีต่อสิ่งต่าง ๆ เช่น ไม่รู้คุณข้าวแดงแกงร้อน

(2) (คำนาม) ความเกื้อกูล เช่น รู้คุณ. (ป., ส.)

(3) (คำนาม) คำที่ใช้เรียกนำหน้าบุคคลเพื่อแสดงความยกย่อง เช่น คุณพ่อ คุณแม่ คุณสมร

(4) (คำนาม) คำนำหน้าชื่อสตรีที่ยังไม่ได้สมรสและได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ตั้งแต่ชั้นจตุตถจุลจอมเกล้าถึงชั้นทุติยจุลจอมเกล้า, คำนำหน้าชื่อสตรีที่ยังไม่ได้สมรสและได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์จุลจอมเกล้าฝ่ายในชั้นทุติยจุลจอมเกล้าวิเศษขึ้นไป

(5) (คำที่ใช้ในไวยากรณ์) คำแต่งชื่อ.

(6) (สรรพนาม) คำใช้แทนผู้ที่เราพูดด้วย เป็นคำสุภาพ, เป็นสรรพนามบุรุษที่ ๒, (ภาษาปาก) คำใช้แทนผู้ที่เราพูดถึงด้วยความสุภาพ, เป็นสรรพนามบุรุษที่ ๓, เช่น คุณอยู่ไหม ช่วยไปเรียนว่ามีคนมาหา.

(๓) “อุปมา” 

อ่านว่า อุ-ปะ-มา รากศัพท์มาจาก อุป (คำอุปสรรค = เข้าไป, ใกล้, มั่น) + มา (ธาตุ = เปรียบ, กะ, ประมาณ) + กฺวิ ปัจจัย, ลบ กฺวิ

: อุป + มา = อุปมา + กฺวิ = อุปมากฺวิ > อุปมา แปลตามศัพท์ว่า “สิ่งเป็นเครื่องเข้าไปเปรียบเทียบ” หมายถึง ความเหมือนหรือคล้ายกัน, อุปมา, การเปรียบเทียบ, ตัวอย่าง (likeness, simile, parable, example) 

(๔) “อาจารย์” 

เป็นรูปคำสันสกฤต บาลีเป็น “อาจริย” อ่านว่า อา-จะ-ริ-ยะ รากศัพท์มาจาก –

(1) อา (คำอุปสรรค = ทั่วไป, ยิ่ง) + จรฺ (ธาตุ = ประพฤติ) + อิย ปัจจัย

: อา + จรฺ = อาจรฺ + อิย = อาจริย แปลตามศัพท์ว่า “ผู้ประพฤติเอื้อเฟื้อเกื้อกูลแก่ศิษย์” 

(2) อา (จากศัพท์ “อาทิ” = เบื้องต้น) + จรฺ (ธาตุ = ศึกษา) + อิย ปัจจัย

: อา + จรฺ = อาจรฺ + อิย = อาจริย แปลตามศัพท์ว่า “ผู้ยังศิษย์ให้ศึกษามาแต่ต้น” 

(3) อา (จากศัพท์ “อาทร” = เอื้อเฟื้อ, เอาใจใส่) + จรฺ (ธาตุ = ประพฤติ) + อิย ปัจจัย

: อา + จรฺ = อาจรฺ + อิย = อาจริย แปลตามศัพท์ว่า “ผู้อันศิษย์พึงประพฤติ คือปรนนิบัติด้วยความเอาใจใส่

(4) อา (แข็งแรง, จริงจัง, ยิ่งใหญ่) + จรฺ (ธาตุ = ประพฤติ) + อิย ปัจจัย

: อา + จรฺ = อาจรฺ + อิย = อาจริย แปลตามศัพท์ว่า “ผู้บำเพ็ญประโยชน์สุขแก่ศิษย์อย่างดียิ่ง

(5) อา (แทนศัพท์ “อภิมุขํ” = ข้างหน้า, ตรงหน้า) + จรฺ (ธาตุ = ประพฤติ) + อิย ปัจจัย

: อา + จรฺ = อาจรฺ + อิย = อาจริย แปลตามศัพท์ว่า “ผู้อันศิษย์พึงประพฤติทำไว้ข้างหน้า” (คือศิษย์พึงดำเนินตาม)

(6) อา (แทนศัพท์ “อาปาณโกฏิกํ” = ตลอดชีวิต) + จรฺ (ธาตุ = ประพฤติ) + อิย ปัจจัย

: อา + จรฺ = อาจรฺ + อิย = อาจริย แปลตามศัพท์ว่า “ผู้อันศิษย์พึงประพฤติ คือพึงปรนนิบัติตลอดชีวิต

อาจริย” แปลทับศัพท์เป็นรูปสันสกฤตว่า “อาจารย์” (a teacher)

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

อาจารย์ : (คำนาม) ผู้สั่งสอนวิชาความรู้; คําที่ใช้เรียกนําหน้าชื่อบุคคลเพื่อแสดงความยกย่องว่ามีความรู้ในทางใดทางหนึ่ง. (ส.; ป. อาจริย).”

การประสมคำ :

อุปาลิ + คุณ = อุปาลิคุณ (อุ-ปา-ลิ-คุ-นะ) แปลว่า “คุณแห่งพระอุบาลี

อุปาลิคุณ + อุปมา = อุปาลิคุณูปม (อุ-ปา-ลิ-คุ-นู-ปะ-มะ) แปลว่า “ผู้มีคุณอุปมาด้วยคุณแห่งพระอุบาลี” (มีคุณเหมือนพระอุบาลี)

อุปาลิคุณูปม + อาจริย = อุปาลิคุณูปมาจริย (อุ-ปา-ลิ-คุ-นู-ปะ-มา-จะ-ริ-ยะ) แปลว่า “อาจารย์ผู้มีคุณอุปมาด้วยคุณแห่งพระอุบาลี

อุปาลิคุณูปมาจริย” ใช้ในภาษาไทยเป็น “อุบาลีคุณูปมาจารย์

ขยายความ :

วิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี ที่คำว่า “พระอุบาลีคุณูปมาจารย์” (อ่านเมื่อวันที่ 23 มกราคม 2566 เวลา 20:30 น.) บอกไว้ดังนี้ –

…………..

พระอุบาลีคุณูปมาจารย์ เป็นสมณศักดิ์ของพระราชาคณะเจ้าคณะรอง ชั้นหิรัญบัฏ ตั้งชื่อตามพระอุบาลี พระอรหันต์สาวกของพระโคตมพุทธเจ้า

ประวัติ

ในสมัยกรุงศรีอยุธยา “พระอุบาฬี” เป็นสมณศักดิ์พระราชาคณะฝ่ายอรัญวาสี อยู่วัดกุฏิ์ ถึงรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ทรงเห็นว่านามพ้องกับพระอรหันตสาวก จึงเปลี่ยนราชทินนามเป็น “พระวินัยรักขิต” ต่อมาพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงเปลี่ยนนามอีกเป็น “พระอุบาฬีคุณูปมาจารย์” พระราชทานสำหรับพระราชาคณะเจ้าคณะอรัญวาสี (เสมอชั้นธรรมพิเศษ) โดยเลื่อนพระธรรมเจดีย์ (ปาน) เจ้าอาวาสวัดพระเชตุพนฯ ขึ้นรับราชทินนามนี้เป็นรูปแรก

ถึงปี พ.ศ. 2482 พระธรรมปิฎก (เผื่อน ติสฺสทตฺโต) ได้เลื่อนสมณศักดิ์เป็นพระอุบาลีคุณูปมาจารย์ เจ้าคณะรองฝ่ายอรัญวาสี ชั้นหิรัญบัฏ เป็นรูปแรก

ฐานานุกรม

สมัยเป็นสมณศักดิ์เจ้าคณะรองอรัญวาสี (เสมอชั้นธรรมพิเศษ) พระอุบาลีคุณูปมาจารย์มีฐานานุศักดิ์ตั้งฐานานุกรมได้ 6 รูป ดังนี้

พระครูปลัดนิพัทธโพธิพงศ์

พระครูวินัยธร

พระครูธรรมธร

พระครูสังฆรักษ์

พระครูสมุห์

พระครูใบฎีกา

เมื่อเลื่อนเป็นเจ้าคณะรองชั้นหิรัญบัฏ มีฐานานุศักดิ์ตั้งฐานานุกรมได้ 8 รูป ดังนี้

พระครูปลัดสุวัฒนจริยคุณ ไพบูลศาสนภารธุราทร บวรสังฆานุนายก

พระครูวินัยธร

พระครูธรรมธร

พระครูพิศาลสรกิจ พระครูคู่สวด

พระครูพิศิษฏ์สรการ พระครูคู่สวด

พระครูสังฆบริรักษ์

พระครูสมุห์

พระครูใบฎีกา

พระครูใบฎีกา

…………..

ดูก่อนภราดา!

: ชื่อดี สำเร็จไปแล้วครึ่งหนึ่ง

: แต่ถ้าล้มเหลวอีกครึ่ง ก็ล้มเหลวทั้งหมด

#บาลีวันละคำ (3,936)

23-3-66 

…………………………….

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

…………………………….

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *