บาลีวันละคำ

ผรณาปีติ (บาลีวันละคำ 3,946)

ผรณาปีติ

1 ในปีติ 5

อ่านว่า ผะ-ระ-นา-ปี-ติ

ประกอบด้วยคำว่า ผรณา + ปีติ

(๑) “ผรณา” 

รูปคำเดิมเป็น “ผรณ” อ่านว่า ผะ-ระ-นะ รากศัพท์มาจาก ผรฺ (ธาตุ = แผ่ไป) + ยุ ปัจจัย, แปลง ยุ เป็น อน (อะ-นะ) แล้วแปลง เป็น

: ผรฺ + ยุ > อน = ผรน > ผรณ แปลตามศัพท์ว่า “การแผ่ไป

ผรณ” ในบาลีใช้ในความหมายดังนี้ –

(1) เป็นคำนาม: การแผ่ไป, การซ่านไป, ความซาบซึ้ง (pervasion, suffusion, thrill) 

(2) เป็นคุณศัพท์: แผ่ไป, ซ่านไป [กับ], เต็มเปี่ยม [ด้วย] (pervading, suffused [with], quite full [of])

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 เก็บคำว่า “ผรณ” ไว้ด้วย บอกไว้ดังนี้ –

ผรณ– : (คำนาม)  การแผ่ไป, การซ่านไป. (ป.).”

ผรณ” ใช้เป็นคำขยาย (วิเสสนะ) ของ “ปีติ” ซึ่งเป็นอิตถีลิงค์ เปลี่ยนรูปเป็น “ผรณา

(๒) “ปีติ

อ่านว่า ปี-ติ (ปี– สระ อี) รากศัพท์มาจาก ปี (ธาตุ = ยินดี, ชอบใจ) + ติ ปัจจัย 

: ปี + ติ = ปีติ (อิตถีลิงค์) แปลตามศัพท์ว่า “กิริยาที่ยินดี

พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “ปีติ” ว่า emotion of joy, delight, zest, exuberance (ความรู้สึกยินดี, ความอิ่มใจ, ความปราโมทย์, ความซาบซ่านหรือดื่มด่ำ)

บาลี “ปีติ” สันสกฤตเป็น “ปฺรีติ

สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน บอกไว้ดังนี้ 

(สะกดตามต้นฉบับ)

ปฺรีติ : (คำนาม) ‘ปรีติ,’ ความยินดี, ความประโมท, ความสุข; ความรัก, ความเสนหา, ความนับถือ, วธูของกามเทพ; นักษัตรโยคที่สองในจำนวนยี่สิบเจ็ด; joy, pleasure, happiness; love, affection, regard; the wife of Kâmadeva or Cupid; the second of the twenty-seven astronomical yogas.

ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า – 

ปีติ : (คำนาม) ความปลาบปลื้มใจ, ความอิ่มใจ. (ป.; ส. ปฺรีติ).”

ผรณา + ปีติ = ผรณาปีติ (ผะ-ระ-นา-ปี-ติ) แปลว่า “ปีติซาบซ่าน” 

ผรณาปีติ” เขียนแบบเดียวกันทั้งบาลีทั้งไทย

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 เก็บคำว่า “ผรณาปีติ” ไว้ด้วย บอกไว้ดังนี้ –

ผรณาปีติ : (คำนาม) ปีติที่เกิดแล้วทําให้รู้สึกซาบซ่านไปทั่วร่างกาย. (ป.).”

ชวนคิด :

คำว่า “ผรณาปีติ” ที่พจนานุกรมฯ เก็บไว้นี้ น่าจะมาจากที่มาเดียวกับคำที่เป็นชุดของ “ปีติ” ทั้ง 5 พจนานุกรมฯ เอา “ผรณาปีติ” มาเก็บไว้คำเดียว แต่ไม่เอาอีก 4 คำมาเก็บไว้ด้วย 

น่าคิดว่า พจนานุกรมฯ มีเหตุผลอย่างไร?

ขยายความ :

ลักษณะของ “ปีติ” ทั้ง 5 พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ ของท่าน ป.อ. ปยุตฺโต ขยายความไว้ดังนี้ –

…………..

ปีติ : ความอิ่มใจ, ความดื่มด่ำในใจ มี ๕ คือ 

๑. ขุททกาปีติ ปีติเล็กน้อยพอขนชันน้ำตาไหล 

๒. ขณิกาปีติ ปีติชั่วขณะรู้สึกแปลบๆ ดุจฟ้าแลบ 

๓. โอกกันติกาปีติ ปีติเป็นระลอกรู้สึกซู่ลงมาๆ ดุจคลื่นซัดฝั่ง 

๔. อุพเพคาปีติ ปีติโลดลอย ให้ใจฟู ตัวเบาหรืออุทานออกมา 

๕. ผรณาปีติ ปีติซาบซ่าน เอิบอาบไปทั่วสรรพางค์ เป็นของประกอบกับสมาธิ (ข้อ ๔ ในโพชฌงค์ ๗)

…………..

พจนานุกรมพุทธศาสตร์ ฉบับประมวลธรรม ของท่าน ป.อ.ปยุตฺโต ข้อ [226] ประมวลความไว้ทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษ ดังนี้ –

ปีติ 5 (ความอิ่มใจ, ความดื่มด่ำ — joy; interest; zest; rapture)

       1. ขุททกาปีติ (ปีติเล็กน้อย พอขนชูชันน้ำตาไหล — minor rapture; lesser thrill)

       2. ขณิกาปีติ (ปีติชั่วขณะ ทำให้รู้สึกแปลบๆ เป็นขณะๆ ดุจฟ้าแลบ — momentary or instantaneous joy)

       3. โอกกันติกาปีติ (ปีติเป็นระลอกหรือปีติเป็นพักๆ ให้รู้สึกซู่ลงมาๆ ในกาย ดุจคลื่นซัดต้องฝั่ง — showering joy; flood of joy)

       4. อุพเพคาปีติ หรือ อุพเพงคาปีติ (ปีติโลดลอย เป็นอย่างแรงให้รู้สึกใจฟูแสดงอาการหรือทำการบางอย่างโดยมิได้ตั้งใจ เช่น เปล่งอุทาน เป็นต้น หรือให้รู้สึกตัวเบา ลอยขึ้นไปในอากาศ — uplifting joy)

       5. ผรณาปีติ (ปีติซาบซ่าน ให้รู้สึกเย็นซ่านแผ่เอิบอาบไปทั่วสรรพางค์ ปีติที่ประกอบกับสมาธิ ท่านมุ่งเอาข้อนี้ — suffusing joy; pervading rapture)

โปรดเปรียบเทียบกับความเข้าใจของฝรั่งที่ศึกษาบาลีแล้วขยายความไว้ดังนี้ –

1 khuddikā pīti : slight sense of interest (ความรู้สึกตื่นเต้นนิดๆ)

2 khaṇikā pīti : momentary joy (ความดีใจชั่วครู่)

3 okkantikā pīti : oscillating interest, flood of joy (ความตื่นเต้นที่แกว่งไปมา หรือขึ้นๆ ลงๆ หรือความดีใจที่ประดังขึ้นมา)

4 ubbegā pīti : ecstasy, thrilling emotion (ความซาบซ่านหรือความปลาบปลื้มอย่างสุดขีด)

5 pharaṇā pīti : interest amounting to rapture, suffusing joy (ความตื่นเต้นถึงขีดลืมตัวหรือหมดสติ)

…………..

เฉพาะ “ผรณาปีติ” คัมภีร์อรรถกถาขยายความไว้ว่า –

…………..

ผรณาปีติ  อติพลวตี  โหติ  ฯ  ตาย  หิ  อุปฺปนฺนาย  สกลสรีรํ  ผริตฺวา  ปูริตวุฏฺฐิ  วิย  มหตา  อุทโกเฆน  ปกฺขนฺทปพฺพตกุจฺฉิ  วิย  จ  อนุปริผุฏํ  โหติ  ฯ

ผรณาปีติเป็นปีติมีกำลังกล้า เมื่อเกิดขึ้นจะแผ่ซ่านเอิบอาบไปทั่วร่างกาย ดุจเต็มไปด้วยเม็ดฝน และดุจเวิ้งเขาที่ห้วงน้ำใหญ่ไหลบ่ามาท่วมฉะนั้น

ที่มา :

– สัทฺธัมมปัชโชติกา (อรรถกถามหานิทเทส) หน้า 180-181

– สัทธัมมปกาสินี (อรรถกถาปฏิสัมภิทามรรค) ภาค 1 หน้า 305

– อัฏฐสาลินี (อรรถกถาธัมมสังคณี) หน้า 255

…………..

ดูก่อนภราดา!

: ซาบซึ้งอยู่ได้นาน

: ซาบซ่านอยู่ได้น้อย

#บาลีวันละคำ (3,946)

2-4-66 

…………………………….

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

…………………………….

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *