โฆสัปปมาณิกา (บาลีวันละคำ 3,948)
โฆสัปปมาณิกา
1 ในปมาณิกา 4
…………..
เหตุจูงใจคนให้ศรัทธาเลื่อมใสมี 4 อย่างคือ –
(1) รูปร่างหน้าตา ผู้ศรัทธาเลื่อมใสกลุ่มนี้เรียกว่า “รูปัปปมาณิกา”
(2) เสียง ผู้ศรัทธาเลื่อมใสกลุ่มนี้เรียกว่า “โฆสัปปมาณิกา”
(3) ความเคร่ง ผู้ศรัทธาเลื่อมใสกลุ่มนี้เรียกว่า “ลูขัปปมาณิกา”
(4) ธรรม ผู้ศรัทธาเลื่อมใสกลุ่มนี้เรียกว่า “ธัมมัปปมาณิกา”
…………..
“โฆสัปปมาณิกา”
อ่านว่า โค-สับ-ปะ-มา-นิ-กา ประกอบด้วยคำว่า โฆส + ปมาณิกา
(๑) “โฆส”
บาลีอ่านว่า โค-สะ รากศัพท์มาจาก ฆุสฺ (ธาตุ = ส่งเสียง) + ณ ปัจจัย, ลบ ณ, แผลง อุ ที่ ฆุ-(สฺ) เป็น โอ (ฆุส > โฆส)
: ฆุสฺ + ณ = ฆุสณ > ฆุส > โฆส (ปุงลิงค์) แปลตามศัพท์ว่า “การส่งเสียง”
“โฆส” ในบาลีใช้ในความหมายดังนี้ –
(1) เสียงตะโกน, เสียงดัง, การเปล่งเสียง (shout, sound, utterance)
(2) การตะโกน, การครวญคราง, การร้องคราง (shouting, howling, wailing)
ข้อสังเกต :
คำที่หมายถึง “เสียง” ในภาษาบาลีที่ควรนำมาเทียบเคียงความหมาย เท่าที่ระลึกได้ในขณะนี้ คือ “สทฺท” “โฆส” และ “สร”
“สทฺท” หมายถึง (1) เสียง, สำเนียง (sound, noise) (2) เสียงคน (voice) (3) คำ (word)
“โฆส” ดูข้างต้น
“สร” หมายถึง เสียง, เสียงสูงต่ำ, สำเนียง, การออกเสียง (sound, voice, intonation, accent)
ถ้าแยกความแตกต่าง ตามความเห็นของผู้เขียนบาลีวันละคำ น่าจะเป็นดังนี้ –
“สทฺท” หมายถึง เสียงที่เกิดตามธรรมชาติ คือเสียงทั่วไปที่หูได้ยิน ไม่จำกัดว่าจะรู้ความหมายหรือไม่ หรือเป็นเสียงชนิดไหน เช่นในคำที่กล่าวถึงอายตนะภายนอก คือ รูป เสียง กลิ่น รสเป็นต้น “เสียง” ในที่นั้นใช้คำว่า “สทฺโท” ไม่ใช้คำว่า “โฆโส” หรือ “สโร”
“โฆส” หมายถึง เสียงที่คนเปล่งออกมาเพื่อบอกเล่าเรื่องราว เสียงประกาศ เสียงโฆษณา ฟังแล้วรู้ความหมาย รู้เรื่องราว บางทีกินความไปถึงความไพเราะด้วย เช่นในคำว่า “โฆสัปปมาณิกา” นี้ ไม่ใช้คำว่า “สัททัปปมาณิกา” หรือ “สรัปปมาณิกา”
“สร” หมายถึง กระแสเสียง มุ่งถึงความไพเราะของเสียง เช่นในคำว่า “สรภัญญะ” คือการสวดเพื่อฟังความไพเราะของเสียง ไม่ใช้คำว่า “สัททภัญญะ” หรือ “โฆสภัญญะ”
พึงทราบว่า นี่เป็นเพียงข้อสังเกตของผู้เขียนบาลีวันละคำ อาจไม่เป็นไปตามนี้เสมอไปก็ได้
(๒) “ปมาณิกา”
รูปคำเดิมเป็น “ปมาณิก” อ่านว่า ปะ-มา-นิ-กะ ประกอบขึ้นจาก ปมาณ + อิก ปัจจัย
(ก) “ปมาณ” บาลีอ่านว่า ปะ-มา-นะ รากศัพท์มาจาก ป (คำอุปสรรค = ทั่วไป, ข้างหน้า, ก่อน, ออก) + มา (ธาตุ = นับ) + ยุ ปัจจัย, แปลง ยุ เป็น อน (อะ-นะ) แล้วแปลง น เป็น ณ
: ป + มา = ปมา + ยุ > อน = ปมาน > ปมาณ (นปุงสกลิงค์) แปลตามศัพท์ว่า “การนับ” “วิธีอันเขานับ”
“ปมาณ” ในบาลีใช้ในความหมายดังนี้ –
(1) เครื่องวัด, ขนาด, จำนวน (measure, size, amount)
(2) เครื่องวัดเวลา, เข็มทิศ, ความยาว, ระยะเวลา (measure of time, compass, length, duration)
(3) อายุ = “โลกิยลักษณะ” (age = “worldly characteristic”)
(4) ขอบเขต (limit)
(5) มาตรฐาน, บทนิยาม, คำบรรยายลักษณะ, มิติ (standard, definition, description, dimension)
บาลี “ปมาณ” สันสกฤตเป็น “ปฺรมาณ”
สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน บอกไว้ดังนี้ –
(สะกดตามต้นฉบับ)
“ปฺรมาณ : (คำนาม) ‘ประมาณ,’ มูล, เหตุ; เขตต์; พิสูจน์, หลักฐาน, อธิการหรือศักติ์; ปริมาณ, กำหนดมากน้อย; เวทหรือธรรมศาสตร์; ผู้กล่าวความจริง; นามพระวิษณุ; cause, motive; limit; proof, testimony, authority; measure, quantity; a scripture or work of sacred authority; speaker of the truth; a title of Vishṇu; – ค. นิตย์, นิรันดร; มุขย์, มหัตหรือมหันต์; eternal; principal, capital.”
บาลี “ปมาณ” ในภาษาไทยใช้เป็น “ประมาณ” พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“ประมาณ : (คำกริยา) กะหรือคะเนให้ใกล้เคียงจำนวนจริงหรือให้พอเหมาะพอควร เช่น เขาประมาณราคาค่าก่อสร้างบ้านไว้ ๓ ล้านบาท. (คำวิเศษณ์) ราว ๆ เช่น ประมาณ ๓-๔ เดือน. (ส. ปฺรมาณ; ป. ปมาณ).”
พจนานุกรมฯ ไม่ได้เก็บคำว่า “ปมาณ” ไว้ เป็นอันว่าคำนี้ภาษาไทยใช้อิงสันสกฤตเป็น “ประมาณ”
ในที่นี้ใช้ตามรูปบาลีเป็น “ปมาณ”
(ข) ปมาณ + อิก ปัจจัย
: ปมาณ + อิก = ปมาณิก (ปะ-มา-นิ-กะ) แปลตามศัพท์ว่า “ผู้ถือเอา-เป็นประมาณ” = ผู้ยึดถือเอาสิ่งใดสิ่งหนึ่งเป็นเกณฑ์
โฆส + ปมาณิก ซ้อน ปฺ ระหว่างศัพท์
: โฆส + ปฺ + ปมาณิก = โฆสปฺปมาณิก (โค-สับ-ปะ-มา-นิ-กะ) แปลตามศัพท์ว่า “ผู้ถือเอาเสียงเป็นประมาณ”
คำว่า “โฆส – เสียง” ในที่นี้มีความหมาย 2 นัย
– นัยหนึ่งหมายถึง คำเล่าลือ หรือเสียงยกย่องสรรเสริญ
– นัยหนึ่งหมายถึง ความไพเราะของเสียง พูดเพราะ พูดจาน่าฟัง
“โฆสปฺปมาณิก” ใช้เป็นคำขยาย (วิเสสนะ) ของ “ปุคฺคลา” ซึ่งเป็นปุงลิงค์ แจกด้วยปฐมาวิภัตติ พหุวจนะ จึงเปลี่ยนรูปเป็น “โฆสปฺปมาณิกา”
“โฆสปฺปมาณิกา” เขียนแบบไทยเป็น “โฆสัปปมาณิกา” อ่านว่า โค-สับ-ปะ-มา-นิ-กา
ขยายความ :
พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ ของท่าน ป.อ. ปยุตฺโต ที่คำว่า “โฆสัปปมาณิกา” บอกไว้ดังนี้ –
…………..
โฆสัปปมาณิกา : คนพวกที่ถือเสียงเป็นประมาณ, คนที่นิยมเสียง เกิดความเลื่อมใสศรัทธาเพราะเสียง ชอบฟังเสียงไพเราะ เช่น เสียงสวดสรภัญญะ เทศน์มหาชาติเป็นทำนอง เสียงประโคมเป็นต้น; อีกนัยหนึ่งว่า ผู้ถือชื่อเสียงกิตติศัพท์ หรือความโด่งดังเป็นประมาณ เห็นใครมีชื่อเสียงก็ตื่นไปตาม
…………..
พจนานุกรมพุทธศาสตร์ ฉบับประมวลธรรม ของท่าน ป.อ. ปยุตฺโต ข้อ [158] ประมาณ หรือ ปมาณิก 4 (บุคคลที่ถือประมาณต่างๆ กัน, คนในโลกผู้ถือเอาคุณสมบัติต่างๆ กัน เป็นเครื่องวัดในการที่จะเกิดความเชื่อความเลื่อมใส — Pamāṇa, Pamāṇika: those who measure, judge or take standard) ข้อ 2 ใช้คำว่า “โฆษประมาณ” อธิบายไว้ดังนี้ –
…………..
2. โฆษประมาณ (ผู้ถือประมาณในเสียง, บุคคลที่ได้ยินได้ฟังเสียงสรรเสริญเกียรติคุณหรือเสียงพูดจาที่ไพเราะ จึงชอบใจเลื่อมใสน้อมใจที่จะเชื่อถือ — Ghosa-pamāṇa: one who measures by voice or reputation; one whose faith depends on sweet voice or good reputation)
…………
…………
ในชั้นอรรถกถา นิยมเรียกบุคคล 4 ประเภทนี้ว่า รูปัปปมาณิกา โฆสัปปมาณิกา ลูขัปปมาณิกา และ ธัมมัปปมาณิกา ตามลำดับ
…………..
แถม :
เหตุจูงใจคนให้ศรัทธาเลื่อมใสทั้ง 4 อย่าง คนเราเลื่อมใสเพราะเหตุข้อไหนมากกว่ากัน ท่านแสดงอัตราส่วนไว้ดังนี้ –
เลื่อมใสรูปร่างหน้าตา 2 ใน 3
เลื่อมใสเสียง 4 ใน 5
เลื่อมใสความเคร่ง 9 ใน 10
เลื่อมใสธรรม 1 ใน 100,000
ข้อความตามต้นฉบับที่ท่านแสดงไว้เป็นดังนี้ –
…………..
สพฺพสตฺเต จ ตโย โกฏฺฐาเส กตฺวา เทฺว โกฏฺฐาสา รูปปฺปมาณา เอโก น รูปปฺปมาโณ ฯ
แบ่งสรรพสัตว์ออกเป็นสามส่วน สองส่วนถือรูปเป็นประมาณ ส่วนหนึ่งไม่ถือรูปเป็นประมาณ
ปญฺจ โกฏฺฐาเส กตฺวา จตฺตาโร โกฏฺฐาสา โฆสปฺปมาณา เอโก น โฆสปฺปมาโณ ฯ
แบ่งสรรพสัตว์ออกเป็นห้าส่วน สี่ส่วนถือเสียงเป็นประมาณ ส่วนหนึ่งไม่ถือเสียงเป็นประมาณ
ทส โกฏฺฐาเส กตฺวา นว โกฏฺฐาสา ลูขปฺปมาณา เอโก น ลูขปฺปมาโณ ฯ
แบ่งสรรพสัตว์ออกเป็น ๑๐ ส่วน เก้าส่วนถือความปอนเป็นประมาณ ส่วนหนึ่งไม่ถือความปอนเป็นประมาณ
สตสหสฺสโกฏฺฐาเส ปน กตฺวา เอโก โกฏฺฐาโสว ธมฺมปฺปมาโณ เสสา น ธมฺมปฺปมาณาติ เวทิตพฺพา ฯ
แบ่งสรรพสัตว์ออกเป็นแสนส่วน ส่วนเดียวเท่านั้นถือธรรมเป็นประมาณ ที่เหลือพึงทราบว่าไม่ถือธรรมเป็นประมาณ
ที่มา: มโนรถปูรณี ภาค 2 หน้า 526 (รูปสุตตวัณณนา)
…………..
ดูก่อนภราดา!
: เสียงที่ได้จากการหา
: ไม่มีค่าเท่าเสียงที่เกิดจากการทำความดีสม่ำเสมอ
#บาลีวันละคำ (3,948)
4-4-66
…………………………….
…………………………….