บาลีวันละคำ

 ติรัจฉานกถา (บาลีวันละคำ 3,961)

ติรัจฉานกถา

คุยกันด้วยเรื่องขวางทางบรรลุธรรม

อ่านว่า ติ-รัด-ฉา-นะ-กะ-ถา

ประกอบด้วยคำว่า ติรัจฉาน + กถา

(๑) “ติรัจฉาน

เขียนแบบบาลีเป็น “ติรจฺฉาน” อ่านว่า ติ-รัด-ฉา-นะ รากศัพท์มาจาก ติรจฺฉ + ยุ ปัจจัย 

(ก) “ติรจฺฉ” รากศัพท์มาจาก ติริย (ขวาง) + อญฺช (ธาตุ = ไป, เป็นไป) + (อะ) ปัจจัย, แปลง ติริย เป็น ติร, อญฺช เป็น จฺฉ

: ติริย > ติร + อญฺช + = ติรญฺช > ติรจฺฉ แปลตามศัพท์ว่า “ผู้ไปขวาง” 

(ข) ติรจฺฉ + ยุ ปัจจัย, แปลง ยุ เป็น อน (อะ-นะ), ทีฆะ อะ ที่ -(น) เป็น อา

: ติรจฺฉ + ยุ > อน = ติรจฺฉน > ติรจฺฉาน แปลเท่าศัพท์เดิม คือ “ผู้ไปขวาง” หมายความว่า เจริญเติบโตโดยทางขวางซึ่งตรงกันข้ามกับมนุษย์ที่เติบโตไปทางสูง

ติรจฺฉาน” (ปุงลิงค์) หมายถึง สัตว์ทั่วไปที่ไม่ใช่มนุษย์ (an animal)

ในภาษาไทย ใช้เป็น “ดิรัจฉาน” (ดิ– ด เด็ก) และ “ติรัจฉาน” (ติ– ต เต่า) พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

(1) ดิรัจฉาน : (คำนาม) สัตว์เว้นจากมนุษย์ เช่นหมู หมา วัว ควาย, ใช้ว่า เดรัจฉาน หรือ เดียรัจฉาน ก็มี. (ป. ติรจฺฉาน ว่า ขวาง, ติรจฺฉานคต ว่า สัตว์มีร่างกายเจริญโดยขวาง).

(2) ติรัจฉาน : (คำนาม) ดิรัจฉาน, สัตว์เดรัจฉาน. (ป. ติรจฺฉานคต ว่า สัตว์มีร่างกายเจริญในแนวนอนหรือแนวราบ คือให้อกขนานไปกับพื้น).

(๒) “กถา” 

อ่านว่า กะ-ถา รากศัพท์มาจาก กถฺ (ธาตุ = กล่าว) + (อะ) ปัจจัย + อา ปัจจัยเครื่องหมายอิตถีลิงค์

: กถฺ + = กถ + อา = กถา แปลตามศัพท์ว่า “เรื่องอันท่านกล่าวไว้

กถา” ในภาษาบาลีใช้ในความหมายดังนี้ –

(1) การพูด, การคุย, การสนทนา (talk, talking, conversation)

(2) ถ้อยคำ, เทศนา, ปาฐกถา (speech, sermon, discourse, lecture)

(3) เรื่องยาวๆ (a longer story)

(4) คำพูด, ถ้อยคำ, คำแนะนำ (word, words, advice)

(5) การอธิบาย, การขยายเนื้อความ (explanation, exposition)

(6) การสนทนาหรืออภิปราย (discussion)

ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า – 

กถา : (คำนาม) ถ้อยคํา, เรื่อง, คําอธิบาย, คํากล่าว. (ป.).”

ติรจฺฉาน + กถา = ติรจฺฉานกถา (ติ-รัด-ฉา-นะ-กะ-ถา) ใช้ในภาษาไทยเป็น “ติรัจฉานกถา” แปลทับศัพท์ว่า “ติรัจฉานกถา” แปลโดยประสงค์ว่า “เรื่องราวที่ขวางทางบรรลุธรรม

ขยายความ :

พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ ของท่าน ป.อ. ปยุตฺโต อธิบายคำว่า “ติรัจฉานกถา” ไว้ดังนี้ (ปรับย่อหน้าวรรคตอนเพื่อให้อ่านง่าย)

…………..

ติรัจฉานกถา : ถ้อยคำอันขวางต่อทางนิพพาน, เรื่องราวที่ภิกษุไม่ควรนำมาเป็นข้อถกเถียงสนทนา โดยไม่เกี่ยวกับการพิจารณาสั่งสอนแนะนำทางธรรมอันทำให้คิดฟุ้งเฟ้อและพากันหลงเพลินเสียเวลา เสียกิจหน้าที่ที่พึงปฏิบัติตามธรรม เช่น ราชกถา สนทนาเรื่องพระราชา ว่าราชาพระองค์นั้นโปรดของอย่างนั้น พระองค์นี้โปรดของอย่างนี้ โจรกถา สนทนาเรื่องโจร ว่าโจรหมู่นั้นปล้นที่นั่นได้เท่านั้นๆ ปล้นที่นี่ได้เท่านี้ๆ เป็นต้น; 

ทรงแสดงไว้ในที่หลายแห่ง ได้แก่ 

ราชกถา 

โจรกถา 

มหามัตตกถา (เรื่องมหาอำมาตย์) 

เสนากถา (เรื่องกองทัพ) 

ภยกถา 

ยุทธกถา 

อันนกถา (เรื่องข้าว) 

ปานกถา (เรื่องน้ำ) 

วัตถกถา (เรื่องผ้า) 

ยานกถา 

สยนกถา (เรื่องที่นอน) 

มาลากถา 

คันธกถา 

ญาติกถา 

คามกถา (เรื่องบ้าน) 

นิคมกถา (เรื่องนิคม คือเมืองย่อย) 

นครกถา 

ชนปทกถา 

อิตถีกถา (เรื่องสตรี) 

สูรกถา (เรื่องคนกล้าหาญ) 

วิสิขากถา (เรื่องตรอก) 

กุมภัฏฺฐานกถา (เรื่องท่าน้ำ) 

ปุพพเปตกถา (เรื่องคนที่ล่วงลับ) 

นานัตตกถา (เรื่องปลีกย่อยหลากหลาย) 

โลกักขายิกา (คำเล่าขานเรื่องโลก เช่นว่าโลกนี้ใครสร้าง) 

สมุททักขายิกา (คำเล่าขานเรื่องทะเล เช่นที่ว่าขุดขึ้นมาโดยเทพเจ้าชื่อสาคร) 

อิติภวาภวกถา (เรื่องที่ถกเถียงกันวุ่นวายไปว่าเป็นอย่างนั้น-ไม่เป็นอย่างนี้ หรือว่าเป็นอย่างนี้-ไม่เป็นอย่างนั้น สุดโต่งกันไป เช่น ว่าเที่ยงแท้-ว่าขาดสูญ ว่าได้-ว่าเสีย ว่าให้ปรนเปรอตามใจอยาก-ว่าให้กดบีบเครียดเคร่ง), 

ทั้งหมดนี้นับได้ ๒๗ อย่าง แต่คัมภีร์นิทเทสระบุจำนวนไว้ด้วยว่า ๓๒ อย่าง (เช่น ขุ.ม.๒๙/๗๓๓/๔๔๕) 

อรรถกถา (เช่น ม.อ.๓/๒๐๒/๑๖๕) บอกวิธีนับว่า ข้อสุดท้าย คืออิติภวาภวกถา แยกเป็น ๖ ข้อย่อย จึงเป็น ๓๒ (แต่ในมหานิทเทส ฉบับอักษรไทย มีปุริสกถาต่อจากอิตถีกถา รวมเป็น ๒๘ เมื่อแยกย่อยอย่างนี้ ก็เกินไป กลายเป็น ๓๓) 

ยิ่งกว่านั้น ในคัมภีร์ชั้นฎีกาบางแห่ง (วินย.ฏี.๓/๒๖๗/๓๗๙) อธิบายว่า อีกนัยหนึ่ง คำว่า “อิติ” มีความหมายว่ารวมทั้งเรื่องอื่นๆ ทำนองนี้ด้วย เช่นรวมเรื่อง ป่า เขา แม่น้ำ และเกาะ เข้าไป ก็เป็น ๓๖ อย่าง; 

ใน องฺ.ทสก.๒๔/๖๙/๑๓๘ เมื่อตรัสสอนภิกษุทั้งหลายว่าไม่ควรสนทนาติรัจฉานกถาเหล่านี้แล้ว ก็ได้ทรงแสดงกถาวัตถุ ๑๐ ว่าเป็นเรื่องที่ควรสนทนากันสำหรับภิกษุทั้งหลาย.

…………..

ดูก่อนภราดา!

: ควรรู้ทุกเรื่องที่พูด

: แต่ไม่ควรพูดทุกเรื่องที่รู้

#บาลีวันละคำ (3,961)

17-4-66 

…………………………….

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

…………………………….

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *