ปฏิสังขา โยนิโส (บาลีวันละคำ 3,962)
ปฏิสังขา โยนิโส
ถ้าไม่ได้เรียน ก็ต้องจำเป็นคำๆ
อ่านว่า ปะ-ติ-สัง-ขา / โย-นิ-โส
“ปฏิสังขา โยนิโส” เป็นคำบาลี 2 คำ คือ “ปฏิสังขา” คำหนึ่ง “โยนิโส” อีกคำหนึ่ง
(๑) “ปฏิสังขา”
เขียนแบบบาลีเป็น “ปฏิสงฺขา” อ่านว่า ปะ-ติ-สัง-ขา เป็นคำกริยากิตก์ ( = กิริยากิตก์, ภาษาบาลีมีกริยาอีกชนิดหนึ่งคู่กับกิริยิกิตก์ คือ กิริยาอาขยาต) ไวยากรณ์บาลีเรียกว่า “ตฺวา ปัจจัย” หรือ “ตูนาทิปัจจัย” คำกริยาที่ลงปัจจัยตัวนี้โดยปกติแปลว่า “-แล้ว” และมีข้อความต่อไปอีก
“ปฏิสงฺขา” แปลว่า “พิจารณาแล้ว” ต่อจากนี้ก็เป็นการกระทำอย่างอื่นต่อไป เช่น “พิจารณาแล้วจึงฉันอาหาร”
เทียบกับภาษาไทยว่า “อาบน้ำแล้วจึงกินข้าว”
“พิจารณาแล้ว” เท่ากับ “อาบน้ำแล้ว” และทำกริยา “กินข้าว” ต่อไป
พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “ปฏิสงฺขา” เป็นกริยาวิเศษณ์ (adverb) ว่า carefully, intently, with discrimination (อย่างระมัดระวัง, โดยตั้งอกตั้งใจ, โดยพินิจพิเคราะห์)
(๒) “โยนิโส”
อ่านว่า โย-นิ-โส ประกอบด้วย โยนิ + โส ปัจจัย (โส ปัจจัยแปลว่าโดย-, ตาม-)
“โยนิ” (โย-นิ) แปลได้หลาย คือ :
(1) มดลูก (the womb)
(2) กำเนิด, ช่องคลอด, โยนี, อาณาจักรแห่งความเป็นอยู่; ธรรมชาติ, บ่อเกิด (origin, way of birth, place of birth, realm of existence; nature, matrix)
(3) ความละเอียดหรือปรีชา, ความรู้, ญาณ (thoroughness, knowledge, insight)
โยนิ + โส = โยนิโส แปลตามศัพท์ว่า “โดยต้นกำเนิด” (down to its origin or foundation) หมายถึง ละเอียด, ทั่วถึง, มีระเบียบ, อย่างฉลาดหรือสุขุม, อย่างถูกต้องหรือสมควร, โดยแยบคาย (thoroughly, orderly, wisely, properly, judiciously)
“โยนิโส” เป็นคำเดียวกับที่ปรากฏในคำว่า “โยนิโสมนสิการ” ที่เราน่าจะคุ้นๆ กันอยู่
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 เก็บคำว่า “โยนิโส” และ “โยนิโสมนสิการ” ไว้ด้วย บอกไว้ดังนี้ –
(1) โยนิโส : (คำวิเศษณ์) โดยแยบคาย, โดยถ่องแท้; ตั้งแต่ต้น; โดยตลอด. (ป.).
(2) โยนิโสมนสิการ : (คำนาม): การพิจารณาโดยแยบคาย. (คำกริยา) เข้าใจตั้งแต่ต้น, เข้าใจโดยตลอด. (ป.).
ขยายความ :
“ปฏิสังขา โยนิโส” เป็นคำขึ้นต้นบท “ตังขณิกปัจจเวกขณะ” (ตัง-ขะ-นิ-กะ-ปัด-จะ-เวก-ขะ-นะ) ที่พระสงฆ์จะต้องสวดพิจารณาก่อนที่จะบริโภคใช้สอยปัจจัยสี่
“ตังขณิกปัจจเวกขณะ” มี 4 ท่อน คำขึ้นต้นประโยคแต่ละท่อนเป็นดังนี้ –
(1) “ปฏิสงฺขา โยนิโส ปิณฺฑปาตํ ปฏิเสวามิ”
= เราพิจารณาโดยแยบคายแล้ว จึงบริโภคอาหาร
(2) “ปฏิสงฺขา โยนิโส จีวรํ ปฏิเสวามิ”
= เราพิจารณาโดยแยบคายแล้ว จึงนุ่งห่มจีวร
(3) “ปฏิสงฺขา โยนิโส เสนาสนํ ปฏิเสวามิ”
= เราพิจารณาโดยแยบคายแล้ว จึงพักอาศัยใช้สอยเสนาสนะ
(4) “ปฏิสงฺขา โยนิโส คิลานปจฺจยเภสชฺชปริกฺขารํ ปฏิเสวามิ”
= เราพิจารณาโดยแยบคายแล้ว จึงฉันจึงใช้ยารักษาโรค
อภิปราย :
คำว่า “ปฏิสงฺขา โยนิโส” นี้ มักพูดติดปากเป็น “ปฏิสังขาโย” คือพูดคำว่า “ปฏิสงฺขา” เต็มคำ ส่วน “โยนิโส” ตัดมาเฉพาะพยางค์แรกคือ “โย” เอามารวมกันเป็น “ปฏิสังขาโย”
การพูดแบบตัดคำหรือฉีกคำแบบนี้ยังมีอีกหลายคำ เช่น :
“สัพพะโร” ตัดมาจาก “สพฺพโรควินิมุตฺโต”
“ภะวะตุสัพ” ตัดมาจาก “ภวตุ สพฺพมงฺคลํ”
“นัจจะคี” ตัดมาจาก “นจฺจคีตวาทิตวิสูกทสฺสนา”
“ปัจจัตตังเว” ตัดมาจาก “ปจฺจตฺตํ เวทิตพฺโพ”
ปัญหาที่เกิดขึ้นก็คือ เมื่อพูดฉีกคำจนติดปากก็เกิดความเข้าใจไปว่า “ปฏิสังขาโย” เป็นคำเดียวคำหนึ่ง ไม่ได้คิดว่าคำเดิมที่ถูกต้องคือ “ปฏิสงฺขา” ไม่ใช่ “ปฏิสงฺขาโย”
แค่พูดก็ยังพอทำเนา แต่ครั้นเขียนเป็นลายลักษณ์อักษรก็เลยพลอยแยกคำผิดไปตามคำพูดติดปาก
โปรดทราบว่า ภาษาบาลีนั้นเขียนแยกเป็นคำๆ แบบเดียวกับภาษาอังกฤษ ตัวอย่างคำง่ายๆ เช่น the sun
the sun = ดวงอาทิตย์ the ต้องเขียนแยกกับ sun
ถ้าเขียนติดกันเป็น thesun ก็กลายเป็นคำอื่น ไม่ใช่ “ดวงอาทิตย์”
คำที่ถูกต้อง “ปฏิสงฺขา โยนิโส ปิณฺฑปาตํ ปฏิเสวามิ”
เขียนเป็น “ปฏิสงฺขาโย นิโสปิณฺฑปาตํ ปฏิเสวามิ”
จะเห็นได้ว่า พอแยกคำผิด รูปคำก็วิปริต ความหมายก็วิปลาส
เท่าที่สังเกต เวลานี้เรากำลังจะไม่เห็นโทษของการเขียนผิด พากันคิดว่าเขียนผิดก็ไม่เห็นจะเป็นไร
ภาษาไทยของเรานี่เอง ใครนึกจะสะกดอย่างไร ก็พากันเขียนตามสะดวกมือ ผิดถูกไม่มีใครสนใจ เขียนผิดโต้งๆ ก็ไม่มีใครสนใจที่จะทักท้วงเตือนติงกัน เห็นเป็นเรื่องไม่สำคัญไปหมด
หากจะมีใครทักท้วงขึ้นมา คนทักท้วงจะถูกรุมประณามว่า “ดีแต่จับผิดชาวบ้าน” กลายเป็นคนผิดไปเสียอีก
ถามว่า แล้วจะแก้ไขกันอย่างไร
ตอบว่า ก็ต้องปลูกฝังให้เห็นความสำคัญของภาษา ต้องบอกกันให้ตระหนักสำนึกว่า ภาษาเป็นสมบัติวัฒนธรรมของชาติ
ตอบง่าย แต่ทำยากมาก เพราะอุปสรรคที่ซ้อนขวางอยู่ก็คือ ไม่มีใครคิดที่จะแก้ไขอะไร
เพราะฉะนั้น ก็จึงไม่ต้องไปขอให้ใครแก้ เราคนเดียวนี่แหละลงมือแก้ไปเลย
มีโอกาสพูดได้ พูด
มีโอกาสบอกได้ บอก
พยายามเตือนกันว่า-อย่ามักง่ายเรื่องภาษา
ถ้ามักง่ายเรื่องภาษาได้เรื่องหนึ่ง
ต่อไปจะมักง่ายได้หมดทุกเรื่อง
ถ้าเขียนหนังสือผิด ก็ไม่รู้สึกว่าเป็นเรื่องเสียหาย
ต่อไป ทำผิดเรื่องอื่นๆ ก็จะพากันเห็นว่าไม่ใช่เรื่องเสียหายได้หมด
เขียนหนังสือผิดแค่นี้ ถึงกับตกนรกอย่างนั้นหรือ?
เขียนหนังสือผิดไม่ตกนรก
แต่สร้างความสกปรกขึ้นในภาษา
…………..
ดูก่อนภราดา!
: ถ้ามนุษย์ไม่รังเกียจความสกปรก
: นรกก็คงอาย
#บาลีวันละคำ (3,962)
18-4-66
…………………………….
…………………………….