บาลีวันละคำ

ปโทเส ภิกฺขุโอวาทํ (บาลีวันละคำ 3,976)

ปโทเส ภิกฺขุโอวาทํ

1 ในพุทธกิจ 5 ประการ

…………..

พุทธกิจ 5 ประการปรากฏตามคำบาลีแต่งเป็นคาถาดังนี้ –

ปุพฺพณฺเห ปิณฺฑปาตญฺจ

สายณฺเห ธมฺมเทสนํ

ปโทเส ภิกฺขุโอวาทํ

อฑฺฒรตฺเต เทวปญฺหนํ

ปจฺจูเสว คเต กาเล 

ภพฺพาภพฺเพ วิโลกนํ.

เวลาเช้า เสด็จออกบิณฑบาต

เวลาเย็น แสดงพระธรรมเทศนา

เวลาย่ำค่ำ ประทานโอวาทแก่ภิกษุ

เวลาเที่ยงคืน พยากรณ์ปัญหาแก่เทวดา

เวลาใกล้รุ่ง ตรวจดูหมู่สัตว์ที่สมควรจะโปรด

หมายเหตุ: คำบาลีนี้ยังไม่พบที่มาว่าอยู่ในคัมภีร์อะไร หรือท่านผู้ใดเป็นผู้รจนาขึ้น ข้อความมีเพียงแค่นี้หรือมีมากกว่านี้ ท่านผู้ใดทราบ ขอความกรุณาให้ข้อมูลด้วย จะเป็นพระคุณอย่างยิ่ง

…………..

ปโทเส ภิกฺขุโอวาทํ” เขียนแบบคำอ่านว่า “ปะโทเส ภิกขุโอวาทัง” คำบาลีที่ควรศึกษาคือ “ปโทเส” และ “ภิกฺขุโอวาท

(๑) “ปโทเส

รูปคำเดิมเป็น “ปโทส” อ่านว่า ปะ-โท-สะ รากศัพท์มาจาก –

(1) ปา (แทนศัพท์ “ปารมฺภ” = เริ่มต้น) + โทสา (กลางคืน) + ปัจจัย, ลบ , รัสสะ อา ที่ ปา เป็น อะ (ปา > ), “ลบสระหน้า” คือ อา ที่ (โท)-สา เป็น อะ (โทสา > โทส

: ปา + โทสา = ปาโทสา > ปโทสา + = ปโทสาณ > ปโทสา > ปโทส แปลตามศัพท์ว่า “กาลเริ่มต้นแห่งราตรี” 

(2) (คำอุปสรรค = ทั่ว, ข้างหน้า, ก่อน, ออก) + ทุสฺ (ธาตุ = ประทุษร้าย, เบียดเบียน) + ปัจจัย, ลบ , แผลง อุ ที่ ทุ-(สฺ) เป็น โอ (ทุสฺ > โทส

: + ทุสฺ = ปทุสฺ + = ปทุสณ > ปทุส > ปโทส แปลตามศัพท์ว่า “กาลเป็นที่ประทุษร้ายการงานทุกอย่าง” (คือเมื่อกาลนั้นมาถึง การงานต้องหยุดหมด) 

ปโทส” (ปุงลิงค์) หนังสือ ศัพท์วิเคราะห์ ของ พระมหาโพธิวงศาจารย์ (ทองดี สุรเตโช ป.ธ.๙, ราชบัณฑิต) แปลว่า หัวค่ำ, พลบค่ำ, ปฐมยาม 

พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ ไม่ได้เก็บคำว่า “ปโทส” ที่หมายถึง หัวค่ำ, พลบค่ำ แต่เก็บคำว่า “โทสา” ไว้ แปลว่า evening, dusk (ยามเย็น, ยามค่ำ) และบอกว่า “โทสา” ใช้เป็นกิริยาวิเสสนะ (adverb) เปลี่ยนรูปเป็น “โทสํ” แปลว่า at night (ตอนกลางคืน)

สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน มีคำว่า “โทษา” บอกไว้ดังนี้ –

โทษา : (คำกริยาวิเศษณ์) ยามค่ำ, ในราตรีกาล; เมื่อหัวค่ำ; by night, at night; at the beginning of the night.”

สรุปว่า “โทสา” และ “ปโทส” แปลว่า ย่ำค่ำ, หัวค่ำ (dusk, at the beginning of the night) คือหลังอาทิตย์ตกดินไปจนถึงเวลาประมาณสี่ทุ่ม หรือในช่วงเวลาปฐมยาม

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

(1) ย่ำค่ำ : (คำกริยา) ตีกลอง ฆ้อง หรือระฆังถี่ ๆ หลายครั้งเพื่อบอกเวลาในเวลาค่ำ (ราว ๑๘ นาฬิกา); (คำนาม)  เวลาค่ำราว ๑๘ นาฬิกา.

(2) หัวค่ำ : (คำนาม) เวลาแรกมืด, เวลายังไม่ดึก

ปโทส” แจกด้วยวิภัตตินามที่เจ็ด (สัตตมีวิภัตติ) ปุงลิงค์ เอกวจนะ เปลี่ยนรูปเป็น “ปโทเส” แปลว่า “ในเวลายำค่ำ” หรือ “ในเวลาหัวค่ำ

(๒) “ภิกฺขุโอวาท” 

อ่านว่า พิก-ขุ-โอ-วา-ทะ ประกอบด้วยคำว่า ภิกฺขุ + โอวาท 

(ก) “ภิกฺขุ” อ่านว่า พิก-ขุ มีความหมายหลายนัย กล่าวคือ –

(1) “ผู้ขอ” : ภิกฺขตีติ ภิกฺขุ = ภิกฺขฺ (ธาตุ = ขอ) + รู ปัจจัย, ลบ , รัสสะ อู เป็น อุ

(2) “ผู้นุ่งห่มผ้าที่ถูกตัดเป็นชิ้นเล็กชิ้นน้อย” : ภินฺนปฏธโรติ ภิกฺขุ = ภินฺนปฏ = ผ้าที่ถูกตัดเป็นชิ้นๆ, ธโร = ผู้ทรงไว้

(3) “ผู้เห็นภัยในการเวียนตายเวียนเกิด” : สํสาเร ภยํ อิกฺขตีติ ภิกฺขุ = ภย (ภัย) + อิกฺขฺ (ธาตุ = เห็น) + รู ปัจจัย, ลบ , รัสสะ อู เป็น อุ

(4) “ผู้ทำลายบาปอกุศล” : ภินฺทติ ปาปเก อกุสเล ธมฺเมติ ภิกฺขุ = ภิทฺ (ธาตุ = ทำลาย) + รู ปัจจัย, ลบ , รัสสะ อู เป็น อุ

(5) “ผู้ได้บริโภคอมตรสคือพระนิพพาน” : ภกฺขติ อมตรสํ ภุญฺชตีติ ภิกฺขุ = ภกฺขฺ (ธาตุ = บริโภค) + รู ปัจจัย, ลบ , รัสสะ อู เป็น อุ

ภิกฺขุ” ใช้ในภาษาไทยเป็น “ภิกษุ” หมายถึง ชายที่บวชเป็นพระในพระพุทธศาสนา

(ข) “โอวาท” บาลีอ่านว่า โอ-วา-ทะ รากศัพท์มาจาก อว (คำอุปสรรค = ลง, ย้ำ) + วทฺ (ธาตุ = กล่าว) + ปัจจัย, ลบ , แผลง อว เป็น โอ, ทีฆะ อะ ที่ -(ทฺ) เป็น อา ด้วยอำนาจ ปัจจัย (วทฺ > วาท)

: อว > โอ + วทฺ = โอวท + = โอวทณ > โอวท > โอวาท (ปุงลิงค์) แปลตามศัพท์ว่า “การกล่าวตอกย้ำเพื่อให้ระวัง” หมายถึง โอวาท, คำสั่งสอน, การตักเตือน, คำแนะนำ (advice, instruction, admonition, exhortation)

ภิกฺขุ + โอวาท = ภิกฺขุโอวาท (พิก-ขุ-โอ-วา-ทะ) แปลว่า “การกล่าวสอนภิกษุ” ใช้สำหรับพระพุทธเจ้านิยมแปลว่า “ประทานโอวาทแก่ภิกษุ

ขยายความ :

คำบาลีที่ยกขึ้นข้างต้นเป็น “ปโทเส ภิกฺขุโอวาทํ” คำว่า “ภิกฺขุโอวาทํ” ก็คือ “ภิกฺขุโอวาท” แจกด้วยวิภัตตินามที่สอง (ทุติยาวิภัตติ) เปลี่ยนรูปเป็น “ภิกฺขุโอวาทํ” แปลว่า “ซึ่งการกล่าวสอนภิกษุ” 

ภิกฺขุโอวาท” แจกด้วยวิภัตตินามที่สอง และแปลว่า “ซึ่งการกล่าวสอนภิกษุ” บอกให้รู้ว่า คำบาลีในที่นี้จะต้องมีคำกริยาแสดงการกระทำ “ซึ่งการกล่าวสอนภิกษุ” กล่าวคือ โดยหลักวากยสัมพันธ์ “ภิกฺขุโอวาทํ” ทำหน้าที่เป็น “กรรม” ในประโยคเพราะแจกด้วยทุติยาวิภัตติ ดังนั้น จึงต้องมีคำกริยามารับ เพราะ “กรรม” จะอยู่ลอยๆ โดยไม่มีกริยามิได้

เมื่อเติมคำกริยามาให้ครบ รูปประโยคอาจเป็นดังนี้: “ปโทเส ภิกฺขุโอวาทํ พุทฺธกิจฺจํ กโรติ

แปลตามศัพท์ (แปลโดยพยัญชนะ) ว่า อันว่าพระพุทธเจ้า ย่อมทรงกระทำ ซึ่งพุทธกิจ คือการกล่าวสอนซึ่งภิกษุ ในเวลาย่ำค่ำ

…………..

ที่อธิบายมานี้คือหลักวิชาภาษาบาลีอันเป็นภาษาที่ใช้บันทึกพระพุทธพจน์ 

จะอธิบายได้เช่นนี้ก็ต้องเรียนรู้ และการเรียนรู้นั้นไม่ใช่เรื่องเหลือวิสัย คนมีสติปัญญาธรรมดาทั่วไปสามารถเรียนรู้ได้ทั้งสิ้น ใครเรียนรู้ถึงระดับหนึ่งก็สามารถอธิบายเช่นนี้ได้ทุกคน ผู้ที่ได้ฟังคำอธิบาย ถ้ามีอุตสาหะเรียนรู้ก็จะเข้าใจคำอธิบายนี้ได้โดยไม่ยาก

…………..

สรุป :

“พุทธกิจ” คือ หน้าที่ของพระพุทธเจ้าตามที่ผู้รู้ท่านประมวลไว้มี 5 ประการ พระพุทธเจ้าต้องทรงปฏิบัติทุกวันตั้งแต่รุ่งเช้าของวันหนึ่งจนถึงรุ่งสางของอีกวันหนึ่ง

พุทธกิจประการที่ 3 ของวัน คำบาลีว่า “ปโทเส ภิกฺขุโอวาทํ” แปลความว่า “เวลาย่ำค่ำประทานโอวาทแก่ภิกษุ” รายละเอียดของศัพท์มีดังที่แสดงมา

มีเรื่องควรทราบเป็นความรู้ นั่นคือ ชาวพุทธสมัยพุทธกาลนิยมไปวัดวันละ 3 เวลา คือเช้า กลางวัน เย็น 

เวลาเช้า นำอาหารบิณฑบาตไปถวายพระภิกษุสามเณร

เวลากลางวัน คือหลังเที่ยง นำน้ำปานะไปถวายพระภิกษุสามเณร

เวลาเย็น นำดอกไม้ของหอมเครื่องสักการะไปไหว้พระและฟังธรรม

เวลาเย็น ชาวบ้านฟังธรรมจนถึงเวลามืดค่ำก็กลับเคหสถานของตนๆ

พุทธกิจประการที่ 3 ที่ว่า “ปโทเส ภิกฺขุโอวาทํเวลาย่ำค่ำประทานโอวาทแก่ภิกษุ ก็คือเมื่อชาวบ้านกลับไปหมดแล้ว พระพุทธองค์ก็ประทานโอวาทแก่ภิกษุเป็นพุทธกิจลำดับต่อไป

…………..

โย  โว  อานนฺท  มยา  

ธมฺโม  จ  วินโย  จ  

เทสิโต  ปญฺญตฺโต  

โส  โว  มมจฺจเยน  สตฺถา.

ดูก่อนอานนท์ ธรรมและวินัยอันใด

ที่เราแสดงแล้วบัญญัติแล้วแก่พวกเธอ

ธรรมและวินัยอันนั้นจะเป็นศาสดาของพวกเธอ

เมื่อเราล่วงลับไปแล้ว

ที่มา: มหาปรินิพพานสูตร ทีฆนิกาย มหาวรรค

พระไตรปิฎกเล่ม 10 ข้อ 141

ดูก่อนภราดา!

: แม้วันนี้จะไม่มีพระพุทธองค์ประทานโอวาททุกยามค่ำ

: แต่ก็ยังมีพระวินัยและพระธรรมให้ศึกษาและปฏิบัติตาม

#บาลีวันละคำ (3,976)

2-5-66 

…………………………….

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้

…………………………….

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *