ปริวาร (บาลีวันละคำ 4,074)
ปริวาร
ชื่อเป็นบริวาร ตัวเป็นประธาน
อ่านว่า ปะ-ริ-วาน
“ปริวาร” เป็นรูปคำบาลี อ่านว่า ปะ-ริ-วา-ระ รากศัพท์มาจาก ปริ (คำอุปสรรค = รอบ) + วร (ธาตุ = ระวัง, ป้องกัน) + ณ ปัจจัย, ลบ ณ, ทีฆะต้นธาตุ “ด้วยอำนาจปัจจัยเนื่องด้วย ณ” (วรฺ > วาร)
: ปริ + วรฺ = ปริวรฺ + ณ = ปริวรณ > ปริวร > ปริวาร แปลตามศัพท์ว่า “ผู้ระวังโดยรอบ” “ผู้ป้องกันโดยรอบ” “เครื่องป้องกันโดยรอบ”
“ปริวาร” (ปุงลิงค์) ในบาลีใช้ในความหมายดังนี้ –
(1) คนแวดล้อม, ผู้ติดตามไปเป็นกลุ่ม, บริวาร, สาวก, ผู้ติดสอยห้อยตาม, กระบวน (surrounding, suite, retinue, followers, entourage, pomp)
(2) ผู้ติดตาม, สิ่งประกอบหรือของที่เป็นสัญลักษณ์ของผู้มีเกียรติ, ความเคารพ, การรับใช้, การแสดงความภักดี, เกียรติคุณ (followers, accompaniment or possession as a sign of honour, and therefore meaning “respect,” attendance, homage, fame)
(3) ส่วนผสม, ส่วนที่เพิ่มเติม, บริขารหรือของจำเป็น (ingredient, accessories, requisite)
(4) เป็นชื่อหนังสือเล่มสุดท้ายในวินัยปิฎกชื่อ ปริวาร, ส่วนเพิ่มเติม, ภาคผนวก (as N. it is the name of the last book of the Vinaya Piṭaka [“The Accessory”], the Appendix, a sort of résumé and index of the preceding books)
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 มีคำว่า “ปริวาร” บอกคำอ่านว่า ปะ-ริ-วาน บอกความหมายไว้ดังนี้ –
“ปริวาร : (คำนาม) บริวาร. (ป.).”
หมายความว่า “ปริวาร” ก็คือ “บริวาร”
ที่คำว่า “บริวาร” บอกคำอ่านว่า บอ-ริ-วาน บอกความหมายไว้ดังนี้ –
“บริวาร : (คำนาม) ผู้แวดล้อมหรือผู้ติดตาม เช่น พระพุทธเจ้ามีภิกษุประมาณ ๕๐๐ รูปเป็นบริวาร, สิ่งที่เป็นส่วนประกอบหรือสมทบสิ่งอื่นที่เป็นประธาน เช่น บริวารกฐิน. (คำวิเศษณ์) ที่แวดล้อม เช่น ดาวบริวาร. (ป., ส. ปริวาร).”
โปรดสังเกต :
“ปริวาร” ในบาลี อ่านว่า ปะ-ริ-วา-ระ
ใช้ในภาษาไทยเป็น “ปริวาร” (รูปเท่ากับบาลี) อ่านว่า ปะ-ริ-วาน ไม่ใช่ ปะ-ริ-วา-ระ และไม่ใช่ ปอ-ริ-วาน
ใช้ในภาษาไทยเป็น “บริวาร” (ป ปลา เป็น บ ใบไม้) อ่านว่า บอ-ริ-วาน ไม่ใช่ บะ-ริ-วาน
ในที่นี้เขียนเป็น “ปริวาร” รูปเท่ากับบาลี และอ่านว่า ปะ-ริ-วาน หมายถึง คัมภีร์ที่ 5 แห่งพระวินัยปิฎก
ขยายความ :
พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ ของท่าน ป.อ. ปยุตฺโต บอกไว้ดังนี้ –
“ปริวาร : คัมภีร์ที่ ๕ (เป็นเล่มที่ ๘) แห่งวินัยปิฎก เป็นคัมภีร์ประกอบหรือคู่มือบรรจุคำถามคำตอบสำหรับซ้อมความรู้พระวินัย.”
เพื่อให้เห็นเค้าโครงของวินัยปิฎก ขอนำคำอธิบายคำว่า “ไตรปิฎก” ในพจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ ของท่าน ป.อ. ปยุตฺโต เฉพาะตอนที่กล่าวถึงพระวินัยปิฎกมาเสนอไว้ในที่นี้ ดังนี้ –
(ปรับย่อหน้าเพื่อให้อ่านง่าย)
…………..
ฯลฯ
๑. พระวินัยปิฎก ประมวลพุทธพจน์หมวดพระวินัย คือพุทธบัญญัติเกี่ยวกับความประพฤติ ความเป็นอยู่ ขนบธรรมเนียมและการดำเนินกิจการต่างๆ ของภิกษุสงฆ์และภิกษุณีสงฆ์ แบ่งเป็น ๕ คัมภีร์ (เรียกย่อหรือหัวใจว่า อา ปา ม จุ ป) คือ
๑. อาทิกัมมิกะ หรือ ปาราชิก ว่าด้วยสิกขาบทที่เกี่ยวกับอาบัติหนักของฝ่ายภิกษุสงฆ์ ตั้งแต่ปาราชิกถึงอนิยต
๒. ปาจิตตีย์ ว่าด้วยสิกขาบทที่เกี่ยวกับอาบัติเบา ตั้งแต่นิสสัคคิยปาจิตตีย์ถึงเสขิยะ รวมตลอดทั้งภิกขุนีวิภังค์ทั้งหมด
๓. มหาวรรค ว่าด้วยสิกขาบทนอกปาติโมกข์ตอนต้น ๑๐ ขันธกะ หรือ ๑๐ ตอน
๔. จุลวรรค ว่าด้วยสิกขาบทนอกปาติโมกข์ตอนปลาย ๑๒ ขันธกะ (เขียนเต็มเป็น จุลลวรรค; จูฬวรรค ก็เขียน)
๕. ปริวาร คัมภีร์ประกอบหรือคู่มือ บรรจุคำถามคำตอบสำหรับซ้อมความรู้พระวินัย
พระวินัยปิฎกนี้ แบ่งอีกแบบหนึ่งเป็น ๕ คัมภีร์เหมือนกัน (จัด ๒ ข้อในแบบต้นนั้นใหม่) คือ
๑. มหาวิภังค์ หรือ ภิกขุวิภังค์ ว่าด้วยสิกขาบทในปาติโมกข์ (ศีล ๒๒๗ ข้อ) ฝ่ายภิกษุสงฆ์
๒. ภิกขุนีวิภังค์ ว่าด้วยสิกขาบทในปาติโมกข์ (ศีล ๓๑๑ ข้อ) ฝ่ายภิกษุณีสงฆ์
๓. มหาวรรค
๔. จุลวรรค
๕. ปริวาร
บางทีท่านจัดให้ย่นย่อเข้าอีก แบ่งพระวินัยปิฎกเป็น ๓ หมวด คือ
๑. วิภังค์ ว่าด้วยสิกขาบทในปาติโมกข์ทั้งฝ่ายภิกษุสงฆ์และฝ่ายภิกษุณีสงฆ์ (คือรวมข้อ ๑ และ ๒ ข้างต้นทั้งสองแบบเข้าด้วยกัน)
๒. ขันธกะ ว่าด้วยสิกขาบทนอกปาติโมกข์ ทั้ง ๒๒ ขันธกะหรือ ๒๒ บทตอน (คือรวมข้อ ๓ และ ๔ เข้าด้วยกัน)
๓. ปริวาร คัมภีร์ประกอบ (คือข้อ ๕ ข้างบน)
…………..
แถม :
ความรู้เชิงสถิติพื้นๆ ที่คนส่วนมากไม่สนใจ และเห็นว่าไม่รู้จะต้องรู้ไปทำไม ไร้สาระ แต่นี่คือบันไดขั้นต้นที่ปลุกจิตอันเป็นมหากุศลให้ตื่นขึ้นมาสนใจพระไตรปิฎกแหล่งสถิตแห่งหลักพระธรรมวินัยอันเป็นตัวพระศาสนา –
…………..
(1) คัมภีร์ปริวารเป็นคัมภีร์พระวินัยปิฎก
(2) คัมภีร์ปริวารเป็นพระไตรปิฎกเล่มที่ 8 ในพระไตรปิฎกภาษาบาลีอักษรไทยฉบับสยามรัฐ 45 เล่ม
(3) คัมภีร์ปริวารภาษาบาลีอักษรไทยฉบับสยามรัฐมี 553 หน้า
(4) คัมภีร์ปริวารภาษาบาลีอักษรไทยฉบับสยามรัฐมี 1366 ข้อ
…………..
ตอนท้าย ท่านพรรณนาความอลังการแห่งคัมภีร์ปริวารไว้ดังนี้ –
…………..
จกฺกวตฺติ มหาเสเน
พระเจ้าจักรพรรดิสง่างามในกองทัพใหญ่ ฉันใด
มิคมชฺเฌว เกสรี
ไกรสรสง่างามในท่ามกลางฝูงมฤค ฉันใด
รวิ รํสิปริกิณฺโณ
พระอาทิตย์แผ่ซ่านด้วยรัศมีย่อมสง่างาม ฉันใด
จนฺโท ตารคเณ ยถา
พระจันทร์สง่างามในหมู่ดารา ฉันใด
พฺรหฺมา พฺรหฺมปริสาย
พระพรหมสง่างามในหมู่พรหม ฉันใด
คณมชฺเฌว นายโก
ท่านผู้นำสง่างามในท่ามกลางหมู่ชน ฉันใด
เอวํ สทฺธมฺมวินโย
ปริวาเรน โสภติ.
พระสัทธรรมวินัย
ย่อมงามสง่าด้วยคัมภีร์ปริวาร ฉันนั้นแล
ที่มาบาลี: นิคมคาถา ปริวาร พระไตรปิฎกเล่ม 8 ข้อ 1366
…………..
ดูก่อนภราดา!
: ไม่มีบริวาร
: ดังฤๅประธานจะสง่างาม
#บาลีวันละคำ (4,074)
8-8-66
…………………………….
…………………………….