สุบิน (บาลีวันละคำ 1,559)
สุบิน
อ่านว่า สุ-บิน
“สุบิน”บาลีเป็น “สุปิน” (สุ-ปิ-นะ) รากศัพท์มาจาก สุปฺ (ธาตุ = นอนหลับ) + อิน ปัจจัย
: สุปฺ + อิน = สุปิน แปลตามศัพท์ว่า (1) “การนอนหลับ” (2) “ภาวะเป็นเหตุนอนหลับ”
แม้ว่าคำแปลตามศัพท์จะเกี่ยวกับ “นอนหลับ” แต่โดยปกติ “สุปิน” ที่พบในคัมภีร์บาลีมักใช้ในความหมายว่า ความฝัน เป็นพื้น
พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “สุปิน” ว่า dream, vision (ความฝัน, จินตนาการ)
บาลี “สุปิน” สันสกฤตเป็น “สฺวปฺน” รูปศัพท์แบบนี้คงไม่ประทับใจคนไทย เราจึงไม่ใช้
สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน มี 2 ศัพท์ที่สะกดคล้ายกัน คือ “สฺวปน” (ไม่มีจุดใต้ ป) และ “สฺวปฺน” (มีจุดใต้ ปฺ) บอกไว้ดังนี้ –
(1) สฺวปน : (คำนาม) นิทรา, การหลับ, การนอน; sleep, sleeping.
(2) สฺวปฺน : (คำนาม) นิทรา; การฝัน; sleep; dreaming; a dream.
โปรดสังเกตว่า คำหมายเลข (1) “สฺวปน” (ไม่มีจุดใต้ ป) ให้ความหมายเฉพาะการนอนหลับ ไม่หมายถึงการฝัน แต่คำหมายเลข (2) “สฺวปฺน” (มีจุดใต้ ปฺ) ให้ความหมายทั้งการนอนหลับและการฝัน
ในภาษาไทย “สุปิน” แผลง ป เป็น บ ตามหลักนิยม ใช้เป็น “สุบิน”
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“สุบิน : (คำนาม) ความฝัน, ราชาศัพท์ใช้ว่า พระสุบิน. (ป. สุปิน).”
ในภาษาไทย “สุบิน” ใช้ในความหมายว่า ความฝัน อย่างเดียว
………….
ในคัมภีร์ (เช่น สมันตปาสาทิกา อรรถกถาพระวินัยปิฎกเป็นต้น) ท่านแสดงสาเหตุที่ทำให้ฝันว่ามี 4 อย่าง ดังนี้ –
(1) ธาตุกฺโขภโต = ธาตุในร่างกายแปรปรวนไปไม่เป็นปกติ
(2) อนุภูตปุพฺพโต = เคยเห็นเคยเป็นมาก่อน จิตหน่วงเหนี่ยวเรื่องนั้นมาเป็นอารมณ์
(3) เทวโตปสํหารโต = เทพยดานำเรื่องราวนั้นๆ เข้ามาสื่อสาร
(4) ปุพฺพนิมิตฺตโต = มีเหตุสำแดงให้ปรากฏว่าจะมีเรื่องอย่างใดอย่างหนึ่งเกิดขึ้น
ไทยเจ้าบทเจ้ากลอนเอามาเรียงลำดับเสียใหม่ พูดให้คล้องจองกันดังนี้ –
(1) บุพนิมิต
(2) จิตนิวรณ์
(3) เทพสังหรณ์
(4) ธาตุพิการ
อนึ่ง ในคัมภีร์ท่านว่า –
ฝันเพราะบุพนิมิต เชื่อได้แท้
ฝันเพราะเทพสังหรณ์ เชื่อได้บ้างไม่ได้บ้าง
ฝันเพราะจิตนิวรณ์และธาตุพิการ เชื่อไม่ได้เลย
………….
: คนกล้า ไม่กลัวที่จะทำความฝันให้เป็นความจริง
: คนกลัว มัวเกรงกริ่ง ไม่กล้าทำความจริงแม้ในความฝัน
10-9-59