บาลีวันละคำ

ชาติ (บาลีวันละคำ 588)

ชาติ

บาลีอ่านว่า ชา-ติ

ภาษาไทยอ่านว่า ชาด

ชาติ” รากศัพท์มาจาก ชน (ธาตุ = เกิด) + ติ ปัจจัย

กระบวนการทางไวยากรณ์ –

1. แปลง ชน (ชะ-นะ) เป็น ชา : ชน > ชา + ติ = ชาติ

2. แปลง “” (ที่ ชน) เป็น อา : (ช) > อา (> + อา) = ชา + ติ = ชาติ

ชาติ” แปลตามศัพท์ว่า “การเกิด” ในภาษาบาลีใช้ในความหมายดังต่อไปนี้ –

1. การเกิด, การเกิดใหม่, กำเนิด (birth, rebirth, possibility of rebirth)

2. ชาติกำเนิด, เชื้อชาติ, ชั้น, วงศ์วาน (descent, race, rank, genealogy)

3. จำพวก, ชนิด (a sort of, kind of)

4. ตามธรรมชาติ (ตรงข้ามกับของที่ตกแต่งขึ้น); แท้จริง, บริสุทธิ์, วิเศษ (ตรงกันขามกับปนเจือ เลว) (by birth or nature, natural (opp. artificial); genuine, pure, excellent (opp. adulterated, inferior))

ในภาษาไทย พจน.42 บอกความหมายของคำว่า “ชาติ” ไว้ดังนี้

– การเกิด เช่น ชาตินี้ ชาติหน้า

– กําเนิด เช่น มีชาติมีสกุล

– เหล่ากอ, เทือกเถา, เผ่าพันธุ์ เช่น ชาติเสือ ชาติขี้ข้า

– ชนิด, จําพวก, ชั้น, หมู่

– รส เช่น ไม่เป็นรสไม่เป็นชาติ

– ประเทศ

– ประชาชนที่เป็นพลเมืองของประเทศ, กลุ่มชนที่มีความรู้สึกในเรื่องเชื้อชาติ ศาสนา ภาษา ประวัติศาสตร์ ความเป็นมา ขนบธรรมเนียมประเพณี และวัฒนธรรมอย่างเดียวกัน หรืออยู่ในปกครองรัฐบาลเดียวกัน

– คำเพิ่มข้างหลังของคำเดิม เมื่อเพิ่มแล้วความหมายคงเดิมหรือหมายถึงพวกหรือหมู่ เช่น คชาชาติ มนุษยชาติ

ในภาษาไทย ความหมายเด่นของ “ชาติ” ก็คือ บ้านเมือง (country) ซึ่งจะต้องช่วยกันรักษา

ในภาษาธรรม ความหมายเด่นของ “ชาติ” ก็คือ การเกิด (rebirth) อันเป็นลูกโซ่ห่วงสุดท้ายของปฏิจจสมุปบาท และเป็นที่มาแห่งความแก่ เจ็บ ตาย และกองทุกข์ทั้งมวล ซึ่งจะต้องช่วยกันทำลายให้สิ้นไป

ภาษาธรรมหรือภาษาไทย-วัดใจกันเอง

: เกิดมาชาติหนึ่ง ถ้าคิดทำลายชาติ (…) ของตัวเอง ก็เสียชาติเกิด

: แต่เกิดมาชาติหนึ่ง ถ้าไม่คิดทางหาทางทำลายชาติ (…) ของตัวเอง ก็เสียชาติเกิดอีกเหมือนกัน

25-12-56

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย