ยถาสันถติกังคะ ธุดงค์ข้อที่ 12 (บาลีวันละคำ 4,121)
ยถาสันถติกังคะ ธุดงค์ข้อที่ 12
พอใจตามที่ได้ – ตามใจผู้จัด
…………..
ธุดงค์มี 13 ข้อ คือ –
1. ปังสุกูลิกังคะ ถือทรงผ้าบังสุกุลเป็นวัตร
2. เตจีวริกังคะ ถือทรงเพียงไตรจีวรเป็นวัตร
3. ปิณฑปาติกังคะ ถือเที่ยวบิณฑบาตเป็นวัตร
4. สปทานจาริกังคะ ถือเที่ยวบิณฑบาตไปตามลำดับเป็นวัตร
5. เอกาสนิกังคะ ถือนั่งฉัน ณ อาสนะเดียวเป็นวัตร
6. ปัตตปิณฑิกังคะ ถือฉันเฉพาะในบาตรเป็นวัตร
7. ขลุปัจฉาภัตติกังคะ ถือห้ามภัตที่ถวายภายหลังเป็นวัตร
8. อารัญญิกังคะ ถืออยู่ป่าเป็นวัตร
9. รุกขมูลิกังคะ ถืออยู่โคนไม้เป็นวัตร
10. อัพโภกาสิกังคะ ถืออยู่ที่แจ้งเป็นวัตร
11. โสสานิกังคะ ถืออยู่ป่าช้าเป็นวัตร
12. ยถาสันถติกังคะ ถืออยู่ในเสนาสนะแล้วแต่เขาจัดให้
13. เนสัชชิกังคะ ถือการนั่งเป็นวัตร
…………..
“ยถาสันถติกังคะ” อ่านว่า ยะ-ถา-สัน-ถะ-ติ-กัง-คะ ประกอบด้วยคำว่า ยถาสันถติก + อังคะ
(๑) “ยถาสันถติก”
เขียนแบบบาลีเป็น “ยถาสนฺถติก” อ่านว่า ยะ-ถา-สัน-ถะ-ติ-กะ ประกอบด้วยคำว่า ยถา + สนฺถต + อิก ปัจจัย
(ก) “ยถา” อ่านว่า ยะ-ถา เป็นคำจำพวกนิบาต แปลว่า ฉันใด, เหมือน, ตาม
พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ บอกความหมายของ “ยถา” ว่า as, like, in relation to, after (the manner of) (อย่าง, เหมือน, เกี่ยวกับ, ฉันใด, ตามอย่าง)
หลักการใช้ ยถา :
– ถ้าใช้โดดๆ จะต้องมีข้อความที่มีคำว่า “เอวํ” หรือ “ตถา” มาคู่กัน เหมือนภาษาไทยว่า “ฉันใด” ต้องมี “ฉันนั้น” มารับ
– ถ้าสมาสกับคำอื่น นิยมแปลว่า “ตาม-” เช่น “ยถากรรม” : ยถา + กมฺม = ยถากมฺม > ยถากมฺมํ > ยถากรรม แปลว่า “ตามกรรม”
(ข) “สนฺถต” อ่านว่า สัน-ถะ-ตะ รากศัพท์มาจาก สํ (คำอุปสรรค = พร้อมกัน, ร่วมกัน) + ถรฺ (ธาตุ = ปูลาด, แผ่ไป) + ต ปัจจัย, แปลงนิคหิตที่ สํ เป็น นฺ (สํ > สนฺ), ลบ รฺ ที่สุดธาตุ (ถร > ถ)
: สํ + ถรฺ = สํถรฺ + ต = สํถรฺต > สนฺถรฺต > สนฺถต แปลตามศัพท์ว่า “ปูลาดแล้ว” หมายถึง แผ่, ลาด, ปูลาด, ปกคลุม (spread, strewn with, covered)
“สนฺถต” ที่มีใช้ในภาษาไทยคือคำว่า “สันถัต” พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“สันถัต : (คำนาม) ผ้าที่พระภิกษุรองนั่ง. (ป. สนฺถต ว่า ปูแล้ว, ลาดแล้ว).”
ยถา + สนฺถต = ยถาสนฺถต (ยะ-ถา-สัน-ถะ-ตะ) แปลว่า “ตามที่ปูลาดไว้”
(ค) ยถาสนฺถต + อิก = ยถาสนฺถติก แปลตามศัพท์ว่า “ผู้อยู่ในเสนาสนะตามที่ปูลาดแล้ว” หมายความว่า เมื่อเป็นอาคันตุกะไปพักในที่ไหนๆ เขาจัดให้พัก ณ สถานที่แบบไหนอย่างไร ก็พอใจที่จะพักในสถานที่ตามที่จัดนั้น ไม่เรียกร้องให้แก้ไขเปลี่ยนแปลงอันจะเป็นเหตุให้ผู้รับผิดชอบต้องยุ่งยาก
พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ บอกความหมายของ “ยถาสนฺถติก” ว่า accepting whatever seat is offered (ยอมรับที่นั่งที่จัดให้)
(๒) “อังคะ”
เขียนแบบบาลีเป็น “องฺค” อ่านว่า อัง-คะ รากศัพท์มาจาก องฺคฺ (ธาตุ = ไป, ถึง, เป็นไป; รู้) + อ (อะ) ปัจจัย
: องฺคฺ + อ = องฺค (นปุงสกลิงค์) แปลตามศัพท์ว่า (1) “ร่างที่เดินได้” (2) “เหตุเป็นเครื่องรู้ที่เกิด” (คือทำให้รู้ต้นกำเนิด) (3) “ส่วนอันเขารู้ว่าเป็นส่วนย่อย”
“องฺค” ในบาลีหมายถึง –
(1) ส่วนของร่างกาย, อวัยวะ (a constituent part of the body, a limb)
(2) ชิ้นส่วน, ส่วนประกอบ (member, part)
(3) องค์ประกอบของทั้งหมด หรือของระบบ หรือส่วนย่อยที่ประกอบเข้าเป็นส่วนใหญ่ (a constituent part of a whole or system or collection)
ยถาสนฺถติก + องฺค = ยถาสนฺถติกงฺค (ยะ-ถา-สัน-ถะ-ติ-กัง-คะ) แปลว่า “องค์แห่งผู้ถือการอยู่ในเสนาสนะตามแต่เขาจัดให้” หมายถึง วิธีปฏิบัติธุดงค์ว่าด้วยการอยู่ในเสนาสนะตามแต่เขาจัดให้
“ยถาสนฺถติกงฺค” ใช้ในภาษาไทยเป็น “ยถาสันถติกังคะ”
ขยายความ :
“ยถาสันถติกังคะ” เป็นธุดงค์ข้อที่ 12 ในจำนวนธุดงค์ 13 ข้อ
พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ ของท่าน ป.อ. ปยุตฺโต บอกความหมายของ “ธุดงค์” และ “ยถาสันถติกังคะ” ไว้ดังนี้
…………..
(1) ธุดงค์ : องค์คุณเครื่องกำจัดกิเลส, ข้อปฏิบัติเข้มงวด ที่สมัครใจสมาทานประพฤติประจำตัว ชั่วระยะกาลสั้น หรือยาว หรือแม้ตลอดชีวิต ก็ได้ เป็นอุบายขัดเกลากิเลส ส่งเสริมความมักน้อยสันโดษ เป็นต้น มี 13 ข้อ
(2) ยถาสันถติกังคะ : องค์แห่งผู้ถือการอยู่ในเสนาสนะตามแต่เขาจัดให้ ไม่เลือกเสนาสนะเอาตามพอใจตัวเอง, คำสมาทานว่า “เสนาสนโลลุปฺปํ ปฏิกฺขิปามิ, ยถาสนฺถติกงฺคํ สมาทิยามิ” แปลว่า “ข้าพเจ้างดความอยากเอาแต่ใจในเสนาสนะ สมาทานองค์แห่งผู้ถือการอยู่ในเสนาสนะตามแต่เขาจัดให้” (ข้อ ๑๒ ใน ธุดงค์ ๑๓)
…………..
พจนานุกรมพุทธศาสตร์ ฉบับประมวลธรรม ของท่าน ป.อ. ปยุตฺโต ข้อ [342] แสดง “ยถาสันถติกังคะ” ธุดงค์ข้อที่ 12 ไว้ดังนี้ –
…………..
12. ยถาสันถติกังคะ (องค์แห่งผู้ถืออยู่ในเสนาสนะแล้วแต่เขาจัดให้ คำสมาทานว่า “เสนาสนโลลุปฺปํ ปฏิกฺขิปามิ, ยถาสนฺถติกงฺคํ สมาทิยามิ” แปลว่า “ข้าพเจ้างดความอยากเอาแต่ใจในเสนาสนะ สมาทานองค์แห่งผู้—” — Yathāsanthatikaṅga: any-bed-user’s practice)
…………..
ในสมัยพุทธกาล ภารกิจสำคัญของภิกษุคือจาริกออกประกาศพระศาสนา ภิกษุแต่ละรูปจึงต้องเดินทางรอนแรมอยู่ตลอดเวลา แบบ “ค่ำไหนนอนนั่น” ไม่ได้พักประจำที่เหมือนภิกษุในปัจจุบัน
อารามของสงฆ์ที่มีผู้สร้างถวายไว้ตามสถานที่ต่างๆ จะต้องมีภิกษุที่ได้รับมอบหมายจากสงฆ์ให้ทำหน้าที่ดูแล ทั้งดูแลเสนาสนะ (ตัวอาคารสิ่งปลูกสร้าง) และดูแลเครื่องใช้ประจำเสนาสนะ มีชื่อเรียกภิกษุผู้ทำหน้าที่นี้ว่า “เสนาสนคาหาปกะ” (เส-นา-สะ-นะ-คา-หา-ปะ-กะ) แปลว่า “ผู้แจกเสนาสนะ” หรือ “เสนาสนปัญญาปกะ” (เส-นา-สะ-นะ-ปัน-ยา-ปะ-กะ) แปลว่า “ผู้ปูลาดเสนาสนะ”
เมื่อมีภิกษุจาริกมาถึงและขอพัก ภิกษุผู้ได้รับมอบหมายหน้าที่จะเป็นผู้จัดให้เข้าพักในเสนาสนะที่เห็นสมควร
ภิกษุอาคันตุกะบางรูปอาจไม่ชอบเสนาสนะที่จัดให้และเรียกร้องขอพักตรงนั้นตรงโน้น ภิกษุผู้เป็นเจ้าหน้าที่ก็ต้องเปลี่ยนให้ตามต้องการ บางทีอาคันตุกะอาจเรียกร้องสิ่งนั้นสิ่งนี้เพิ่มขึ้นอีก อย่างที่เราเรียกกันว่า “เรื่องมาก” สร้างความลำบากให้แก่เจ้าหน้าที่
ด้วยสภาพดังกล่าวนี้ จึงมีภิกษุบางรูปไม่ต้องการรบกวนภิกษุผู้เป็นเจ้าหน้าที่ให้ต้องลำบากยุ่งยาก ถือเป็นหลักว่า เขาจัดให้อย่างไรก็พอใจอย่างนั้น เป็นการควบคุมความต้องการเกินขอบเขตของตน นับเป็นการขัดเกลาตนเองวิธีหนึ่ง
การถือเช่นนี้จึงเป็นธุดงค์ข้อหนึ่ง คือ “ยถาสันถติกังคะ”
…………..
ดูก่อนภราดา!
: ถ้าไม่ได้สิ่งที่พอใจ
: ก็จงพอใจสิ่งที่ได้
#บาลีวันละคำ (4,121)
24-9-66
…………………………….
…………………………….