เนสัชชิกังคะ ธุดงค์ข้อที่ 13 (บาลีวันละคำ 4,122)
เนสัชชิกังคะ ธุดงค์ข้อที่ 13
ไม่นอนก็พักผ่อนได้
…………..
ธุดงค์มี 13 ข้อ คือ –
1. ปังสุกูลิกังคะ ถือทรงผ้าบังสุกุลเป็นวัตร
2. เตจีวริกังคะ ถือทรงเพียงไตรจีวรเป็นวัตร
3. ปิณฑปาติกังคะ ถือเที่ยวบิณฑบาตเป็นวัตร
4. สปทานจาริกังคะ ถือเที่ยวบิณฑบาตไปตามลำดับเป็นวัตร
5. เอกาสนิกังคะ ถือนั่งฉัน ณ อาสนะเดียวเป็นวัตร
6. ปัตตปิณฑิกังคะ ถือฉันเฉพาะในบาตรเป็นวัตร
7. ขลุปัจฉาภัตติกังคะ ถือห้ามภัตที่ถวายภายหลังเป็นวัตร
8. อารัญญิกังคะ ถืออยู่ป่าเป็นวัตร
9. รุกขมูลิกังคะ ถืออยู่โคนไม้เป็นวัตร
10. อัพโภกาสิกังคะ ถืออยู่ที่แจ้งเป็นวัตร
11. โสสานิกังคะ ถืออยู่ป่าช้าเป็นวัตร
12. ยถาสันถติกังคะ ถืออยู่ในเสนาสนะแล้วแต่เขาจัดให้
13. เนสัชชิกังคะ ถือการนั่งเป็นวัตร
…………..
“เนสัชชิกังคะ” อ่านว่า เน-สัด-ชิ-กัง-คะ ประกอบด้วยคำว่า เนสัชชิก + อังคะ
(๑) “เนสัชชิก”
เขียนแบบบาลีเป็น “เนสชฺชิก” อ่านว่า เน-สัด-ชิ-กะ ประกอบด้วยคำว่า เนสชฺช + อิก ปัจจัย
(ก) “เนสชฺช” อ่านว่า เน-สัด-ชะ รูปคำเดิมเป็น “นิสชฺชา” อ่านว่า นิ-สัด-ชา รากศัพท์มาจาก นิ (คำอุปสรรค = เข้า, ลง) + สิทฺ (ธาตุ = จม) + ณฺย ปัจจจัย, ลบ ณ, แปลง สิทฺ เป็น สทฺ, แปลง ทยฺ (คือ ทฺ ที่สุดธาตุกับ ย ที่ ณฺย ปัจจัย) เป็น ชชฺ + อา ปัจจัยเครื่องหมายอิตถีลิงค์
: นิ + สิทฺ = นิสิทฺ + ณฺย = นิสิทณฺย > นิสิทฺย > นิสทฺย > นิสชฺช + อา = นิสชฺชา แปลตามศัพท์ว่า “การนั่ง” หมายถึง การนั่งลง, โอกาสที่จะนั่ง, ที่นั่ง (sitting down, opportunity for sitting, seat)
(ข) นิสชฺชา + อิก ปัจจัย, “ลบสระหน้า” คือ อา ที่ นิสชฺชา (นิสชฺชา > นิสชฺช), แผลง อิ ที่ นิ เป็น เอ (นิ > เน)
: นิสชฺชา > นิสชฺช + อิก = นิสชฺชิก > เนสชฺชิก แปลว่า “ผู้ถือการนั่งเป็นวัตร”
พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ ขยายความ “เนสชฺชิก” ว่า being & remaining in a sitting position [as an ascetic practice] (คงอยู่ในท่านั่งหรือการนั่งเป็นวัตร [เป็นการปฏิบัติของโยคี])
(๒) “อังคะ”
เขียนแบบบาลีเป็น “องฺค” อ่านว่า อัง-คะ รากศัพท์มาจาก องฺคฺ (ธาตุ = ไป, ถึง, เป็นไป; รู้) + อ (อะ) ปัจจัย
: องฺคฺ + อ = องฺค (นปุงสกลิงค์) แปลตามศัพท์ว่า (1) “ร่างที่เดินได้” (2) “เหตุเป็นเครื่องรู้ที่เกิด” (คือทำให้รู้ต้นกำเนิด) (3) “ส่วนอันเขารู้ว่าเป็นส่วนย่อย”
“องฺค” ในบาลีหมายถึง –
(1) ส่วนของร่างกาย, อวัยวะ (a constituent part of the body, a limb)
(2) ชิ้นส่วน, ส่วนประกอบ (member, part)
(3) องค์ประกอบของทั้งหมด หรือของระบบ หรือส่วนย่อยที่ประกอบเข้าเป็นส่วนใหญ่ (a constituent part of a whole or system or collection)
เนสชฺชิก + องฺค = เนสชฺชิกงฺค (เน-สัด-ชิ-กัง-คะ) แปลว่า “องค์แห่งผู้ถือการนั่งเป็นวัตร” หมายถึง วิธีปฏิบัติธุดงค์ว่าด้วยการนั่งเป็นปกติ เว้นจากอิริยาบถนอน
“เนสชฺชิกงฺค” ใช้ในภาษาไทยเป็น “เนสัชชิกังคะ”
ขยายความ :
“เนสัชชิกังคะ” เป็นธุดงค์ข้อที่ 13 ในจำนวนธุดงค์ 13 ข้อ
พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ ของท่าน ป.อ. ปยุตฺโต บอกความหมายของ “ธุดงค์” และ “เนสัชชิกังคะ” ไว้ดังนี้
…………..
(1) ธุดงค์ : องค์คุณเครื่องกำจัดกิเลส, ข้อปฏิบัติเข้มงวด ที่สมัครใจสมาทานประพฤติประจำตัว ชั่วระยะกาลสั้น หรือยาว หรือแม้ตลอดชีวิต ก็ได้ เป็นอุบายขัดเกลากิเลส ส่งเสริมความมักน้อยสันโดษ เป็นต้น มี 13 ข้อ
(2) เนสัชชิกังคะ : องค์แห่งภิกษุผู้ถือการนั่ง คือ ถือ นั่ง ยืน เดิน เท่านั้น แม้จะพักผ่อน ก็ไม่นอน, คำสมาทานว่า “เสยฺยํ ปฏิกฺขิปามิ, เนสชฺชิกงฺคํ สมาทิยามิ” แปลว่า “ข้าพเจ้างดการนอน สมาทานองค์แห่งผู้ถือการนั่งเป็นวัตร” (ข้อ ๑๓ ใน ธุดงค์ ๑๓)
…………..
พจนานุกรมพุทธศาสตร์ ฉบับประมวลธรรม ของท่าน ป.อ. ปยุตฺโต ข้อ [342] แสดง “เนสัชชิกังคะ” ธุดงค์ข้อที่ 13 ไว้ดังนี้ –
…………..
13. เนสัชชิกังคะ (องค์แห่งผู้ถือการนั่งเป็นวัตร คือเว้นนอน อยู่ด้วยเพียง 3 อิริยาบถ คำสมาทานว่า “เสยฺยํ ปฏิกฺขิปามิ, เนสชฺชิกงฺคํ สมาทิยามิ” แปลว่า “ข้าพเจ้างดการนอน สมาทานองค์แห่งผู้—” — Nesajjikaṅga: sitter’s practice)
…………..
ธุดงค์นี้ ดูเผินๆ ก็ใกล้ไปทางอัตตกิลมถานุโยค (การประกอบตนให้ลำบากเปล่า คือ ความพยายามเพื่อบรรลุผลที่หมายด้วยวิธีทรมานตนเอง) แต่อัตตกิลมถานุโยคไม่ใช่คำสอนในพระพุทธศาสนา ดังนั้น “เนสัชชิกังคะ = องค์แห่งผู้ถือการนั่งเป็นวัตร” จึงไม่ใช่การประกอบตนให้ลำบากเปล่า หากแต่เป็นอุบายวิธีที่จะใช้เวลาไปเพื่อปฏิบัติจิตภาวนาให้ได้มากที่สุด โดยใช้เวลาพักผ่อนตามธรรมชาติของร่ายกายให้น้อยที่สุด นั่นคือ พักผ่อนโดยวิธีที่ไม่ต้องนอน หรืออีกนัยหนึ่งคือ หลับได้โดยไม่ต้องนอน
ธุดงค์ข้อนี้ ในหมู่นักปฏิบัติธรรมนิยมเรียกกันสั้นๆ ว่า “เน” เช่น วันพระนี้จะเนหรือไม่เน
…………..
ดูก่อนภราดา!
ทุกครั้งที่นอน โปรดอย่าลืมว่า –
: มีบางคนต้องตื่น
: เพื่อให้บางคนได้นอน
#บาลีวันละคำ (4,122)
25-9-66
…………………………….
…………………………….