บาลีวันละคำ

วิปลาส (บาลีวันละคำ 591)

วิปลาส

อ่านว่า วิ-ปะ-ลาด, วิบ-ปะ-ลาด

บาลีเป็น “วิปลฺลาส” อ่านว่า วิ-ปัน-ลา-สะ

วิปลฺลาส” รากศัพท์มาจาก วิ (= พิเศษ, แจ้ง, ต่าง) + ปริ (= รอบ) + อสุ (ธาตุ = ซัด, ขว้างไป) + ณ ปัจจัย

: วิ + ปริ > วิปรฺย > วิปลฺย > วิปล > วิปลฺล + อสุ > อส > (วิปลฺล +) อาส = วิปลฺลาส 

วิปลฺลาส” แปลตามศัพท์ว่า “อาการที่ขว้างไปผิด” หมายถึง ความแปรปรวน, ความพลิกผัน, การกลับกัน, ความเปลี่ยนแปลง (ในทางไม่ดี), ความตรงกันข้าม, ความวิปริต, การทำให้ยุ่งเหยิง, ความเสียหาย, ความผิดเพี้ยน

วิปลฺลาส ภาษาไทยเขียน “วิปลาส” พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2542 บอกไว้ว่า

วิปลาส : คลาดเคลื่อนไปจากธรรมดาสามัญ เช่น สติวิปลาส ตัวอักษรวิปลาส สัญญาวิปลาส

ในทางธรรม วิปลาส หมายถึงกิริยาที่ยึดถือโดยอาการวิปริตผิดจากความเป็นจริง, ความเห็นหรือความเข้าใจคลาดเคลื่อนจากสภาพที่เป็นจริง ท่านแจงไว้เป็น 3 อย่าง คือ –

1. สัญญาวิปลาสสำคัญผิด

2. จิตวิปลาสคิดผิด

3. ทิฐิวิปลาสเห็นผิด

วิปลาสแต่ละอย่างเป็นไปใน 4 เรื่อง คือ –

1. เห็นสิ่งแปรปรวนเป็นสิ่งยั่งยืน

2. เห็นทุกข์เป็นสุข

3. เห็นว่าชีวิตมีตัวแท้อมตะ

4. เห็นสิ่งไม่งามเป็นงาม

—————–

28 ธันวาคม “วันสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช

เป็นวันที่พระองค์ทรงปราบดาภิเษกขึ้นเป็นพระมหากษัตริย์

พงศาวดารบันทึกว่า ตอนปลายรัชกาล พระองค์มีพระสติวิปลาส

—————–

วิปลาส : แค่รู้ ก็หลุด แต่ยากสุดตรงที่..กว่าจะรู้

28-12-56

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย