บาลีวันละคำ

อัชชะ มะยา (บาลีวันละคำ 4,155)

อัชชะ มะยา

คู่ขาของ “ปฏิสังขาโย”

อ่านตรงตัวว่า อัด-ชะ มะ-ยา

ประกอบด้วยคำว่า “อัชชะ” คำหนึ่ง “มะยา” อีกคำหนึ่ง

(๑) “อัชชะ

เขียนแบบบาลีเป็น “อชฺช” อ่านว่า อัด-ชะ เป็นศัพท์จำพวกนิบาตบอกกาล แปลว่า “วันนี้” (to-day, now)

(๒) “มะยา

เขียนแบบบาลีเป็น “มยา” อ่านว่า มะ-ยา เป็นปุริสสรรพนาม (ปุ-ริ-สะ-สับ-พะ-นาม) แทนตัวผู้พูด บาลีไวยากรณ์เรียกว่า “อุตตมบุรุษ” รูปคำเดิมคือ “อมฺห” อ่านว่า อำ-หะ หรือจะออกเสียงเป็น อำ-หฺมะ ก็ได้ นักเรียนบาลีเรียกติดปากว่า “อมฺห ศัพท์” เทียบคำอังกฤษคือ I (ไอ) 

อมฺห” แจกด้วยวิภัตตินามที่สาม (ตติยาวิภัตติ) เอกพจน์ เปลี่ยนรูปเป็น “มยา” แปลว่า “อันข้าพเจ้า” (by me)

จะเข้าใจความหมายของ “อัชชะ มะยา” (อชฺช  มยา) ต้องศึกษาจากบทพิจารณาโดยตรง

ขยายความ :

อัชชะ มะยา” เป็นคำขึ้นต้นบท “อะตีตะปัจจเวกขณะ” (อะ-ตี-ตะ-ปัด-จะ-เวก-ขะ-นะ) ที่พระสงฆ์จะต้องสวดพิจารณาภายหลังจากบริโภคใช้สอยปัจจัยสี่ นิยมสวดในเวลาเย็นหรือค่ำซึ่งเป็นกำหนดหมดเวลาทำกิจประจำวัน

อัชชะ มะยา” ตัดมาจากคำว่า “อัชชะ  มะยา  อะปัจจะเวกขิต๎วา  ยัง  จีวะรัง  ปะริภุตตัง” (มีข้อความต่อไปอีก)

ขอนำบทอะตีตะปัจจเวกขณะเฉพาะบทพิจารณาบิณฑบาต (อาหาร) พร้อมทั้งคำแปลมาเสนอในที่นี้เป็นตัวอย่าง เพื่อเจริญปัญญา

…………..

อัชชะ  มะยา  อะปัจจะเวกขิต๎วา  โย  ปิณฑะปาโต  ปะริภุตโต

บิณฑบาตใด อันเราฉันแล้ว ไม่ทันพิจารณาในวันนี้

โส  เนวะ  ท๎วายะ  

บิณฑบาตนั้น เราฉันแล้ว ไม่ใช่เป็นไปเพื่อความเพลิดเพลินสนุกสนาน

นะ  มะทายะ  

ไม่ใช่เป็นไปเพื่อความเมามันเกิดกำลังพลังทางกาย

นะ  มัณฑะนายะ  

ไม่ใช่เป็นไปเพื่อประดับ

นะ  วิภูสะนายะ

ไม่ใช่เป็นไปเพื่อตกแต่ง

ยาวะเทวะ  อิมัสสะ  กายัสสะ  ฐิติยา  

แต่ให้เป็นไปเพียงเพื่อความตั้งอยู่ได้แห่งกายนี้

ยาปะนายะ

เพื่อความเป็นไปได้ของอัตภาพ

วิหิงสุปะระติยา  

เพื่อความสิ้นไปแห่งความลำบากทางภาย

พ๎รัห๎มะจะริยานุคคะหายะ

เพื่ออนุเคราะห์แก่การประพฤติพรหมจรรย์

อิติ  ปุราณัญจะ  เวทะนัง  ปะฏิหังขามิ 

ด้วยการทำอย่างนี้ เราย่อมระงับเสียได้ซึ่งทุกขเวทนาเก่า คือความหิว

นะวัญจะ  เวทะนัง  นะ  อุปปาเทสสามิ 

และไม่ทำทุกขเวทนาใหม่ให้เกิดขึ้น

ยาต๎รา  จะ  เม  ภะวิสสะติ  อะนะวัชชะตา  จะ  ผาสุวิหาโร  จาติ  ฯ

อนึ่ง ความเป็นไปโดยสะดวกแห่งอัตภาพนี้ด้วย ความเป็นผู้หาโทษมิได้ด้วย และความเป็นอยู่โดยผาสุกด้วย จักมีแก่เรา ดังนี้

คำแปล: จากหนังสือปัจเวกขณปาฐะ (แปล)

ของ สำนักโมกขพลาราม

ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 7 พ.ศ.2511

…………..

แถม :

ถ้านึกถึงคำว่า “ปฏิสังขาโย

ขอให้นึกถึงคำว่า “อัชชะ มะยา” แถมเข้าไปด้วยอีกคำหนึ่ง

…………..

ดูก่อนภราดา!

: แต่ละคืนก่อนนอนอย่านอนเปล่า

: คิดถึงคุณของข้าวแล้วจึงนอน

#บาลีวันละคำ (4,155)

28-10-66

…………………………….

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

…………………………….

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *