บาลีวันละคำ

จตุตถสังคีติกถา (บาลีวันละคำ 4,186)

จตุตถสังคีติกถา

ทบทวนความรู้เรื่องสังคายนา

อ่านว่า จะ-ตุด-ถะ-สัง-คี-ติ-กะ-ถา

ประกอบด้วยคำว่า จตุตถ + สังคีติ + กถา

(๑) “จตุตถ” 

เขียนแบบบาลีเป็น “จตุตฺถ” (มีจุดใต้ ตฺ ตัวหลัง) อ่านว่า จะ-ตุด-ถะ รากศัพท์มาจาก จตุ (ศัพท์สังขยา คือศัพท์บอกจำนวน) = สี่ (จำนวน 4) + (ถะ) ปัจจัยในปูรณตัทธิต, ซ้อน ตฺ ระหว่างศัพท์หน้ากับปัจจัย (จตุ + ตฺ +

: จตุ + ตฺ + = จตุตฺถ แปลว่า “ที่สี่” (the fourth)

จตุตฺถ” เป็นคุณศัพท์ ในที่นี้เป็นคำขยายคำว่า “วาร” (วา-ระ) = วาระ, ครั้ง, หน (the time) แต่ไม่ปรากฏคำว่า “วาร” เพราะละไว้ฐานเข้าใจ เพราะฉะนั้น “จตุตฺถ” จึงแปลว่า “ครั้งที่สี่” (the fourth time) 

(๒) “สังคีติ” 

เขียนแบบบาลีเป็น “สงฺคีติ” อ่านว่า สัง-คี-ติ รากศัพท์มาจาก –

(1) สํ (คำอุปสรรค = พร้อมกัน, ร่วมกัน) + เค (ธาตุ = ส่งเสียง) + อิ อาคม + ติ ปัจจัย, ลบ เอ ที่ เค (เค > ), ทีฆะ อิ อาคมเป็น อี, แปลงนิคหิตที่ สํ เป็น งฺ (สํ > สงฺ)

: สํ + เค = สํเค > สํค + อิ = สํคิ + ติ = สํคิติ > สํคีติ > สงฺคีติ แปลตามศัพท์ว่า “การเปล่งเสียงพร้อมกัน” 

(2) สํ (คำอุปสรรค = พร้อมกัน, ร่วมกัน) + คา (ธาตุ= ส่งเสียง) + อิ อาคม + ติ ปัจจัย, ลบ อา ที่ คา (คา > ), ทีฆะ อิ อาคมเป็น อี, แปลงนิคหิตที่ สํ เป็น งฺ (สํ > สงฺ)

: สํ + คา = สํคา > สํค + อิ = สํคิ + ติ = สํคิติ > สํคีติ > สงฺคีติ แปลตามศัพท์ว่า “เสียงที่เปล่งออกมาพร้อมกัน” 

พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “สงฺคีติ” (อิตถีลิงค์) ไว้ดังนี้ – 

(1) a song, chorus, music (เพลงขับ, การร้องพร้อม ๆ กัน, ดนตรี)

(2) proclamation, rehearsal, general convocation of the Buddhist clergy in order to settle questions of doctrine and to fix the text of the Scriptures. (การป่าวประกาศ, การสังคายนา, การประชุมสงฆ์เพื่อชำระพระไตรปิฎก)

(3) text rehearsed, recension (พระคัมภีร์ที่ชำระแล้ว, การสังคายนา) 

(4) text, formula (คัมภีร์, สูตร)

ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า – 

สังคีติ : (คำนาม) สังคายนา, การสวดพร้อมกันและเป็นแบบเดียวกัน, การประชุมชำระพระไตรปิฎกให้เป็นแบบเดียวกัน. (ป.).”

ที่คำว่า “สังคายนา” พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า – 

สังคายนา, สังคายนาย : (คำนาม) การซักซ้อม, การสวดพร้อมกันและเป็นแบบเดียวกัน, การประชุมชำระพระไตรปิฎกให้เป็นแบบเดียวกัน. (ปาก) ก. สะสาง เช่น เรื่องนี้ต้องสังคายนากันเสียที. (ป. สงฺคายน).”

(๓) “กถา” 

อ่านว่า กะ-ถา รากศัพท์มาจาก กถฺ (ธาตุ = กล่าว) + (อะ) ปัจจัย + อา ปัจจัยเครื่องหมายอิตถีลิงค์

: กถฺ + = กถ + อา = กถา แปลตามศัพท์ว่า “เรื่องอันท่านกล่าวไว้

กถา” ในภาษาบาลีใช้ในความหมายดังนี้ –

(1) การพูด, การคุย, การสนทนา (talk, talking, conversation)

(2) ถ้อยคำ, เทศนา, ปาฐกถา (speech, sermon, discourse, lecture)

(3) เรื่องยาวๆ (a longer story)

(4) คำพูด, ถ้อยคำ, คำแนะนำ (word, words, advice)

(5) การอธิบาย, การขยายเนื้อความ (explanation, exposition)

(6) การสนทนาหรืออภิปราย (discussion)

ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า – 

กถา : (คำนาม) ถ้อยคํา, เรื่อง, คําอธิบาย, คํากล่าว. (ป.).”

การประสมคำ :

จตุตฺถ + สงฺคีติ = จตุตฺถสงฺคีติ (จะ-ตุด-ถะ-สัง-คี-ติ) แปลว่า “การสังคายนาครั้งที่สี่

จตุตฺถสงฺคีติ + กถา = จตุตฺถสงฺคีติกถา (จะ-ตุด-ถะ-สัง-คี-ติ-กะ-ถา) แปลว่า “เรื่องราวว่าด้วยการสังคายนาครั้งที่สี่” เรียกสั้น ๆ ว่า เรื่องสังคายนาครั้งที่สี่

จตุตฺถสงฺคีติกถา” ใช้ในภาษาไทยเป็น “จตุตถสังคีติกถา” 

แถม :

จตุตฺถสงฺคีติกถา” (เขียนแบบบาลี) ถอดเป็นอักษรโรมันเป็นคำ ๆ

จตุตฺถ = catuttha 

สงฺคีติ = sangīti 

กถา = kathā

เขียนเป็นคำเดียวกัน

จตุตฺถสงฺคีติกถา

catutthasangītikathā

ควรสังเกตอักษรโรมัน

c = จ

th = ถ

ī มีขีดบน บังคับให้เป็นสระ อี gī = คี 

ถ้าไม่มีขีดบน gi อ่านว่า คิ

ā มีขีดบน บังคับให้เป็นสระ อา thā = ถา

ถ้าไม่มีขีดบน tha อ่านว่า ถะ

ขยายความ :

การประชุมรวบรวมและจัดหมวดหมู่คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าโดยพร้อมกันทบทวนสอบทานจนยอมรับและวางลงเป็นแบบแผนอันหนึ่งอันเดียว เรียกว่า “สังคีติ” หรือ “สังคายนา” ขอยกข้อความตอนหนึ่งที่คำว่า “สังคายนา” จากพจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ ของท่าน ป.อ. ปยุตฺโต มาเสนอในที่นี้เพื่อประดับความรู้ ดังนี้ –

…………..

สังคายนาในยุคต้น ซึ่งถือเป็นสำคัญในการรักษาสืบทอดพระธรรมวินัย คือ ครั้งที่ ๑ ถึง ๕ ดังนี้:

ครั้งที่ ๑ ปรารภเรื่องสุภัททภิกษุผู้บวชเมื่อแก่กล่าวจ้วงจาบพระธรรมวินัย และปรารภที่จะทำให้ธรรมรุ่งเรืองอยู่สืบไป พระอรหันต์ ๕๐๐ รูป มีพระมหากัสสปะเป็นประธาน และเป็นผู้ถาม พระอุบาลีเป็นผู้วิสัชนาพระวินัย พระอานนท์เป็นผู้วิสัชนาพระธรรม ประชุมสังคายนาที่ถ้ำสัตตบรรณคูหา ภูเขาเวภารบรรพต เมืองราชคฤห์ เมื่อหลังพุทธปรินิพพาน ๓ เดือน โดยพระเจ้าอชาตศัตรูเป็นศาสนูปถัมภก์ สิ้นเวลา ๗ เดือนจึงเสร็จ

ครั้งที่ ๒ ปรารภพวกภิกษุวัชชีบุตรแสดงวัตถุ ๑๐ ประการ นอกธรรม นอกวินัย พระยศกากัณฑกบุตรเป็นผู้ชักชวนได้พระอรหันต์ ๗๐๐ รูป พระเรวตะเป็นผู้ถาม พระสัพพกามีเป็นผู้วิสัชนา ประชุมทำที่วาลิการาม เมืองเวสาลี เมื่อ พ.ศ. ๑๐๐ โดยพระเจ้ากาลาโศกราช เป็นศาสนูปถัมภก์ สิ้นเวลา ๘ เดือนจึงเสร็จ

ครั้งที่ ๓ ปรารภเดียรถีย์มากมายปลอมบวชในพระศาสนาเพราะมีลาภสักการะเกิดขึ้นมาก พระอรหันต์ ๑,๐๐๐ รูป มีพระโมคคัลลีบุตรติสสเถระเป็นประธาน ประชุมทำที่อโศการามเมืองปาฏลีบุตร เมื่อประมาณ พ.ศ. ๒๓๔ (พ.ศ. ๒๑๘ เป็นปีที่พระเจ้าอโศกขึ้นครองราชย์) โดยพระเจ้าอโศก หรือศรีธรรมาโศกราชเป็นศาสนูปถัมภก์ สิ้นเวลา ๙ เดือนจึงเสร็จ

ครั้งที่ ๔ ปรารภให้พระศาสนาประดิษฐานมั่นคงในลังกาทวีป พระสงฆ์ ๖๘,๐๐๐ รูป มีพระมหินทเถระเป็นประธานและเป็นผู้ถาม พระอริฏฐะเป็นผู้วิสัชนา ประชุมทำที่ถูปาราม เมืองอนุราธบุรี เมื่อ พ.ศ. ๒๓๖ โดยพระเจ้าเทวานัมปิยติสสะเป็นศาสนูปถัมภก์ สิ้นเวลา ๑๐ เดือนจึงเสร็จ

ครั้งที่ ๕ ปรารภพระสงฆ์แตกกันเป็น ๒ พวกคือ พวกมหาวิหารกับพวกอภัยคีรีวิหาร และคำนึงว่าสืบไปภายหน้ากุลบุตรจะถอยปัญญา ควรจารึกพระธรรมวินัยลงในใบลาน พระอรหันต์ ๕๐๐ รูป ประชุมกันสวดซ้อมแล้วจารพุทธพจน์ลงในใบลาน ณ อาโลกเลณสถาน ในมลยชนบท ในลังกาทวีป เมื่อ พ.ศ. ๔๕๐ (ว่า ๔๓๖ ก็มี) โดยพระเจ้าวัฏฏคามณีอภัย เป็นศาสนูปถัมภก์; บางคัมภีร์ว่า สังคายนาครั้งนี้จัดขึ้นในความคุ้มครองของคนที่เป็นใหญ่ในท้องถิ่น (ครั้งที่ ๔ ได้รับความยอมรับในแง่เหตุการณ์น้อยกว่าครั้งที่ ๕)

…………..

หมายเหตุ: ที่ยกคำว่า “จตุตถสังคีติกถา” มาเขียนเป็นบาลีวันละคำนี้ ไม่มีเหตุผลพิเศษใด ๆ เป็นแต่ระลึกขึ้นมาว่า คำบาลีที่แปลว่า ที่หนึ่ง (ปฐม) ที่สอง (ทุติย) ที่สาม (ตติย) ก็เคยยกมาเขียนแล้ว “ที่สี่” (จตุตฺถ) ควรจะเป็นคำอะไรดี นึกไปถึงการทำสังคายนาในประวัติศาสตร์พระพุทธศาสนาซึ่งทำกันมาหลายครั้ง ทำในอินเดีย 3 ครั้ง ต่อจากนั้นคือตั้งแต่ครั้งที่ 4 เป็นต้นไปก็ไปทำในดินแดนอื่น คิดดังนี้จึงเอาคำว่า “จตุตถสังคีติกถา” (เรื่องสังคายนาครั้งที่สี่) ขึ้นตั้ง พอได้อาศัยภาษาพาไปหาความรู้ต่อไป แล้วยกเอาเรื่องการทำสังคายนา 5 ครั้งจากพจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ ของท่าน ป.อ. ปยุตฺโต ซึ่งท่านสรุปแต่ละครั้งไว้สั้น ๆ กระชับดี มาประกอบเป็นความรู้ ทั้งนี้ ไม่ได้ตั้งใจจะพูดเฉพาะ “จตุตถสังคีติกถา” เป็นพิเศษแต่ประการใด ขอญาติมิตรทั้งปวงพึงเข้าใจตามนี้เทอญ

…………..

ดูก่อนภราดา!

: ผู้มีบุญบารมีมาเกิดเมื่อไร

: การคณะสงฆ์เมืองไทยคงจะสังคายนากันสักที

#บาลีวันละคำ (4,186)

28-11-66

…………………………….

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

…………………………….

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *