บาลีวันละคำ

นะมามิหัง (บาลีวันละคำ 4,185)

นะมามิหัง

หญ้าปากคอกอีกคำหนึ่ง

นะมามิหัง” เขียนแบบบาลีเป็น “นมามิหํ” อ่านว่า นะ-มา-มิ-หัง แยกศัพท์เป็น “นมามิ + อหํ 

(๑) “นมามิ” 

อ่านว่า นะ-มา-มิ เป็นคำกริยาอาขยาต รากศัพท์มาจาก นมฺ (ธาตุ = นอบน้อม, ไหว้) + (อะ) ปัจจัยประจำหมวดธาตุ (กัตตุวาจก) + มิ (วิภัตติอาขยาตหมวดวัตตมานา ประธานในประโยคคือ “อหํ”), ทีฆะ อะ ที่ (น)-มฺ เป็น อา ด้วยอำนาจ มิ วิภัตติ (นมฺ > นมา)

: นมฺ + + มิ = นมมิ > นมามิ (นะ-มา-มิ) แปลว่า “ย่อมนอบน้อม” “ย่อมไหว้

ขยายความแทรก :

คำว่า “กริยา” ในการเรียนบาลีนิยมใช้เป็นรูปบาลี คือ “กิริยา” คำกิริยาในบาลีมี 2 ประเภท คือ กิริยาอาขยาต (กิ-ริ-ยา-อา-ขะ-หฺยาด) และกิริยากิตก์ (กิ-ริ-ยา-กิด)

คำว่า “อาขยาต” พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า – 

อาขยาต : (คำวิเศษณ์) กล่าวแล้ว. (คำนาม) ชื่อคำกริยาประเภทหนึ่งในไวยากรณ์บาลีและสันสกฤต ประกอบด้วย ธาตุ วิภัตติ กาล บท พจน์ บุรุษ วาจก ปัจจัย เพื่อเป็นเครื่องหมายบอกเนื้อความให้ชัดเจน เช่น กโรติ = ย่อมกระทำ ประกอบด้วย กรฺธาตุ ติวิภัตติ ปัจจุบันกาล ปรัสสบท เอกพจน์ ปฐมบุรุษ กัตตุวาจก โอปัจจัย. (ป., ส.).”

ความหมายของ “อาขยาต” ตามนิยามหรือคำจำกัดความของพจนานุกรมฯ พึงศึกษาไว้พอเป็นอุปนิสัยปัจจัย ส่วนผู้ประสงค์เรียนบาลีให้ก้าวหน้าถึงขั้นเข้าสอบพระปริยัติธรรมพึงศึกษาจากครูบาอาจารย์หรือจากตำราเรียนโดยตรงนั้นเถิด

ส่วนคำว่า “กิตก์” หรือ “กิริยากิตก์” พจนานุกรมฯ ไม่ได้เก็บไว้ นี่ก็เป็นเหตุผลที่เข้าใจค่อนข้างยาก เพราะอาขยาตกับกิตก์เป็นคำกิริยาที่คู่กัน เอ่ยถึงกิริยาประเภทหนึ่งก็ต้องผูกพันไปถึงอีกประเภทหนึ่งอยู่ในที เห็นคำว่า “อาขยาต” จะไม่เห็นคำว่า “กิตก์” ก็ดูชอบกลอยู่ ไฉนจึงไม่เก็บคำว่า “กิตก์” เหมือนที่เก็บคำว่า “อาขยาต” ผู้ต้องการรู้เหตุผลพึงศึกษาตรวจสอบต่อไปเถิด

นมามิ” เป็นคำกิริยาปัจจุบันกาล หมายถึง กำลังไหว้อยู่ หรือไหว้อยู่เสมอ ไหว้เป็นนิตย์ คือทำอยู่เป็นประจำ

(๒) “อหํ” 

อ่านว่า อะ-หัง แปลว่า “ข้าพเจ้า” เป็นสัพพนามในจำพวก “ปุริสสัพพนาม” ซึ่งมี 3 คำ คือ – 

(1) “” อ่านว่า ตะ นักเรียนบาลีนิยมเรียกว่า “ตะ-ศัพท์” คำแปลในแบบเรียนว่า เขา, มัน (he, she, it) = ผู้ที่เราพูดถึง

(2) “ตุมฺห” อ่านว่า ตุม-หะ หรือ ตุม-หฺมะ นิยมเรียกว่า “ตุมหะ-ศัพท์” คำแปลในแบบเรียนว่า เจ้า, ท่าน, สู, เอ็ง, มึง (you) = ผู้ที่เราพูดด้วย

(3) “อมฺห” อ่านว่า อำ-หะ หรือ อำ-หฺมะ นิยมเรียกว่า “อัมหะ-ศัพท์” คำแปลในแบบเรียนว่า ฉัน, ข้า, กู (I) = ตัวเราผู้พูด

ในที่นี้ “อหํ” รูปคำเดิมคือ “อมฺห” แจกด้วยวิภัตตินามที่หนึ่ง (ปฐมาวิภัตติ) เอกวจนะ เปลี่ยนรูปเป็น “อหํ” ถ้าเป็นพหูพจน์เปลี่ยนรูปเป็น “มยํ” (มะ-ยัง) เช่นในคำว่า “มยํ ภนฺเต …” ที่เราคุ้นหูกันอยู่

นมามิ” สนธิกับ “อหํ” ลบ – ที่ อหํ (อหํ > หํ) หรือพูดให้ถูกว่า “-” ไม่ปรากฏตัวเสมือนว่าถูกลบออก แต่ความจริงไม่ได้ถูกลบ เพราะเมื่อแยกศัพท์ก็คงเป็น “อหํ” เหมือนเดิม

: นมามิ + อหํ = นมามิหํ 

: นมามิหํ < นมามิ + อหํ 

แปลยกศัพท์ (แปลโดยพยัญชนะ) :

อหํ = อันว่าข้าพเจ้า 

นมามิ = ย่อมนอบน้อม, ย่อมไหว้

แปลโดยอรรถ :

นมามิหํ = ข้าพเจ้าขอนอบน้อม, ข้าพเจ้าขอไหว้ (ไหว้ใครหรือไหว้สิ่งใด ก็ระบุลงไป)

เสริมความรู้ :

อหํ” (I) เป็นเอกวจนะหรือเอกพจน์ เป็นประธานในประโยค คำกิริยาจึงเป็น “นมามิ” (คนเดียว –มิ) ซึ่งเป็นเอกวจนะเช่นเดียวกัน

ถ้าประธานในประโยคเป็นพหุวจนะหรือพหูพจน์ คือ “มยํ” (มะ-ยัง) (We) คำกิริยาต้องเปลี่ยนเป็น “นมาม” (นะ-มา-มะ) (หลายคน –)

หลักไวยากรณ์นี้ แม้ไม่มีคำที่เป็นประธานในประโยคปรากฏอยู่ ก็สามารถรู้ได้-โดยอัตโนมัติ

เห็น “นมามิ” ก็รู้ว่าประธานในประโยคต้องเป็น “อหํ” เป็นคำอื่นไม่ได้

เห็น “นมาม” ก็รู้ว่าประธานในประโยคต้องเป็น “มยํ” เป็นคำอื่นไม่ได้

ขยายความ :

นมามิหํ” เขียนแบบไทยเป็น “นะมามิหัง” เป็นคำบาลีที่มักปรากฏอยู่ในคำบูชาต่าง ๆ หรือคำที่นับถือกันว่าเป็นคาถาอาคมต่าง ๆ 

ผู้มีศรัทธากล่าวคำบูชา หรือนักเล่นคาถาอาคมจึงควรรู้ความหมายไว้ เพื่อจะได้มีความมั่นใจว่าเรากำลังพูดหรือท่องอะไรอยู่ 

ความมั่นใจก็จะไปหนุนหรือเสริมให้การกระทำเกิดผลดียิ่งขึ้น

…………..

ดูก่อนภราดา!

คาถา –

: แปลผิด หมดสิทธิ์ขลัง

: แปลออก ขอบอกว่ายิ่งขลัง

#บาลีวันละคำ (4,185)

27-11-66

…………………………….

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

…………………………….

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *