บาลีวันละคำ

ปัณฑวะ (บาลีวันละคำ 4,189)

ปัณฑวะ

หนึ่งในเบญจคีรี

…………..

เบญจคีรี คือภูเขา 5 ลูก ที่ตั้งอยู่รอบเมืองราชคฤห์ ได้แก่ ภูเขาเวภาระ ปัณฑวะ เวปุลละ คิชฌกูฏ และ อิสิคิลิ 

…………..

ปัณฑวะ” เขียนแบบบาลีเป็น “ปณฺฑว” อ่านว่า ปัน-ดะ-วะ รากศัพท์มาจาก –

(๑) ปณฺฑุ + ปัจจัย

(ก) “บัณฑุ” บาลีเป็น “ปณฺฑุ” อ่านว่า ปัน-ดุ รากศัพท์มาจาก ปฑิ (ธาตุ = ไป, ถึง, เป็นไป) + อุ ปัจจัย, ลงนิคหิตอาคมที่ต้นธาตุแล้วแปลงเป็น ณฺ (ปฑิ > ปํฑิ > ปณฺฑิ), ลบสระหน้า คือ อิ ที่ (ป)-ฑิ (ปฑิ > ปฑ)

: ปฑิ > ปํฑิ > ปณฺฑิ > ปณฺฑ + อุ = ปณฺฑุ แปลตามศัพท์ว่า “สีที่ถึงการนับว่าเป็นสีเดียวกัน” (คือเป็นแม่สี มิใช่สีผสม) หมายถึง แดงซีด หรือเหลือง, ค่อนข้างแดง, เหลืองอ่อน, เทา (pale-red or yellow, reddish, light yellow, grey)

บาลี “ปณฺฑุ” ใช้ในภาษาไทยเป็น “บัณฑุ” (บัน-ดุ) พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า – 

บัณฑุ : (คำวิเศษณ์) เหลืองอ่อน, ขาวเหลือง, ซีด. (คำนาม) ช้างเผือก. (ป. ปณฺฑุ; ส. ปาณฺฑุ).”

(ข) ปณฺฑุ + ปัจจัย, ลบ , แปลง อุ ที่ (ปณฺ)-ฑุ เป็น อว (อะ-วะ)

: ปณฺฑุ + = ปณฺฑุณ > ปณฺฑุ > ปณฺฑว (ปุงลิงค์) แปลตามศัพท์ว่า “ภูเขาที่มีสีเหลืองเข้ม” 

(๒) ปณฺฑฺ (ธาตุ = เป็นไป) + อว (อะ-วะ) ปัจจัย

: ปณฺฑฺ + อว = ปณฺฑว (ปุงลิงค์) แปลตามศัพท์ว่า “ภูเขาที่เป็นไปปกติ

ปณฺฑว” ใช้ในภาษาไทยเป็น “ปัณฑวะ” หมายถึง ภูเขาปัณฑวะ หรือ ปัณฑวบรรพต

ขยายความ :

ดูตามแผนที่ เอาเมืองราชคฤห์เป็นศูนย์กลาง –

(1) ภูเขาปัณฑวะอยู่ทางตะวันตกค่อนไปทางใต้ของเมือง 

(2) ถัดจากภูเขาปัณฑวะลงไปทางใต้เป็นภูเขาอิสิคิลิ 

(3) ทางตะวันออกของเมืองเป็นภูเขาคิชฌกูฏ 

(4) เหนือภูเขาคิชฌกูฏขึ้นไปเป็นภูเขาเวปุลละ

(5) ภูเขาเวภาระอยู่ทางตะวันตกของเมือง

พระพุทธเจ้าของเราเมื่อเสด็จออกผนวช ทรงจาริกมาถึงเมืองราชคฤห์ ขณะทรงพำนัก ณ ภูเขาปัณฑวะ พระเจ้าพิมพิสารผู้ครองมคธรัฐเสด็จไปเฝ้า ทูลเชิญให้อยู่ครองราชสมบัติ ตรัสตอบว่าทรงมุ่งพระโพธิญาณ พระเจ้าพิมพิสารทูลขอปฏิญาณว่า ถ้าเมื่อตรัสรู้แล้วขอให้เสด็จมาโปรด เหตุการณ์ตอนนี้เกิดขึ้นที่ภูเขาปัณฑวะ

ในประวัติพระสีวลีพระเถระผู้เป็นเลิศทางมีลาภ อรรถกถาเล่าว่า คราวหนึ่งท่านประสงค์จะทดลองบุญว่าจะมีผู้ถวายทานแก่ท่านได้ทุกแห่งหรือไม่ จึงทูลขอพุทธานุญาตพาภิกษุ 500 รูปเดินทางเข้าป่าหิมพานต์ ท่านหยุดพัก 7 แห่ง ปรากฏว่ามีเทวดาถวายอาหารบิณฑบาตบริบูรณ์แห่งละ 7 วันทุกแห่ง 

1 ใน 7 แห่งนั้น คือที่ภูเขาปัณฑวะ ดังข้อความในคัมภีร์ว่าดังนี้ –

…………..

นิโคฺรธํ  ปฐมํ  ปสฺสิ

ทุติยํ  ปณฺฑวปพฺพตํ

ตติยํ  อจิรวติยํ

จตุตฺถํ  วรสาครํ 

ปญฺจมํ  หิมวนฺตํ  โส

ฉฏฺฐํ  ฉทฺทนฺตุปาคมิ

สตฺตมํ  คนฺธมาทนํ

อฏฺฐมํ  อถ  เรวตํ  ฯ

เทวดาเห็นท่านที่ต้นไทร (ถวายบิณฑบาต 7 วัน) เป็นครั้งที่ 1

ที่ภูเขาปัณฑวะเป็นครั้งที่ 2

ที่แม่น้ำอจิรวดีเป็นครั้งที่ 3

ที่แม่น้ำวรสาครเป็นครั้งที่ 4

ที่ภูเขาหิมวันต์เป็นครั้งที่ 5

ที่สระฉัททันต์เป็นครั้งที่ 6

ที่ภูเขาคันธมาทน์เป็นครั้งที่ 7

และ (ในคราวพระพุทธองค์เสด็จไปโปรด) พระเรวตะเป็นครั้งที่ 8

ที่มา:

– มโนรถปูรณี ภาค 1 หน้า 335

– ปรมัตถทีปนี (เถรคาถาวัณณนา) ภาค 1 หน้า 297

…………..

ดูก่อนภราดา!

: สถานที่ไม่อาจสร้างเหตุการณ์สำคัญได้เอง

: แต่เหตุการณ์สร้างความสำคัญให้สถานที่ได้

#บาลีวันละคำ (4,189)

1-12-66

…………………………….

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

…………………………….

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *