บาลีวันละคำ

เวปุลละ (บาลีวันละคำ 4,188)

เวปุลละ

หนึ่งในเบญจคีรี

…………..

เบญจคีรี คือภูเขา 5 ลูก ที่ตั้งอยู่รอบเมืองราชคฤห์ ได้แก่ ภูเขาเวภาระ ปัณฑวะ เวปุลละ คิชฌกูฏ และ อิสิคิลิ 

…………..

เวปุลละ” เขียนแบบบาลีเป็น “เวปุลฺล” อ่านว่า เว-ปุน-ละ รากศัพท์มาจาก วิ (คำอุปสรรค = วิเศษ, พิเศษ, แจ้ง, ต่าง) + ปุลฺ (ธาตุ = มาก, ใหญ่) + ปัจจัย, แปลง อิ ที่ วิ เป็น เอ (วิ > เว)

: วิ + ปุลฺ = วิปุลฺ + = วิปุลฺล > เวปุลฺล (ปุงลิงค์) แปลตามศัพท์ว่า “ภูเขาที่ใหญ่เป็นพิเศษ” 

แถม :

เวปุลฺล” ในบาลี นอกจากเป็น “อสาธารณนาม” คือเป็นชื่อเฉพาะ (proper name) แล้ว ยังเป็นคำนามสามัญด้วย 

เวปุลฺล” ที่เป็นคำนามสามัญปรุงรูปมาจาก วิปุล + ณฺย ปัจจัย

(1) “วิปุล” อ่านว่า วิ-ปุ-ละ รากศัพท์มาจาก วิ (คำอุปสรรค = วิเศษ, พิเศษ, แจ้ง, ต่าง) + ปุลฺ (ธาตุ = มาก, ใหญ่) + (อะ) ปัจจัย

: วิ + ปุลฺ = วิปุลฺ + = วิปุล (คุณศัพท์) แปลตามศัพท์ว่า “มีมาก” หรือ “ใหญ่” หมายถึง ใหญ่, กว้างขวาง, ยิ่งใหญ่, ล้นเหลือ (large, extensive, great, abundant)

สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน มีศัพท์ว่า “วิปุล” บอกไว้ดังนี้ –

(สะกดตามต้นฉบับ)

วิปุล : (คำคุณศัพท์) ‘วิบุล,’ ใหญ่, กว้าง; ลึก, ซึ้ง; large, great, broad; deep, profound;- (คำนาม) เมรุบรรพต; ภูเขาหิมาลัย; นรผู้ควรบูชา; พสุธา; the mountain Meru; the Himālaya mountain; a respectable man; the earth.”

(2) วิปุล + ณฺย ปัจจัย, ลบ , แปลง ที่ (วิปุ)- กับ ที่ (ณฺ)- เป็น ลฺล , แผลง อิ ที่ วิ-(ปุล) เป็น เอ

: วิปุลฺ + ณฺย = วิปุลณฺย > วิปุลย > วิปุลฺล > เวปุลฺล (นปุงสกลิงค์) แปลว่า ความเพิ่มพูน, ความอุดมสมบูรณ์, ความล้นเหลือ, ความเต็มเปี่ยม (full development, abundance, plenty, fullness) 

ในภาษาไทยมีคำว่า “ไพบูลย์” พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า – 

ไพบูลย์ : (คำนาม) ความเต็มเปี่ยม, ความเต็มที่. (คำวิเศษณ์) เต็มเปี่ยม, เต็มที่. (ส. ไวปุลฺย; ป. เวปุลฺล).”

พจนานุกรมฯ บอกว่า “ไพบูลย์” สันสกฤตเป็น “ไวปุลฺย” บาลีเป็น “เวปุลฺล” ก็คือ “เวปุลฺล” ที่เป็นคำนามสามัญที่แสดงรากศัพท์มานี้

ในวรรณคดีบาลี ศัพท์ “เวปุลฺล” มักใช้ร่วมกันเป็นชุดกับ “วุฑฺฒิ” (วุด-ทิ) และ “วิรุฬฺหิ” (วิ-รุน-หิ) 

: วุฑฺฒิ วิรุฬฺหิ เวปุลฺล เช่น –

วุฑฺฒึ วิรุฬฺหิ เวปุลฺลํ

ปปฺโปตุ พุทฺธสาสเน.

ขอจงบรรลุถึงความเจริญ งอกงาม ไพบูลย์ ในพระพุทธศาสนาเทอญ

วุฑฺฒิ = ความเจริญ

วิรุฬฺหิ = ความงอกงาม

เวปุลฺล = ความเพิ่มพูน > ไพบูลย์

…………..

สรุปว่า “เวปุลฺล” ในบาลี ใช้ใน 2 สถานะ คือ –

(1) เป็นคำนามสามัญ หมายถึง ความเพิ่มพูน

(2) เป็นชื่อเฉพาะ หมายถึง ภูเขาเวปุลละ หรือเวปุลลบรรพต

ขยายความ :

ในปุคคลสูตร สังยุตนิกาย นิทานวรรค พระไตรปิฎกเล่ม 16 ข้อ 442 ระบุว่า ภูเขาเวปุลละอยู่ด้านเหนือของภูเขาคิชฌกูฏ ซึ่งตรงกับข้อเท็จจริงที่ปรากฏ

ในเวปุลลปัพพตสูตร (พระสูตรว่าด้วยภูเขาเวปุลละ) สังยุตนิกาย นิทานวรรค พระไตรปิฎกเล่ม 16 ข้อ 457-460 พระพุทธองค์ตรัสประวัติของภูเขาเวปุลละในอดีตว่า 

สมัยพระพุทธเจ้ากกุสันธะ ภูเขาเวปุลละมีชื่อว่า “ปาจีนวังสะ” มนุษย์สมัยนั้นมีอายุประมาณสี่หมื่นปี ขึ้นปาจีนวังสบรรพตใช้เวลา 4 วันจึงถึงยอด 

สมัยพระพุทธเจ้าโกนาคมนะ ภูเขาเวปุลละมีชื่อว่า “วงกต” มนุษย์สมัยนั้นมีอายุประมาณสามหมื่นปี ขึ้นวงกตบรรพตใช้เวลา 3 วันจึงถึงยอด 

สมัยพระพุทธเจ้ากัสสปะ ภูเขาเวปุลละมีชื่อว่า “สุปัสสะ” มนุษย์สมัยนั้นมีอายุประมาณสองหมื่นปี ขึ้นสุปัสสบรรพตใช้เวลา 2 วันจึงถึงยอด 

สมัยพระพุทธเจ้าพระองค์ปัจจุบัน ภูเขาเวปุลละมีชื่อว่า “เวปุลละ” ดังที่ปรากฏอยู่ มนุษย์สมัยนี้มีอายุประมาณร้อยปี ขึ้นเวปุลลบรรพตใช้เวลาประเดี๋ยวเดียวก็ถึงยอด 

…………..

ดูก่อนภราดา!

มนุษย์สมัยนี้ –

: ใช้เวลาประเดี๋ยวเดียวถึงยอดเวปุลลบรรพต

: ใช้เวลากี่ร้อยปีเป็นกำหนดจึงจะถึงพระนฤพาน?

#บาลีวันละคำ (4,188)

30-11-66

…………………………….

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

…………………………….

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *