บาลีวันละคำ

เมรุ สิเนรุ สุเมรุ (บาลีวันละคำ 4,190)

เมรุ สิเนรุ สุเมรุ

ชื่อภูเขาพระสุเมรุ

แต่ละคำหมายความว่าอย่างไร

(๑) “เมรุ

บาลีอ่านว่า เม-รุ รากศัพท์มาจาก –

(1) มิ (ธาตุ = เบียดเบียน) + รุ ปัจจัย, แผลง อิ (ที่ มิ) เป็น เอ (มิ > เม

: มิ + รุ = มิรุ > เมรุ แปลตามศัพท์ว่า (1) “ภูเขาที่เบียดบังภูเขาทั้งหมดด้วยความสูงกว่าของตน” (2) “ภูเขาที่เบียดเบียนความมืดด้วยรัศมี” 

(2) เม (ธาตุ = แลกเปลี่ยน) + รุ ปัจจัย 

: เม + รุ = เมรุ แปลตามศัพท์ว่า “ภูเขาเป็นที่แลกเปลี่ยนความอภิรมย์กันแห่งพวกเทวดา

เมรุ” เป็นชื่อภูเขากลางจักรวาล คัมภีร์บรรยายว่าสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ตั้งอยู่บนยอดเขาลูกนี้ 

ในภาษาไทย เขียนเป็น “เมรุ” อ่านว่า เมน เขียนเป็น “เมรุ-” (มีคำอื่นมาสมาสข้างท้าย) อ่านว่า เม-รุ- พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

เมรุ, เมรุ– : (คำนาม) ชื่อภูเขากลางจักรวาล มียอดเป็นที่ตั้งแห่งเมืองสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ซึ่งพระอินทร์อยู่; ที่เผาศพ เดิมผูกหุ่นทำเป็นภูเขาเลียนแบบเขาพระสุเมรุ ซึ่งตั้งที่เผาขึ้นบนนั้น ของหลวงทำเป็นเรือนโถง เครื่องยอดหรือมณฑปครอบที่เผา เรียกว่า พระเมรุ, ต่อมาเรียกที่เผาศพทั่วไปทั้งมียอดและไม่มียอดว่า เมรุ. (ป.).”

พจนานุกรมฯ วงเล็บไว้ว่า “ป.” หมายความว่า “เมรุ” เป็นคำบาลี

อันที่จริงคำนี้สันสกฤตก็เป็น “เมรุ” เช่นกัน

สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน บอกความหมายของ “เมรุ” ไว้ดังนี้ –

(สะกดตามต้นฉบับ)

เมรุ : (คำนาม) ภูเขาศักดิ์สิทธิ์ในท่ามกลางเจ็ดทวีป, ชาวฮินดูกล่าวว่ามียอดสูง ๘๔,๐๐๐ โยชน์; แม่น้ำคงคาไหลจากสวรรค์บนยอดภูเขานั้น, และไหลจากนั้นไปยังปริสรสถโลกเปนลำน้ำสี่สาย, เทวดาประจำทิศตั้งรักษามุขต่างๆ แห่งบรรพตนั้น, สากลย์นั้นๆ ล้วนแล้วไปด้วยสุวรรณและมณี; the sacred mountain in the centre of the seven continents, whose height said by Hindus to be 84,00 yojanas; the river Ganges falls from heaven on its summit, and flows thence to the surrounding worlds in four streams, the regents of the points of the compass occupy the corresponding face of the mountain, the whole of which consist of gold and gems.”

(๒) “สิเนรุ

บาลีอ่านว่า สิ-เน-รุ รากศัพท์มาจาก สินา (ธาตุ = ทำให้สะอาด) + เอรุ ปัจจัย, “ลบสระหน้า” คือ อา ที่ (สิ)-นา (สินา > สิน)

: สินา > สิน + เอรุ = สิเนรุ แปลตามศัพท์ว่า “ภูเขาที่ทำพวกเทพให้สะอาด” 

ภาษาไทยอ่านว่า สิ-เน-รุ พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

สิเนรุ : (คำนาม) ชื่อหนึ่งของเขาพระสุเมรุ. (ป.).”

(๓) “สุเมรุ

บาลีอ่านว่า สุ-เม-รุ รากศัพท์มาจาก สุ (ตัดมาจากคำว่า “สุฏฺฐุ” = ด้วยดี) + มิ (ธาตุ = เบียดเบียน) + รุ ปัจจัย, แผลง อิ ที่ มิ เป็น เอ (มิ > เม)

: สุฏฺฐุ > สุ + มิ = สุมิ + รุ = สุมิรุ > สุเมรุ แปลตามศัพท์ว่า “ภูเขาที่เบียดบังด้วยดีซึ่งภูเขาทั้งหมดด้วยความสูงกว่าของตน” 

มีคำขยายความไว้ว่า “สุเมรูติ  เมรุนามํ  อุปสคฺเคน  วฑฺฒิตํ” แปลว่า “คำว่า ‘สุเมรุ’ คือชื่อของภูเขา ‘เมรุ’ ที่เพิ่มอุปสรรคเข้ามา

หมายความว่า “สุเมรุ” ก็คือ “เมรุ” นั่นเอง เพียงแต่เติม “สุ” เข้าข้างหน้า จึงเป็น “สุเมรุ

ภาษาไทยอ่านว่า สุ-เม-รุ พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

สุเมรุ : (คำนาม) เขาสิเนรุ, ชื่อภูเขาซึ่งถือว่าเป็นที่ตั้งแห่งเมืองสวรรค์ชั้นดาวดึงส์. (ไตรภูมิ). (ส.).”

พจนานุกรมฯ วงเล็บไว้ว่า “ส.” หมายความว่า “สุเมรุ” เป็นคำสันสกฤต (คำนี้เป็นบาลีด้วย ดังรากศัพท์ที่แสดงมา)

สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน บอกความหมายของ “สุเมรุ” ไว้ดังนี้ –

(สะกดตามต้นฉบับ)

สุเมรุ : (คำวิเศษณ์) วร, วิศิษฏ์; best, excellent; – (คำนาม) เมรุบรรพต; พระศิวะ; the mountain Meru; Śiva.”

ขยายความ :

คัมภีร์ จกฺกวาฬทีปนี พระสิริมังคลาจารย์ พระเถระนักปราชญ์ชาวล้านนารจนาขึ้นเมื่อ พ.ศ.2063 บรรยายขนาดของภูเขาสิเนรุไว้ดังนี้ –

…………..

          … ประมาณของภูเขาสิเนรุมาในบาลี. จริงอย่างนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ตรัสไว้ในสัตตสุริยสูตรว่า “ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย พญาเขาสิเนรุยาว ๘๔,๐๐๐ โยชน์ กว้าง ๘๔,๐๐๐ โยชน์ หยั่งลงในมหาสมุทร ๘๔,๐๐๐ โยชน์ ขึ้นไปจากมหาสมุทร ๘๔,๐๐๐ โยชน์.” แม้ในอรรถกถาทั้งหลายก็กล่าวไว้ว่า

           “ภูเขายอดสูงสุดชื่อสิเนรุ หยั่งลงในห้วงมหรรณพ ๘๔,๐๐๐ โยชน์ ขึ้นไปจากห้วงมหรรณพเท่ากัน”

          ในที่นี้ ส่วนยาววัดจากด้านใต้ถึงด้านเหนือ ส่วนกว้างวัดจากด้านตะวันออกถึงด้านตะวันตก ส่วนสูงวัดจากพื้นเบื้องล่างถึงยอดเบื้องบน โดยนัยนี้ ส่วนสูงของภูเขาสิเนรุจึงเป็น ๒ เท่าของส่วนยาวหรือส่วนกว้าง ด้วยเหตุนั้น ในอรรถกถาแห่งฌานวิภังค์จึงได้กล่าวไว้ว่า “รวมตั้งแต่พื้นเบื้องล่างถึงยอดเบื้องบน ภูเขาสิเนรุสูง ๑๖๘,๐๐๐ โยชน์.”

ที่มา: จกฺกวาฬทีปนี สำนักหอสมุดแห่งชาติ กรมศิลปากร ตรวจชำระเรียบเรียง พิมพ์ครั้งที่ 2 พ.ศ.2548 หน้า 255

…………..

ผู้สนใจเรื่องภูเขาเมรุ สิเนรุ สุเมรุ พึงศึกษาสืบค้นรายละเอียดต่อไปเถิด

…………..

ดูก่อนภราดา!

: ลมมหาวายุพัดเขาพระสุเมรุให้เอนเอียงไม่ได้ ฉันใด

: ลมปากก็พัดหัวใจมหาบุรุษให้เอียงเอนไม่ได้ ฉันนั้น

#บาลีวันละคำ (4,190)

2-12-66

…………………………….

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

…………………………….

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *