กรวดน้ำ ไม่ใช่ตรวจน้ำ (บาลีวันละคำ 4,330)
กรวดน้ำ ไม่ใช่ตรวจน้ำ
ทำไมจึงไม่ใช่?
คำว่า “กรวด” พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“กรวด ๓ : (คำกริยา) หลั่งน้ำ เช่น น้ำพระเต้าสิโตทกธารามารดริน กรวดลงในมืออินทพฤฒาจารย์. (ม. กาพย์ สักบรรพ). (ข. จฺรวจ).”
คำนิยามที่ว่า “หลั่งน้ำ” ยืนยันว่า “กรวดน้ำ” ใช้ “กรวด” ก-ร-ว-ด ไม่ใช่ “ตรวจ” ต-ร-ว-จ
“ตรวจ” (ต-ร-ว-จ) พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“ตรวจ : (คำกริยา) พิจารณาดูความเรียบร้อย เช่น ตรวจพล ตรวจราชการ, พิจารณาดูว่าถูกหรือผิด ดีหรือร้าย เป็นต้น เช่น ตรวจบัญชี ตรวจแบบฝึกหัด ตรวจดวงชะตา, พิจารณาหาสมุฏฐาน เช่น ตรวจโรค, สำรวจ เช่น ตรวจพื้นที่. (คำนาม) ชื่อเรือชนิดหนึ่ง.”
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2542 มีคำว่า “กรวดน้ำ” บอกไว้ว่า –
“กรวดน้ำ : (คำกริยา) แผ่ส่วนบุญด้วยวิธีหลั่งนํ้า; (ภาษาปาก) โดยปริยายหมายความว่า ตัดขาดไม่ขอเกี่ยวข้องด้วย, มักใช้ว่า กรวดนํ้าควํ่ากะลา หรือ กรวดนํ้าควํ่าขัน.
ต่อมา พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 ปรับแก้คำนิยามเป็นดังนี้ –
“กรวดน้ำ : (คำกริยา) แผ่ส่วนบุญด้วยวิธีหลั่งนํ้า.”
และเก็บคำว่า “กรวดน้ำคว่ำกะลา, กรวดน้ำคว่ำขัน” บอกไวดังนี้ –
“กรวดน้ำคว่ำกะลา, กรวดน้ำคว่ำขัน : (สำนวน) (คำกริยา) ตัดขาดไม่ขอเกี่ยวข้องด้วย.”
แต่คำที่สะกดเป็น “ตรวจน้ำ” ไม่มีเก็บไว้ในพจนานุกรมฯ
เพราะฉะนั้น ขอให้เลิกพูดและเขียนผิด ๆ เป็น “ตรวจน้ำ” กันเสียที
“กรวดน้ำ” กรวด- ก-ร-ว-ด
ไม่ใช่ “ตรวจน้ำ” ตรวจ- ต-ร-ว-จ
ขยายความ :
“กรวดน้ำ” พูดเป็นคำบาลีว่าอย่างไร?
“กรวดน้ำ” เป็นคำไทย พจนานุกรมฯ บอกความหมายว่า “แผ่ส่วนบุญด้วยวิธีหลั่งนํ้า”
คำว่า “แผ่ส่วนบุญ” ตรงกับคำบาลีว่า “ปตฺติทาน” อ่านว่า ปัด-ติ-ทา-นะ แปลตามศัพท์ว่า “การให้ส่วนบุญ” คำกริยาสามัญว่า “ปตฺตึ เทติ” (ปัด-ติง เท-ติ) แปลว่า “ย่อมให้ส่วนบุญ”
ถ้าพูดถึงบุญที่ทำด้วยวิธีแผ่ส่วนบุญ ใช้คำว่า “ปตฺติทานมย” อ่านว่า ปัด-ติ-ทา-นะ-มะ-ยะ แปลว่า “บุญที่สำเร็จด้วยการให้ส่วนบุญ”
คำขยายความที่ว่า “ด้วยวิธีหลั่งนํ้า” พาดพิงไปถึงคำว่า “ทักขิโณทก”
“ทักขิโณทก” เขียนแบบบาลีเป็น “ทกฺขิโณทก” อ่านว่า ทัก-ขิ-โน-ทะ-กะ แยกศัพท์เป็น ทกฺขิณ (บุญทานที่ทำเพื่ออุทิศให้แก่ผู้ตาย) + อุทก (น้ำ)
: ทกฺขิณ + อุทก = ทกฺขิณุทก > ทกฺขิโณทก แปลว่า “นํ้าที่หลั่งในเวลาทำบุญเพื่ออุทิศให้แก่ผู้ตาย”
“ทกฺขิโณทก” ใช้ในภาษาไทยเป็น “ทักขิโณทก” และ “ทักษิโณทก”
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ดังนี้ –
(1) ทักขิโณทก : (คำนาม) นํ้าที่หลั่งในเวลาทำบุญทำทานเพื่ออุทิศส่วนกุศลให้แก่ผู้ตาย, นํ้าที่หลั่งลงเป็นการแสดงว่ามอบให้เป็นสิทธิ์ขาด, นํ้าที่หลั่งลงให้แทนสิ่งของซึ่งใหญ่โตหรือไม่มีรูปที่จะหยิบยกให้ได้ อย่างวัด ศาลา บุญกุศล เป็นต้น. (ป.).
(2) ทักษิโณทก : (คำราชาศัพท์) (คำนาม) นํ้าที่หลั่งการบำเพ็ญพระราชกุศล, นํ้าที่หลั่งลงเป็นการแสดงว่ามอบให้เป็นสิทธิ์ขาด, นํ้ากรวด คือ น้ำที่ใช้แทนสิ่งของที่ให้ซึ่งใหญ่โตหรือสิ่งไม่มีรูปที่จะหยิบยกให้ได้ อย่างวัด ศาลา บุญกุศล เป็นต้น เช่น พระเวสสันดรหลั่งทักษิโณทกยกสองกุมารให้ชูชก, ชื่อของพระเต้าที่พระมหากษัตริย์ทรงหลั่งน้ำเพื่ออุทิศพระราชกุศล เรียกว่า พระเต้าทักษิโณทก. (ส.).
…………..
ดูก่อนภราดา!
: ทำบุญเองเมื่อยังมีชีวิต
: ดีกว่ารอบุญที่คนอื่นอุทิศไปให้
#บาลีวันละคำ (4,330)
20-4-67
…………………………….
…………………………….