ฉากทัศน์ (บาลีวันละคำ 4,424)
ฉากทัศน์
คำบัญญัติไขว้สายพันธุ์
อ่านตามหลักภาษาว่า ฉาก-ทัด
อ่านตามสะดวกปากว่า ฉาก-กะ-ทัด
ประกอบด้วยคำว่า ฉาก + ทัศน์
(๑) “ฉาก”
เป็นคำไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 เก็บคำว่า “ฉาก” ไว้ 2 คำ บอกไว้ดังนี้ –
(1) ฉาก ๑ : (คำนาม) เครื่องบังหรือเครื่องกั้น มีหลายชนิด ใช้ตั้ง แขวน หรือพับได้, เครื่องประกอบเวทีละครเพื่อให้ดูสมจริงตามเนื้อเรื่อง เช่น ฉากป่า ฉากเมือง; เครื่องสำหรับวัดมุมซึ่งมี ๙๐ องศา, มุมซึ่งกางได้ ๙๐ องศา เรียกว่า มุมฉาก, ลักษณนามเรียกตอนย่อยของละครในองก์หนึ่ง ๆ หรือตอนหนึ่งของละครที่เปิดม่านหน้าเวทีครั้งหนึ่ง ๆ เช่น ละคร ๓ ฉาก.
(2) ฉาก ๒ : (ภาษาปาก) (คำกริยา) หลบ, เลี่ยง, เช่น ฉากหนี.
ในที่นี้ “ฉาก” ใช้เป็นคำนามตามข้อ (1)
(๒) “ทัศน์”
บาลีเป็น “ทสฺสน” อ่านว่า ทัด-สะ-นะ รากศัพท์มาจาก ทิสฺ (ธาตุ = เห็น) + ยุ ปัจจัย, แปลง ทิสฺ เป็น ทสฺส, แปลง ยุ เป็น อน (อะ-นะ)
: ทิสฺ > ทสฺส + ยุ > อน = ทสฺสน แปลตามศัพท์ว่า “การเห็น” หมายถึง –
(1) การเห็น, การมองดู, การสังเกต, สิ่งที่ปรากฏ, รูปร่าง (seeing, looking; noticing; sight of, appearance, look)
(2) การเล็งเห็น, เครื่องรู้เห็น, การเห็นแจ้ง, ความเห็น, ทฤษฎี (perception, faculty of apperception, insight, view, theory)
“ทสฺสน” ในภาษาไทยใช้อิงสันสกฤตเป็น “ทัศน”
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า
“ทัศน-, ทัศน์, ทัศนะ, ทัศนา : (คำนาม) ความเห็น, การเห็น, เครื่องรู้เห็น, สิ่งที่เห็น, การแสดง, ทรรศนะ ก็ใช้. (ป. ทสฺสน; ส. ทรฺศน).”
ฉาก + ทัศน์ = ฉากทัศน์ แปลตามศัพท์ว่า “การเห็นฉาก” หรือ “ฉากที่มองเห็น”
“ฉากทัศน์” เป็นคำที่บัญญัติจากคำอังกฤษว่า scenery
พจนานุกรม สอ เสถบุตร แปล scenery ว่า
1. เครื่องฉาก
2. ภาพภูมิประเทศ
และแปล scene ซึ่งเป็นคำเดิมของ scenery ว่า
1. ฉาก, เวที
2. สถานที่แห่งเค้าเรื่องละคร หรือเรื่องอ่านเล่น, สถานที่เกิดเหตุ
3. เหตุการณ์
4. ภาพ, สิ่งแวดล้อม, เรื่องราว
พจนานุกรมอังกฤษ-บาลี แปล scene เป็นบาลีดังนี้:-
(1) ṭhāna ฐาน (ถา-นะ) = สถานที่, พื้นที่
(2) padesa ปเทส (ปะ-เท-สะ) = ท้องถิ่น, ดินแดน
(3) naccavibhāga นจฺจวิภาค (นัด-จะ-วิ-พา-คะ) = แบ่งการแสดงเป็นตอน ๆ
(4) diṭṭhipatha ทิฏฺฐิปถ (ทิด-ถิ-ปะ-ถะ) = ทิศทางที่มองเห็น
(5) raṅgajavanikā รงฺคชวนิกา (รัง-คะ-ชะ-วะ-นิ-กา) = ดึงดูดความสนใจด้วยการระบายสี
และแปล scenery เป็นบาลีดังนี้:-
desavilāsa เทสวิลาส (เท-สะ-วิ-ลา-สะ) = ความงามของสถานที่
อภิปรายขยายความ :
“ฉากทัศน์” เป็นคำประสมไขว้สายพันธุ์หรือประสมข้ามเขต เพราะ “ฉาก” เป็นคำไทย “ทัศน์” เป็นคำบาลีสันสกฤต ตามหลักภาษาเอามาประสมเป็นคำเดียวกันไม่ได้
เนื่องจากผู้เขียนบาลีวันละคำยังไม่ได้เห็นคำอธิบายความหมายของคำว่า “ฉากทัศน์” ได้แต่คาดเดาว่า ผู้คิดคำนี้คงคิดเทียบกับคำว่า “โลกทัศน์” ที่แปลว่า “การมองเห็นโลก” หมายถึง การรับรู้โลก การที่คนแต่ละคนตีความสิ่งต่าง ๆ ในโลกหรือมองว่าสรรพสิ่งในโลกมีปฏิสัมพันธ์กันอย่างไร และอีกคำหนึ่งคือ “วิสัยทัศน์” ที่หมายถึง การมองการณ์ไกล
“ฉากทัศน์” ก็คงประสงค์จะให้แปลว่า “การมองเห็นฉาก” คือ มองเห็นเป็นช่องเป็นฉาก เห็นภาพต่าง ๆ ที่คาดหวังว่าจะเกิดขึ้นหรือจะเป็นไป
แต่คำว่า “โลกทัศน์” และ “วิสัยทัศน์” มีฐานะต่างกับ “ฉากทัศน์” คือ “โลกทัศน์” และ “วิสัยทัศน์” เป็นคำที่มาจากบาลีสันสกฤตทั้งคู่
“โลก” บาลีสันสกฤต + “ทัศน์” บาลีสันสกฤต
“วิสัย” บาลีสันสกฤต + “ทัศน์” บาลีสันสกฤต
แต่ “ฉากทัศน์” ไม่ใช่แบบนั้น
“ฉาก” คำไทย + “ทัศน์” บาลีสันสกฤต
จึงเอามาเทียบกันไม่ได้
ในภาษาไทย คำว่า “ฉาก” ที่ประสมกับคำอื่นกลายเป็นคำเดียวกันก็มีใช้ ที่เก็บไว้ในพจนานุกรมฯ มี 8 คำ คือ ฉากแข็ง ฉากญี่ปุ่น ฉากตั้ง ฉากทิ้ง ฉากน้อย ฉากบังเพลิง ฉากใหญ่ ฉากอ่อน
จะเห็นได้ว่า ทุกคำเป็นคำประสมไทยแท้ คือคำไทยประสมกับคำไทย ไม่มีไขว้สายพันธุ์ และแปลจากหน้าไปหลัง
ความจริง คำประสมแบบไขว้สายพันธุ์ในภาษาไทยเราก็มีใช้ เช่นคำว่า “ราชวัง” ในคำว่า “พระบรมมหาราชวัง” เป็นต้น
“ราช” เป็นคำบาลีสันสกฤต
“วัง” เป็นคำไทย
ประสมกันเป็น “ราชวัง” เราก็ใช้กันอยู่
แต่คำเช่นนี้เป็นคำเก่าคำเดิมที่ใช้กันมาในสมัยที่การประสมคำยังไม่มีหลักที่แน่นอน เป็นคำที่ตกอยู่ในฐานะ “ผิดจนถูก” ไปแล้ว ปัจจุบันเรามีหลักการประสมที่ชัดเจนแน่นอนแล้ว จะเอาคำรุ่นเก่ามาเป็นเหตุผลคิดคำใหม่ที่ผิดหลักภาษาขึ้นอีกย่อมไม่สมควร
เทียบได้กับคำว่า “จำนง” ครั้งหนึ่งเราเคยเขียนเป็น “จำนงค์” คำว่า “สถิต” ครั้งหนึ่งเราเคยเขียนเป็น “สถิตย์” บัดนี้เรามีพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถานกำหนดการสะกดคำต่าง ๆ เป็นแบบแผนแล้ว จะไปเขียนเป็น “จำนงค์” เป็น “สถิตย์” โดยอ้างว่าเคยเขียนกันมาแบบนี้ ก็ย่อมไม่สมควรเช่นกัน
…………..
โปรดทราบว่า ที่ว่ามานี้เป็นความเห็นของผู้เขียนบาลีวันละคำ ไม่ใช่คำยืนยันหรือคำตัดสินว่าจะต้องผิดหรือถูกตามนี้ ทุกท่านมีสิทธิ์เห็นแย้ง หรือมีคำชี้แจงที่เป็นเหตุเป็นผล ก็สามารถนำเสนอสู่กันฟังได้ เพื่อให้ได้องค์ความรู้ที่ถูกต้องร่วมกัน
…………..
ดูก่อนภราดา!
: ฉากที่เราเห็น
: ไม่ได้เป็นอย่างที่เราคิด
#บาลีวันละคำ (4,424)
23-7-67
…………………………….
…………………………….