บาลีวันละคำ

โมฆียะ (บาลีวันละคำ 634)

โมฆียะ

อ่านว่า โม-คี-ยะ

รากศัพท์ประกอบด้วย โมฆ + อีย ปัจจัย

โมฆ” แปลตามศัพท์ว่า “ภาวะที่หลงลืม” ใช้เป็นคุณศัพท์ หมายถึง เปล่า, ว่าง, ไร้ประโยชน์, ไม่บรรลุผลดังที่ประสงค์ (ดูเพิ่มเติมที่ “โมฆะ” บาลีวันละคำ (632) 6-2-57)

อีย” (อี-ยะ) เป็นปัจจัยในตัตธิต (บาลีเป็นภาษาที่มี “วิภัตติปัจจัย” ตัทธิตเป็นกระบวนการทางไวยากรณ์แบบหนึ่งที่ใช้ “ปัจจัย” ต่อท้ายคำเพื่อให้เกิดความหมายต่างๆ) มีความหมายว่า น่าจะ, ควรที่จะ, อยู่ในฐานะที่อาจจะเป็นอย่างนั้น

ตัวอย่างคำเทียบ :

กรณ (กะ-ระ-นะ) แปลว่า การกระทำ + อีย = กรณีย แปลว่า อันควรทํา, อันพึงทํา เช่น “กรณียกิจ” = กิจที่พึงทำ, หน้าที่อันพึงทํา

ปูชน (ปู-ชะ-นะ) แปลว่า การบูชา + อีย =ปูชนีย แปลว่า ควรบูชา, น่าบูชา, น่านับถือ เช่น “ปูชนียบุคคล” = บุคคลที่ควรบูชา

ทสฺสน (ทัด-สะ-นะ) แปลว่า การดู + อีย = ทสฺสนีย ภาษาไทยใช้ว่า ทัศนีย แปลว่า น่าดู, น่ามอง, งาม เช่น “ทัศนียภาพ” = ภาพที่น่าดู เช่นภูมิประเทศที่สวยงาม

โมฆ + อีย = โมฆีย แปลว่า น่าจะเป็นโมฆะ, ควรที่จะเป็นโมฆะ, อยู่ในฐานะที่อาจจะเป็นโมฆะได้

พจน.42 บอกไว้ว่า –

โมฆีย-, โมฆียะ : (คำที่ใช้ในกฎหมาย) ที่อาจเป็นโมฆะได้เมื่อมีการบอกล้าง หรือมีผลสมบูรณ์เมื่อมีการให้สัตยาบัน”

คำที่เกี่ยวกับเรื่องนี้โดยตรงคือ “โมฆียกรรม” (โม-คี-ยะ-กำ) พจน.42 บอกความหมายว่า “นิติกรรมซึ่งอาจบอกล้าง เพิกถอน หรือให้สัตยาบันได้ ถ้าบอกล้างก็เป็นโมฆะมาแต่เริ่มแรก ถ้าให้สัตยาบันก็มีผลสมบูรณ์มาแต่เริ่มแรก”

โมฆียกรรมทางโลก :

บุคคลที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะ กฎหมายกำหนดว่าทำนิติกรรมไม่ได้

นาย ก ขณะเป็นผู้เยาว์ และไม่ได้รับอนุญาตจากผู้แทนโดยชอบธรรมของตน ไปทำสัญญากู้เงินนาย ข นี่คือสัญญากู้เงินนั้นเป็นโมฆียะ (= อยู่ในฐานะที่อาจจะเป็นโมฆะได้) แต่ขณะนั้นยังไม่เป็นโมฆะ

เมื่อนาย ก บรรลุนิติภาวะแล้ว ถ้าบอกเลิกสัญญานั้น นี่คือนาย ก “บอกล้าง” ทำให้สัญญานั้น (ซึ่งตลอดเวลาที่ผ่านมาอยู่ในฐานะเป็น “โมฆียะ”) กลายเป็นโมฆะมาแต่เริ่มแรก

แต่ถ้านาย ก บรรลุนิติภาวะแล้วยอมรับสัญญานั้น หรือแสดงเจตนายอมรับ เช่นนำเงินไปชำระดอกเบี้ยให้นาย ข นี่คือนาย ก “ให้สัตยาบัน” ทำให้สัญญาอันเป็นโมฆียะนั้นกลายเป็นนิติกรรมที่มีผลสมบูรณ์มาแต่เริ่มแรก

โมฆียกรรมทางธรรม :

เกิดมาแล้ว พยายามที่จะไม่ตาย

ความพยายามนั้นเป็นโมฆะโดยสมบูรณ์มาแต่เริ่มแรก

เพราะผู้ที่เกิดมาแล้วจะไม่ตายนั้น ไม่มี

แต่ถ้าทำความพยายามเพื่อที่ว่าตายแล้วจะไม่ต้องเกิดอีก

ความพยายามนั้นเป็นโมฆียะ

บางคนทำสำเร็จ มีผลสมบูรณ์ เช่นพระพุทธเจ้าและพระอรหันตสาวกทั้งหลาย

หลายคนยังทำไม่สำเร็จ ปล่อยให้ชีวิตเป็นโมฆียะต่อไป

——————

(ตามคำขอของ Kanaphon Chanhom ผู้กำลังพยายามทำชีวิตไม่ให้เป็นทั้งโมฆะและโมฆียะ)

9-2-57

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย