สถูปเจดีย์ (บาลีวันละคำ 4,525)

สถูปเจดีย์
ปูชนีย์ที่ควรคารวะ
อ่านว่า สะ-ถูบ-เจ-ดี
ประกอบด้วยคำว่า สถูป + เจดีย์
(๑) “สถูป”
เป็นรูปคำสันสกฤต รูปบาลีเป็น “ถูป” อ่านว่า ถู-ปะ รากศัพท์มาจาก –
(1) ถุ (ธาตุ = สรรเสริญ, ชมเชย) + ป ปัจจัย, ทีฆะ อุ ที่ ถุ เป็น อู (ถุ > ถู)
: ถุ + ป = ถุป > ถูป แปลตามศัพท์ว่า “สิ่งอันคนสรรเสริญบูชา”
(2) ถูปฺ (ธาตุ = ก่อ, สะสม) + อ (อะ) ปัจจัย
: ถูปฺ + อ = ถูป แปลตามศัพท์ว่า “สิ่งที่ก่อตัวขึ้น”
“ถูป” (ปุงลิงค์) หมายถึง สถูปหรือสตูป, เจดีย์, เนิน, โคก, กองหินที่ระลึก, ฮวงซุ้ย; โดม (a stupa or tope, a bell-shaped pile of earth, a mound, tumulus, cairn; dome)
บาลี “ถูป” สันสกฤตเป็น “สฺตูป”
สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน บอกไว้ดังนี้ –
(1) สฺตูป, สฺถูป : (ธาตุ) รวบรวม, พูนหรือกองขึ้นไว้; to collect, to heap.
(2) สฺตูป : (คำนาม) นิกร, กองดิน ฯลฯ.; a heap , a pile of earth, &c.
ในภาษาไทย คำนี้เราคุ้นกับรูปคำ “สถูป” มากกว่ารูปอื่น
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“สถูป : (คำนาม) สิ่งก่อสร้างที่มีรูปโอคว่ำซึ่งก่อไว้สำหรับบรรจุของควรบูชามีกระดูกของพระพุทธเจ้าและพระอรหันต์เป็นต้น, บางทีใช้เข้าคู่กับคำ เจดีย์ เป็น สถูปเจดีย์ เช่น เดินเวียนเทียนรอบพระสถูปเจดีย์. (คำแบบ) สดูป, สตูป. (ป. ถูป; ส. สฺตูป).”

พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ ของท่าน ป.อ. ปยุตฺโต บอกไว้ดังนี้ –
“สถูป : สิ่งก่อสร้างซึ่งก่อไว้สำหรับบรรจุของควรบูชา เป็นอนุสรณ์ที่เตือนใจให้เกิดปสาทะและกุศลธรรมอื่นๆ เช่น พระสารีริกธาตุ อัฐิแห่งพระสาวก หรือกระดูกแห่งบุคคลที่นับถือ (บาลี: ถูป, สันสกฤต: สฺตูป); ดู ถูปารหบุคคล”
(๒) “เจดีย์”
รูปคำบาลีเป็น “เจติย” อ่านว่า เจ-ติ-ยะ รากศัพท์มาจาก :
(1) จิตฺ (ธาตุ = บูชา) + ณฺย ปัจจัย, ลง อิ อาคม, ลบ ณฺ, แผลง อิ ที่ จิ-(ต) เป็น เอ (จิ > เจ)
: จิตฺ + อิ + ณฺย = จิติณฺย >จิติย > เจติย แปลตามศัพท์ว่า “ที่อันบุคคลบูชา”
(2) จิ (ธาตุ = ก่อ, สะสม) + ณฺย ปัจจัย, ลง ต อาคม และ อิ อาคม, ลบ ณฺ, แผลง อิ ที่ จิ เป็น เอ (จิ > เจ)
: จิ + ต + อิ + ณฺย = จิติณฺย >จิติย > เจติย แปลตามศัพท์ว่า “สิ่งอันเขาก่อด้วยอิฐเป็นต้น”
(3) จิตฺต (จิต, ใจ) + อิย ปัจจัย, แปลง จิตฺต เป็น เจต
: จิตฺต + อิย = จิตฺติย > เจติย แปลตามศัพท์ว่า “ที่อันบุคคลทำไว้ในจิต”
(4) จิตฺต (วิจิตร, สวยงาม) + อิย ปัจจัย, แปลง จิตฺต เป็น เจต
: จิตฺต + อิย = จิตฺติย > เจติย แปลตามศัพท์ว่า “ที่อันบุคคลสร้างอย่างวิจิตร”
“เจติย” ในภาษาไทยใช้เป็น “เจดีย์” (เจ-ดี)
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“เจดีย-, เจดีย์ ๑ : (คำนาม) สิ่งซึ่งก่อเป็นรูปคล้ายลอมฟาง มียอดแหลม บรรจุสิ่งที่นับถือมีพระธาตุเป็นต้น, สิ่งหรือบุคคลที่เคารพนับถือ. (ป. เจติย; ส. ไจตฺย).”
ในหมู่คนไทย ถ้าให้แปล “เจดีย์” เป็นคำอังกฤษ เรามักนึกถึงคำว่า pagoda
พจนานุกรม สอ เสถบุตร แปล pagoda ว่า สถูป, ปรางค์, พระเจดีย์
พจนานุกรมอังกฤษ-บาลี แปล pagoda เป็นบาลีว่า
(1) cetiya เจติย (เจ-ติ-ยะ) = เจดีย์
(2) thūpa ถูป (ถู-ปะ) = สถูป
พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “เจติย” ว่า a tumulus, sepulchral monument, cairn (เจดีย์, สิ่งที่ควรเคารพบูชา, กองหินซึ่งทำไว้เป็นที่ระลึกหรือเป็นสุสาน)
โปรดสังเกตว่า พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ ซึ่งเจ้าของภาษาอังกฤษเป็นผู้แปลเอง ไม่ได้แปล “เจติย” ว่า pagoda
สถูป + เจดีย์ = สถูปเจดีย์ เป็นคำประสมธรรมดา คือเอาคำว่า “สถูป” กับคำว่า “เจดีย์” มาพูดควบกันเป็น “สถูปเจดีย์” โดยเจตนาจะให้เข้าใจว่าเป็นสิ่งเดียวกัน ดังคำนิยามคำว่า “สถูป” ที่พจนานุกรมฯ บอกไว้ว่า “บางทีใช้เข้าคู่กับคำ เจดีย์ เป็น สถูปเจดีย์ เช่น เดินเวียนเทียนรอบพระสถูปเจดีย์”

ขยายความ :
พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ ของท่าน ป.อ. ปยุตฺโต ที่คำว่า “สถูป” ดังยกมาข้างต้น แนะไว้ว่าให้ดูคำว่า “ถูปารหบุคคล”
ที่คำว่า “ถูปารหบุคคล” พจนานุกรมพุทธศาสน์ฯ บอกไว้ดังนี้ –
…………..
ถูปารหบุคคล : บุคคลผู้ควรแก่สถูปคือบุคคลที่ควรนำกระดูกบรรจุสถูปไว้บูชา มี ๔ คือ
๑. พระพุทธเจ้า
๒. ปัจเจกพุทธเจ้า
๓. พระอรหันตสาวก
๔. พระเจ้าจักรพรรดิ
…………..
ส่วนคำว่า “เจดีย์” พจนานุกรมพุทธศาสน์ฯ ขยายความไว้ว่า –
…………..
เจดีย์ : ที่เคารพนับถือ, บุคคล สถานที่ หรือวัตถุที่ควรเคารพบูชา, เจดีย์เกี่ยวกับพระพุทธเจ้ามี ๔ อย่างคือ
๑. ธาตุเจดีย์ บรรจุพระบรมสารีริกธาตุ
๒. บริโภคเจดีย์ คือสิ่งหรือสถานที่ที่พระพุทธเจ้าเคยทรงใช้สอย
๓. ธรรมเจดีย์ บรรจุพระธรรม คือ พุทธพจน์
๔. อุทเทสิกเจดีย์ คือพระพุทธรูป;
ในทางศิลปกรรม ไทยหมายถึงสิ่งที่ก่อเป็นยอดแหลมเป็นที่บรรจุสิ่งที่เคารพนับถือ เช่น พระธาตุและอัฐิบรรพบุรุษ เป็นต้น
…………..
เป็นอันว่า “เจดีย์” มีความหมายกว้างกว่าที่เรามักเข้าใจกัน
แต่จะอย่างไรก็ตาม สิ่งที่เรียกว่า “สถูปเจดีย์” นั้น จะต้องสร้างขึ้นเพื่อเป็นที่ระลึกถึงบุคคลหรือเหตุการณ์ที่มีคุณค่าควรแก่การจดจำรำลึกเสมอ
…………..
ดูก่อนภราดา!
ท่านจะสำคัญความข้อนี้เป็นไฉน?
: ไปไหว้เจดีย์ชเวดากองของพม่า
ไทยยิ้มร่าถอดรองเท้าด้วยความภูมิใจ
: กลับมาไหว้พระปรางค์วัดอรุณของไทย
ใส่รองเท้าขึ้นไปจนถึงยอดพระปรางค์
#บาลีวันละคำ (4,525)
1-11-67
…………………………….
…………………………….