บาลีวันละคำ

สรีระ (บาลีวันละคำ 1,019)

สรีระ

อ่านว่า สะ-รี-ระ

บาลีเขียน “สรีร” อ่านว่า สะ-รี-ระ เช่นกัน

สรีร” รากศัพท์มาจาก สรฺ (ธาตุ = เป็นไป, เบียดเบียน) + อีร ปัจจัย

: สรฺ + อีร = สรีร แปลตามศัพท์ว่า –

(1) “ร่างที่เป็นไปตามปกติ” คือเกิดขึ้น ดำรงอยู่ แตกสลายไปตามธรรมดา

(2) “ร่างที่เบียดเบียนลม” คือทำให้ลมผ่านไม่สะดวกเนื่องจากมาปะทะกับร่าง

ถามเล่นๆ :

วัตถุทึบชนิดอื่นๆ เช่น กำแพง ก้อนหิน ลมก็ผ่านไม่สะดวกทั้งนั้น ไฉนจึงไม่เรียกสิ่งนั้นๆ ว่า “สรีร” ด้วยเล่า ?

สรีร” ใช้ในความหมายดังนี้ :

(1) ร่างกาย, โครงร่างของสิ่งใดๆ ที่เป็นวัตถุ (the body, the physical body)

(2) ร่างกายคนตาย, ซากศพ (a dead body, a corpse)

(3) กระดูก (the bones)

(4) ส่วนของร่างกายของผู้ที่ถึงแก่กรรมไปแล้ว (relics)

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

สรีร-, สรีระ : (คำนาม) ร่างกาย. (ป.; ส. ศรีร).”

สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน บอกไว้ว่า –

ศรีร : (คำนาม) กาย, ร่าง, ตัว; the body.”

โปรดสังเกต :

(๑) “ศรีร” อ่านว่า สะ-รี-ระ

ศรี– ในที่นี้ไม่ใช่อ่านว่า สี แต่อ่านว่า สะ-รี- เป็นคนละคำกับ ศรี ที่หมายถึงมิ่งขวัญ สิริมงคล

(๒) เคยมีคำที่พูดกันในภาษาไทยว่า “ห้องศรีรสำราญ” (อ่านว่า ห้อง-สะ-รี-ระ-สำ-ราน) หมายถึง ห้องน้ำ, ห้องส้วม

คำนี้ถ้าไม่ทันสังเกตก็ชวนให้อ่านผิดเป็น ห้อง-สี-สำ-ราน

คำว่า “ศรีรสำราญ” อาจกลายเป็น “ศรีสำราญ” ไปได้โดยไม่ตั้งใจ

: น้อยคนนักที่จะใช้สรีระอันไร้สาระเป็นอุปกรณ์คว้าเอาสิ่งที่เป็นสาระไว้ได้

: ส่วนมากคว้าได้แต่สิ่งที่ไร้สาระยิ่งขึ้น แต่ก็ยังหลงเข้าใจว่าตนได้สิ่งที่เป็นสาระ

3-3-58

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย