อาตมา [2] (บาลีวันละคำ 4,553)

อาตมา [2]
กราบขอร้องอีก (หลาย) ที
ผู้เขียนบาลีวันละคำได้อ่านข้อความของพระคุณเจ้ารูปหนึ่ง ท่านเรียกตัวเอง “อตมา” รู้สึกสะดุดใจ
มองในแง่ดีก็ว่า พระคุณท่านคงตั้งใจใช้คำว่า “อาตมา” แต่พิมพ์ตกสระ อา จึงกลายเป็น “อตมา”
แต่ถ้าตั้งใจใช้เป็น “อตมา” จริง ๆ ก็น่าตกใจ
“อาตมา” เป็นสรรพนามที่พระภิกษุใช้เรียกตัวเอง กับอีกคำหนึ่งคือ “อาตมภาพ”
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“อาตมภาพ, อาตมา ๑ : (คำสรรพนาม) คำใช้แทนตัวผู้พูด สำหรับพระภิกษุสามเณรพูดกับคฤหัสถ์ ทั้งที่เป็นเจ้านายหรือสามัญชน, เป็นสรรพนามบุรุษที่ ๑. (ส. อาตฺมภาว, อาตฺมา).”
พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ ของท่าน ป.อ.ปยุตฺโต ที่คำว่า “อาตมภาพ” และ “อาตมา” บอกไว้ดังนี้ –
(1) อาตมภาพ : ฉัน, ข้าพเจ้า (สำหรับพระภิกษุสามเณรใช้เรียกตัวเอง เมื่อพูดกับคฤหัสถ์ผู้ใหญ่ ตลอดถึงพระเจ้าแผ่นดิน)
(2) อาตมา : ฉัน, ข้าพเจ้า (สำหรับพระภิกษุสามเณรใช้พูดกับผู้มีบรรดาศักดิ์ แต่บัดนี้ นิยมใช้พูดอย่างให้เกียรติแก่คนทั่วไป)
…………..
ปัจจุบันนี้ปรากฏว่า ในสังคมเฟซบุ๊กและในสังคมอื่น ๆ พระภิกษุสามเณรพูดกับฆราวาสญาติโยมใช้สรรพนามเรียกตัวเองว่า “ผม” และใช้คำรับว่า “ครับ” ชุกชุมขึ้น
และเท่าที่สังเกต ยังไม่เห็นมีท่านผู้ใดใครผู้หนึ่งออกมาทักท้วงเตือนติง ดูเหมือนกำลังใช้วิธีนิ่งเลยเฉยผ่าน ไม่รู้ไม่เห็นกันไปหมดสิ้น
ผู้เขียนบาลีวันละคำขออนุญาตกราบนมัสการไปยังพระภิกษุสามเณรทั้งปวงเพื่อโปรดทราบว่า –
พระภิกษุสามเณรพูดกับญาติโยม ใช้คำแทนตัวว่า “อาตมา” หรือ “อาตมภาพ” หรือใช้อย่างลำลองว่า “ฉัน”
กรุณาอย่าใช้คำว่า “ผม”
พระภิกษุสามเณรพูดกับญาติโยม ใช้คำรับว่า “เจริญพร” หรือใช้อย่างลำลองว่า “จ้ะ”
กรุณาอย่าใช้คำว่า “ครับ”
กราบขอร้องวิงวอนมา ณ ที่นี้ด้วยความเคารพยิ่ง
…………..
ถ้าไม่ศึกษา สังเกต สำเหนียก สำนึก ตระหนัก เรียนรู้ อบรม สั่งสอน แนะนำ ย้ำเตือน และใช้ให้ถูกต้องตั้งแต่เดี๋ยวนี้ อีกไม่เกิน 10 ปี พระภิกษุสามเณรใช้คำว่า “ผม” “ครับ” พูดกับญาติโยม จะไม่มีใครเห็นว่าเป็นเรื่องเสียหาย
แล้วก็จะมีคนออกมาแก่ต่างแก้ตัวให้ว่า ภาษาเป็นเรื่องสมมุติ ใช้อย่างไรก็ได้ ไม่มีผิดไม่มีถูก พระพุทธเจ้าท่านสอนไม่ให้ยึดติด
ถึงตอนนั้น พระธรรมวินัย พระไตรปิฎก คำสอนของบูรพาจารย์ วัฒนธรรม ประเพณี แบบธรรมเนียมอันดีงาม โละทิ้งลงถึงขยะได้เลย
หกคะเมนตีลังกากันตามสบาย
ขออย่าให้เป็นอย่างนั้นเลย
กราบขอร้องวิงวอนมา ณ ที่นี้ด้วยความเคารพยิ่ง
ขยายความ :
คำว่า “อาตมา” เป็นรูปคำอิงสันสกฤตว่า “อาตฺมนฺ”
สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน บอกไว้ว่า –
“อาตฺมนฺ : (คำนาม) วิญฺญาณ; อารมณ์; พระพรหม; the soul; the natural temperament or disposition; Brahmā.”
สันสกฤตว่า “อาตฺมนฺ” ตรงกับบาลีว่า “อตฺตา” อ่านว่า อัด-ตา รูปคำเดิมเป็น “อตฺต” อ่านว่า อัด-ตะ มาจากรากศัพท์ดังนี้ :
(๑) อตฺ (ธาตุ = ไป, ถึง, เป็นไปต่อเนื่อง) + ต ปัจจัย
: อตฺ + ต = อตฺต แปลตามศัพท์ว่า –
(1) “ผู้ทำให้ชีวิตดำเนินต่อเนื่องไปได้” (คือเมื่ออัตตายังมีอยู่ ชีวิตก็ยังดำเนินต่อไปได้)
(2) “ผู้ถึงทุกข์ต่อเนื่อง” (คือเมื่อยังมีอัตตา ก็มีทุกข์เข้ามาอย่างไม่รู้จบ)
(3) “ผู้เป็นไปเพื่ออาพาธต่อเนื่อง” (คือเมื่อยังมีอัตตา ก็ยังต้องเจ็บป่วย ถูกบีบคั้นด้วยโรคภัยไม่รู้จบ)
(๒) อทฺ (ธาตุ = กิน) + ต ปัจจัย, แปลง ท เป็น ต
: อทฺ + ต = อทต > อตฺต แปลตามศัพท์ว่า –
(1) “ผู้เสวยสุขและทุกข์” (คือต้องพบทั้งสุขและทุกข์ควบคู่กันไป จะเลือกเสวยแต่สุขอย่างเดียวหาได้ไม่)
(2) “ผู้ถูกกิน” (คือถูกความเกิด ความแก่ ความเจ็บ ความตายมันกินเอา)
(๓) อา (แทนศัพท์ว่า “อาหิต” = ตั้งลง, หยั่งลง) + ธา (ธาตุ = ทรงไว้) + ต ปัจจัย, ลบ อา ที่ อา (อา > อ)และ อา ที่ ธา (ธา > ธ) , แปลง ธฺ เป็น ตฺ
: อา + ธา = อาธา + ต = อาธาต > อธาต > อธต > อตฺต แปลตามศัพท์ว่า “ผู้เป็นที่ตั้งแห่งความถือตัวว่าเป็นเรา” (เพราะมีอัตตา จึงมีการยึดถือว่าตัวกูของกู)
“อตฺต” แปลตามที่เข้าใจกันคือ “ตัวตน” (self, soul) หมายถึง ตัว, ตน, ตัวตน, ร่างกาย, จิตใจ
“อตฺต” เรามักคุ้นในรูป “อตฺตา” ซึ่งเป็นรูปที่แจกด้วยวิภัตตินามที่หนึ่ง เขียนในภาษาไทยเป็น “อัตตา” ใช้ตามรูปคำสันสกฤตว่า “อาตมา”
…………..
ดูก่อนภราดา!
: เพราะภาษาเป็นเรื่องสมมุติ
: จึงสมควรที่สุดที่จะช่วยกันสมมุติให้ถูกต้องดีงาม
#บาลีวันละคำ (4,553)
29-11-67
…………………………….
…………………………….