บาลีวันละคำ

ราชนีติ (บาลีวันละคำ 1,084)

ราชนีติ

อ่านว่า รา-ชะ-นี-ติ

ประกอบด้วย ราช + นีติ

(๑) “ราช” (รา-ชะ)

รากศัพท์มาจาก :

(1) ราชฺ (ธาตุ = รุ่งเรือง) + (ปัจจัย) = ราช แปลตามศัพท์ว่า “ผู้รุ่งเรืองโดยยิ่งเพราะมีเดชานุภาพมาก” หมายความว่า ผู้เป็นพระราชาย่อมมีเดชานุภาพมากกว่าคนทั้งหลาย

(2) รญฺชฺ (ธาตุ = ยินดี พอใจ) + ปัจจัย, ลบ ลบ ญฺ แผลง เป็น รา

: รญฺชฺ + = รญฺชณ > รญฺช > รช > ราช แปลตามศัพท์ว่า “ผู้ยังคนทั้งหลายให้ยินดี” หมายความว่า เป็นผู้อำนวยความสุขให้ทวยราษฎร์ จนคนทั้งหลายร้องออกมาว่า “ราชา ราชา” (พอใจ พอใจ)

ท่านพุทธทาสภิกขุให้คำจำกัดความ “ราช” หรือ “ราชา” ว่าคือ “ผู้ที่ทำให้ประชาชนร้องออกมาว่า พอใจ พอใจ

ราช” ความหมายตรงๆ ที่เข้าใจกัน คือ พระราชา, พระเจ้าแผ่นดิน

แต่เดิมผู้ทำหน้าที่ปกครองบ้านเมือง เรียกกันว่า “พระราชา” ความหมายโดยนัยของคำว่า “ราช” ในปัจจุบันจึงหมายถึงผู้ทำหน้าที่บริหารบ้านเมือง ไม่ว่าผู้นั้นจะเป็น “พระราชา” หรือไม่ก็ตาม

(๒) “นีติ” (นี-ติ)

รากศัพท์มาจาก นี (ธาตุ = บรรลุ, ถึง) + ติ ปัจจัย

: นี + ติ = นีติ แปลตามศัพท์ว่า “เครื่องนำไปให้บรรลุ” หมายถึง การนำไป, การแนะนำ, กฎ, ข้อบังคับ, แบบแผน, การนำทาง, การปฏิบัติ, ความประพฤติที่ถูกต้อง, การกระทำที่เหมาะที่ควร, การใช้วิธีปกครอง, การปกครองประชาชน (guidance, practice, conduct, right conduct, propriety; statesmanship, polity)

นีติ” นิยมใช้ในภาษาไทยว่า “นิติ” (โปรดสังเกตว่า บาลีเป็น นี- ไม่ใช่ นิ-) และมักเข้าใจกันว่าหมายถึง “กฎหมาย

และเมื่อพูดถึงกฎหมายเราก็มักนึกถึงคำฝรั่งว่า law เป็นคำแรก

แต่โปรดสังเกตว่า พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ ซึ่งฝรั่งเป็นผู้จัดทำไม่มีคำแปล นีติ ว่า law

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

นิติ : นีติ, กฎหมาย, กฎปฏิบัติ, แบบแผน, เยี่ยงอย่าง, ขนบธรรมเนียม, ประเพณี, วิธีปกครอง, เครื่องแนะนํา, อุบายอันดี”

ราช + นีติ = ราชนีติ แปลตามศัพท์ว่า “การนำไปของพระราชา” หมายถึง กฎ หลักการ หรือแบบแผนแห่งการปฏิบัติหน้าที่ที่ถูกต้องของผู้บริหารบ้านเมือง

คัมภีร์ในชุด –นีติ ที่รู้จักกันดีมี 3 ฉบับ ต้นฉบับรจนาเป็นบาลีสันสกฤต คือ :

ราชนีติ (ราช + นีติ) = หลักการบริหารบ้านเมือง

ธรรมนีติ (ธรรม + นีติ) = หลักการครองชีวิตโดยธรรม

โลกนีติ (โลก + นีติ) = หลักการครองชีวิตทางโลก หรือหลักการอยู่ร่วมกันในสังคม

ข้อสังเกต :

๑ ชื่อคัมภีร์ชุดนี้ที่คนไทยรู้จักกันดีมากที่สุดน่าจะได้แก่ “โลกนีติ” เนื่องด้วยนักปราชญ์ของเรานำมาถ่ายทอดปรับปรุงเป็นวรรณกรรมที่ชื่อ “โคลงโลกนิติ

๒ “โลกนีติ” เราเอามาเรียกเป็น “โลกนิติ” ออกเสียงว่า โลก-กะ-นิด (ไม่ใช่ โลก-นิ-ติ หรือ โลก-กะ-นิ-ติ)

๓ ถ้าเอาชื่อ “โลกนิติ” ที่คุ้นกันดีแล้วเป็นหลัก :

ราชนีติ” ก็น่าจะเรียกในภาษาไทยเป็น “ราชนิติ” ออกเสียงว่า ราด-ชะ-นิด

ธรรมนีติ” น่าจะเรียกในภาษาไทยเป็น “ธรรมนิติ” ออกเสียงว่า ทำ-มะ-นิด

เข้าชุดกัน เป็น –

ราชนิติ (ราด-ชะ-นิด)

ธรรมนิติ  (ทำ-มะ-นิด)

โลกนิติ (โลก-กะ-นิด)

: ถ้าผู้ตามไม่เคารพกฎ ผู้นำย่อมจะหมดเมตตา

: แต่ถ้าผู้นำไม่เคารพกฎ ผู้ตามก็ย่อมจะหมดศรัทธา

—————-

(ตามคำขอของ Khun Hutangkura)

9-5-58

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย