สุญญากาศ (บาลีวันละคำ 1,128)
สุญญากาศ
อ่านว่า สุน-ยา-กาด
ประกอบด้วย สุญญ + อากาศ
(๑) “สุญญ”
บาลีเขียน “สุญฺญ” อ่านว่า สุน-ยะ (มีจุดใต้ ญ ตัวหน้า) รากศัพท์มาจาก :
(1) สุน (การไป) + ย ปัจจัย, แปลง น (ที่ (สุ)-น กับ ย เป็น ญฺญ
: สุน + ย = สุนย > สุญฺญ แปลตามศัพท์ว่า “สิ่งที่เกื้อกูลแก่การไป” (คือทำให้ไม่ติดขัด เพราะว่าง โล่ง)
(2) สุนฺ (ธาตุ = ไป, ถึง, เป็นไป) + ย ปัจจัย, แปลง น (ที่ (สุ)-นฺ กับ ย เป็น ญฺญ
: สุนฺ + ย = สุนย > สุญฺญ แปลตามศัพท์ว่า “สิ่งที่ถึงความว่างเปล่า”
ความหมายของ “สุญฺญ”
(1) ใช้เป็นคุณศัพท์ หมายถึง ว่างเปล่า, ไม่มีคนอยู่, สูญ, ไม่จริงจัง, ไม่มีแก่นสาร, ไม่มีประโยชน์, เป็นปรากฏการณ์ (empty, uninhabited, void, devoid of reality, unsubstantial, useless, phenomenal)
(2) ใช้เป็นคำนาม หมายถึง ความสูญ, ความว่างเปล่า, ความเหือดหาย (void, emptiness, annihilation)
“สุญญ” ใช้ในภาษาไทยเป็น “สุญ” “สุญ-” และ “สุญญ-” (เครื่องหมาย – คือมีคำอื่นสมาสท้าย)
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“สุญ, สุญ-, สุญญ– : (คำวิเศษณ์) ว่างเปล่า. (ป. สุญฺญ; ส. ศูนฺย).”
(๒) “อากาศ”
บาลีเป็น “อากาส” (อา-กา-สะ, ส เสือ) รากศัพท์มาจาก :
(1) น (ไม่, ไม่ได้) แปลงเป็น อ + กสฺ (ธาตุ = ไถ, เขียน, เบียดเบียน, ไป) + ณ ปัจจัย, ลบ ณ, ยืดเสียง อะ ที่ อ ต้นศัพท์และที่ ก-(สฺ) เป็น อา (อ > อา, ก > กา)
: น > อ + กสฺ = อกส + ณ = อกสณ > อกส > อากาส แปลตามศัพท์ว่า “สภาพอันใครไถไม่ได้” “สภาพอันใครเขียนไม่ได้” “สภาพอันใครเบียดเบียนไม่ได้” “สภาพอันใครไปไม่ถึงที่สุด” หรือจำสั้นๆ ว่า “ไถไม่เข้า ตัดไม่ขาด ทุบไม่แตก เขียนไม่ติด ไปไม่สุด”
(2) อา (ทั่วถึง) + กาสฺ (ธาตุ = รุ่งเรือง) + อ ปัจจัย
: อา + กาสฺ = อากาส แปลตามศัพท์ว่า “สภาพเป็นเครื่องส่องให้ชัดเจน” หรือ “การส่องแสงไปทั่ว” (คือช่องว่างที่มีแสงสว่าง)
พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “อากาส” ว่า air, sky, atmosphere; space (อากาศ, ท้องฟ้า, บรรยากาศ, ช่องว่าง)
“อากาส” บาลี สันสกฤตเป็น “อากาศ” ภาษาไทยใช้ตามสันสกฤต
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกความหมายของ “อากาศ” ไว้ว่า –
(1) แก๊สผสมที่ประกอบด้วยไนโตรเจนและออกซิเจนเป็นส่วนใหญ่ ใช้หายใจหรือช่วยในการเผาไหม้เป็นต้น.
(2) (ความหมายเชิงปรัชญา) ที่ที่ว่างเปล่าซึ่งมีอยู่เป็นเอกเทศจากสสาร, เป็นธาตุอย่าง 1 ใน 6 คือ ปฐวีธาตุ (ธาตุดิน) อาโปธาตุ (ธาตุนํ้า) เตโชธาตุ (ธาตุไฟ) วาโยธาตุ (ธาตุลม) อากาศธาตุ (ที่ว่างเปล่า) และวิญญาณธาตุ (ธาตุรู้).
(3) ท้องฟ้า เช่น นกบินไปในอากาศ.
(4) บางทีใช้หมายถึงสภาพดินฟ้าอากาศโดยทั่ว ๆ ไป เช่น เช้านี้อากาศดีจัง.
ความหมายที่เข้าใจกันทั่วไป “อากาศ” คือ ว่างเปล่า ไม่มีอะไร
สุญญ + อากาศ = สุญญากาศ ตามความมุ่งหมายควรจะแปลว่า “ที่ซึ่งว่างจากอากาศ”
“สุญญากาศ” เป็นศัพท์บัญญัติเทียบคำอังกฤษว่า vacuum
พจนานุกรม สอ เสถบุตร แปล vacuum ว่า ที่ว่างเปล่า, ไม่มีอากาศ, สุญญากาศ
พจนานุกรมอังกฤษ-บาลี แปล vacuum เป็นบาลีว่า
(1) rittaṭṭhāna ริตฺตฏฺฐาน (ริด-ตัด-ถา-นะ) = สถานะอันว่างเปล่า
(2) vātasuñña วาตสุญฺญ (วา-ตะ-สุน-ยะ) = ว่างจากลม, ไม่มีลม
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“สุญญากาศ : (คำนาม) ที่ที่ไม่มีอากาศ เช่น อยู่ในสุญญากาศ. (คำวิเศษณ์) ที่ไม่มีอากาศ เช่น ขวดสุญญากาศ หลอดสุญญากาศ.”
ควรระวัง : คำนี้สะกดว่า สุญญากาศ (สุญ– สระอุ) ไม่ใช่ สูญญากาศ
: อย่ารอให้ว่างจึงวาง
: เพราะพอวางก็ว่าง
27-6-58