บาลีวันละคำ

อาบัติ [2] (บาลีวันละคำ 1,233)

อาบัติ [2]

อ่านว่า อา-บัด

บาลีเป็น “อาปตฺติ” อ่านว่า อา-ปัด-ติ

อาปตฺติ” รากศัพท์มาจาก อา (ทั่วไป) + ปทฺ (ธาตุ = ไป, ถึง) + ติ ปัจจัย, แปลง ทฺ ที่สุดธาตุเป็น ตฺ (ปทฺ > ปตฺ)

: อา + ปทฺ + ติ = อาปทฺติ > อาปตฺติ แปลตามศัพท์ว่า “การถึงทั่ว” คำแปลเก่าแปลว่า “ความต้อง

ตำราเรียนขยายความว่า “กิริยาที่ล่วงละเมิดพระบัญญัตินั้น และมีโทษเหนือตนอยู่ ชื่อว่า อาบัติ แปลว่า ความต้อง” (วินัยมุข เล่ม 1 หน้า 11)

คำในภาษาไทยที่น่าจะออกมาจากคำนี้ คือ ผู้ต้องขัง ต้องคดี ต้องโทษ

พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “อาปตฺติ” ว่า an ecclesiastical offence (โทษทางวินัยของสงฆ์)

พจนานุกรมพุทธศาสตร์ ไทย-อังกฤษ ของท่าน ป.อ.ปยุตฺโต บอกไว้ว่า “อาบัติ (āpatti) an ecclesiastical offence; offence.”

สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน บอกไว้ว่า –

อาปตฺติ : (คำนาม) เคราะห์ร้าย; ทุกข์; โทษ; misfortune; affliction; fault.”

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

อาบัติ : (คำนาม) โทษที่เกิดจากการล่วงละเมิดสิกขาบทหรือข้อห้ามแห่งภิกษุ มี ๗ อย่าง คือ ปาราชิก สังฆาทิเสส ถุลลัจจัย ปาจิตตีย์ ปาฏิเทสนียะ ทุกกฏ ทุพภาษิต มีโทษ ๓ สถาน คือ ๑. โทษสถานหนัก เรียกว่า ครุโทษ หรือ มหันตโทษ ทําให้ภิกษุผู้ต้องอาบัติขาดจากความเป็นภิกษุ ได้แก่ อาบัติปาราชิก ซึ่งเรียกว่า ครุกาบัติ ๒. โทษสถานกลาง เรียกว่า มัชฌิมโทษ ทําให้ภิกษุผู้ต้องอาบัติต้องอยู่กรรมก่อนจึงจะพ้นโทษ ได้แก่ อาบัติสังฆาทิเสส และ ๓. โทษสถานเบา เรียกว่า ลหุโทษ ทําให้ภิกษุผู้ต้องอาบัติที่ตํ่ากว่าอาบัติสังฆาทิเสสต้องปลงอาบัติ คือ บอกอาบัติของตนแก่ภิกษุด้วยกัน ได้แก่ อาบัติถุลลัจจัย ปาจิตตีย์ ปาฏิเทสนียะ ทุกกฏ และทุพภาษิต ซึ่งเรียกว่า ลหุกาบัติ. (ป., ส. อาปตฺติ).”

สรุปความหมายอย่างง่ายๆ เป็นพื้นฐานของการหาความรู้ต่อไปว่า –

๑. “อาบัติ” คือ ความผิดของพระที่เกิดจากการละเมิดศีล

๒. พระที่ทำผิดเช่นนั้น เรียกว่า “ต้องอาบัติ”

๓. กิริยาที่กระทำเพื่อให้พ้นโทษตามกระบวนการทางพระธรรมวินัย เรียกว่า “ปลงอาบัติ”

ดูเพิ่มเติมที่ : อาบัติ : บาลีวันละคำ (413) 2-7-56

: มีบาตรไม่โปรด

: มีโบสถ์ไม่ลง

: มีอาบัติไม่ปลง

: เป็นสงฆ์อยู่ได้อย่างไร

(จำมาจากหนังสือมนต์พิธี)

14-10-58

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย