บาลีวันละคำ

โกหก (บาลีวันละคำ 684)

โกหก

ภาษาไทยอ่านว่า โก-หก

มีคำถามว่า-เนื่องจากวันนี้ (1 เมษายน) เป็นวัน april fool’s day ซึ่งผู้คนจะโกหกกันเพื่อให้ขำขัน จึงอยากถามว่า

1. โกหก มาจากภาษาอะไร รากศัพท์คืออะไร

2.การโกหกเช่นนี้ถือว่าเป็นมุสาวาทหรือไม่

ข้อ ๑ :

ในคัมภีร์ มีคำว่า “กุหก” (กุ-หะ-กะ) รากศัพท์มาจาก กุหฺ (ธาตุ = โกง, ลวง) + ณฺวุ (ปัจจัย = ผู้-) แปลง ณฺวุ เป็น อก (อะ-กะ) = กุหก แปลตามศัพท์ว่า “ผู้หลอกลวง” ใช้เป็นคุณศัพท์ หมายถึง โกหก, โกง, หลอกลวง, ฉ้อฉล, ปลอม, เก๊ (deceitful, fraudulent, false)

ตามกระบวนการไวยากรณ์ “กุหก” สามารถกลายเป็น “โกหก” ได้ โดยการแผลง อุ (ที่ กุ-) เป็น โอ (ภาษาบาลีไวยากรณ์พูดว่า “พฤทธิ์ อุ เป็น โอ”) : กุหก > โกหก อ่านตามบาลีว่า โก-หะ-กะ

ในคัมภีร์ไม่พบศัพท์ “โกหก” นอกจาก “กุหก” ก็มี “กุหนา” (กุ-หะ-นา) และ “โกหญฺญ” (โก-หัน-ยะ) เป็นอาการนาม แปลว่า ความหลอกลวง, มารยา (hypocrisy, deceit)

ในภาษาไทย พจน.54 บอกไว้ว่า –

โกหก : (คำกริยา) จงใจกล่าวคําที่ไม่จริง, พูดปด, พูดเท็จ, (มักใช้ในที่ไม่สุภาพ). (บาลี., สันสกฤต. กุหก)”

ในภาษาไทยมีคำว่า “กุ” หมายถึง “สร้างให้เป็นเรื่องเป็นข่าวขึ้นโดยไม่มีมูล” อาจมีมูลมาจาก “กุหก” “กุหนา” ก็ได้

ข้อ ๒ :

การพูดโกหก เรียกเป็นศัพท์ว่า “มุสาวาท” ท่านกำหนดเกณฑ์ตัดสินความเป็นมุสาวาท หรือเกณฑ์ที่จะนับว่าศีลขาดไว้ว่า ต้องครบองค์ประกอบ ๔ ข้อ คือ –

1. อตถํ  วตฺถุํ = เรื่องไม่จริง

2. วิสํวาทนจิตฺตํ = มีเจตนาจะโกหก

3. ตชฺโช  วายาโม = พูดสำเร็จ

4. ปรสฺส  ตทตฺถวิชานนํ = ผู้อื่นเข้าใจตามเจตนา

ข้อควรระวัง :

1. การโกหกเป็นมุสาวาทหรือศีลขาดแน่นอนถ้าครบองค์ประกอบ โกหกจริงหรือโกหกเล่นไม่เป็นประมาณ

2. โทษหรือน้ำหนักแห่งความผิด แตกต่างกันไป (1) ตามลักษณะแห่งความเสียหายที่จะเกิดขึ้น (2) ตามฐานะของผู้ถูกทำให้เสียหาย (เช่น โกหกพระเจ้าแผ่นดิน มีโทษมากกว่าโกหกคนธรรมดา) และ (3) ตามความรุนแรงของเจตนา (เช่น โกหกด้วยความเคียดแค้นตั้งใจจะให้เขาฉิบหายวายป่วง มีโทษมาก โกหกเล่นสนุกๆ มีโทษน้อย)

: คำจริงจากปากคนคด

: ร้ายกว่าคำปดจากปากคนตรง

————–

(ข้อเสนอแนะและคำถามของ Suriya Thammalungga)

1-4-57

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย