บาลีวันละคำ

จักรี และ จักร + ตรี (บาลีวันละคำ 689)

จักรี และ จักร + ตรี

คำว่า “จักรี” อันเป็นนามพระราชวงศ์ มีความหมายที่เกี่ยวกับภาษาบาลี 2 นัย คือ

– นัยที่ 1

จักรี” แปลว่า “ผู้มีจักร” บาลีเป็น “จกฺกี” (จัก-กี) รากศัพท์คือ จกฺก + อี

จกฺก” (จัก-กะ) มีความหมายดังนี้ –

(1) แปลว่า “สิ่งที่เบียดเบียนแผ่นดิน” (คือบดแผ่นดิน) และ “เครื่องทำให้เคลื่อนไปได้” หมายถึง ล้อ, วงล้อ, ชิ้นส่วนที่เป็นวงกลม

(2) แปลว่า “ผู้เป็นเหตุให้ทำการยึดครองได้” หมายถึง กองทัพ, กำลังพล, กำลังรบ

(3) แปลว่า “เครื่องเบียดเบียน” หมายถึง กงจักร คืออาวุธรูปเป็นวงกลมและมีแฉก ๆ โดยรอบ สำหรับขว้างไปสังหาร

คำว่า “จกฺกีจักรีผู้มีจักร” น่าจะมีความหมายครอบคลุมได้ทั้ง 3 ข้อ

จักรี” ตามความหมายนี้มีผู้ให้เหตุผลว่า มาจากนาม “เจ้าพระยาจักรี” อันเป็นบรรดาศักดิ์ของพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชผู้ทรงสถาปนาพระราชวงศ์

ความจริงบรรดาศักดิ์สูงสุดก่อนที่จะทรงปราบดาภิเษก คือ “สมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึก” ไฉนจึงไปใช้นาม “เจ้าพระยาจักรี” อันเป็นบรรดาศักดิ์ที่ต่ำกว่า เหตุผลเป็นประการใดควรเป็นภาระของนักประวัติศาสตร์จะพึงสืบสวนกันต่อไป

– นัยที่ 2

ตราประจำพระราชวงศ์จักรี คือ พระแสงจักรและพระแสงตรี

จักร” ในที่นี้คือ “จกฺก” ตามความหมายที่ (3) ข้างต้น

ส่วน “ตรี” ตาม พจน.54 บอกไว้ว่า “คําตัดมาจาก ตรีศูล

ตามความหมายนี้ “ตรี” แปลว่า “สาม” (จำนวน 3) บาลีเป็น “ติ” และเปลี่ยนรูปเป็น “เต” ได้ด้วย ในภาษาไทยมักแผลงเป็น “ตรี” และ “ไตร” (ดูเพิ่มเติมที่ “ติ-, เต-” บาลีวันละคำ (60) 2-7-55)

ศูล” บาลีเป็น “สูล” (สู-ละ) แปลตามศัพท์ว่า “ผู้ทิ่มแทง” หมายถึง หอก, หลาว, เหล็กแหลม, ไม้แหลม, โรคจุกเสียด, ความจุกเสียด, ความเจ็บปวดอย่างสาหัส (ความหมายหลังนี้ฝรั่งแปลว่า an acute, sharp pain)

ตรีศูล” (อ่านว่า ตฺรี-สูน) พจน.54 บอกไว้ว่า “ศัสตราประจําหัตถ์พระอิศวร มีลักษณะคล้ายใบหอกสั้นหรือพระขรรค์ ๓ เล่ม โคนร่วมอยู่ในด้ามเดียวกัน” ซึ่งก็ตรงกับลักษณะพระแสงตรีที่ปรากฏในตราประจำพระราชวงศ์จักรี

คำว่า “ตรี” คนเก่าออกเสียงเป็น “กรี” (ตร- เป็น กร- เช่น ตรอก = กรอก, ตรม = กรม, ตรอง = กรอง)

จักร + ตรี = จักรตรี ออกเสียงแบบคนเก่าว่า จัก-กฺรี เสียงตรงกับ “จักรี” พอดี

จักรี” ตามนัยนี้มาจาก จักร + ตรี (-ศูล) ตามตราประจำพระราชวงศ์จักรี

พุทธภาษิต :

สพฺพํ  รฏฺฐํ  สุขํ  เสติ

ราชา  เจ  โหติ  ธมฺมิโก.

ถ้าผู้ปกครองดำรงธรรม

ทวยราษฎร์ก็อยู่เย็นเป็นสุข

6-4-57

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย