อุตริ (บาลีวันละคำ 690)
อุตริ
ภาษาไทยอ่านว่า อุด-ตะ-หฺริ
บาลีเป็น “อุตฺตริ” (ซ้อน ตฺ) อ่านว่า อุด-ตะ-ริ
“อุตฺตริ” รากศัพท์มาจาก อุ (= ขึ้น, ข้างนอก) + ตรฺ (ธาตุ = ข้าม, กระโดด) + อิ ปัจจัย
: อุ + ตรฺ = อุตฺตร + อิ = อุตฺตริ แปลตามศัพท์ว่า “ข้ามขึ้น” หรือ “โดดขึ้นไป” มีความหมายว่า นอกเหนือ, เหนือขึ้นไป, พ้นไป, เสริม, ยิ่งไปกว่านั้น, ไกลไปกว่านั้น, นอกจาก (out, over, beyond; additional, moreover, further, besides)
นอกจากเป็น “อุตฺตริ” แล้ว ยังเป็น “อุตฺตรึ” (อุด-ตะ-ริง, ลงนิคหิตที่ -ริ > -รึ) อีกรูปหนึ่งด้วย ทั้งสองคำนี้ใช้เป็นกริยาวิเศษณ์ หรือคุณศัพท์
ตัวอย่างเช่น ในบทอานิสงส์เมตตา มีคำว่า “อุตฺตรึ อปฺปฏิวิชฺฌนฺโต” แปลว่า “ยังไม่รู้แจ้งยิ่งขึ้นไป” คือยังไม่บรรลุธรรมขั้นสูงขึ้นไปอีก (ในข้อความนี้หมายถึงยังไม่บรรลุนิพพาน)
“อุตฺตริ – อุตฺตรึ” มีแนวคิดในความหมาย 2 นัย คือ –
(1) ตกจากพื้นฐานปกติแล้วกลับขึ้นมาได้ เช่น ตกลงไปในบ่อแล้วขึ้นจากบ่อได้ หรือพลาดพลั้งไปทำผิดทำชั่ว แล้วกลับตัวได้ ก็เรียกว่า “อุตฺตริ”
(2) อยู่ตามพื้นฐานปกติ แต่ทำ พูด คิดเหนือขึ้นไปจากปกติธรรมดา หรือที่คนธรรมดาไม่ทำหรือทำไม่ได้ ก็เรียกว่า “อุตฺตริ”
ตัวอย่างที่เด่นในความหมายหลังนี้ ก็คือ ยังไม่ได้บรรลุธรรม แต่บอกว่าได้บรรลุ ที่เรียกว่า “อวดอุตริมนุสธรรม” (คำนี้บาลีเป็น อุตฺตริมนุสฺสธมฺม < อุตฺตริ + มนุสฺส + ธมฺม)
“อุตฺตริ” ในภาษาไทยเขียน “อุตริ” (ต ตัวเดียว) พจน.54 บอกไว้ว่า –
“อุตริ : (คำวิเศษณ์) นอกคอก, นอกทาง, นอกรีต”
“อุตริ” ตามความหมายนี้น่าจะมีมูลมาจากคำว่า “อวดอุตริมนุสธรรม”
“อุตริมนุสธรรม” แปลตามศัพท์ว่า “ธรรมอันยวดยิ่งของมนุษย์” “ธรรมของมนุษย์ผู้ยอดยิ่ง” “ธรรมล้ำมนุษย์” หมายถึง ฌาน วิโมกข์ สมาบัติ มรรคผล บางทีเรียกให้ง่ายว่า ธรรมวิเศษ บ้าง คุณวิเศษ หรือ คุณพิเศษ บ้าง
มีสิกขาบทบัญญัติไว้ว่า ห้ามภิกษุอวดอุตริมนุสธรรม
ถ้าไม่มีคุณพิเศษจริงตามที่อวด มีโทษถึงขาดจากความเป็นพระ ที่เรียกว่า “ต้องอาบัติปาราชิก”
: อวดดีเมื่อไร หมดดีเมื่อนั้น
7-4-57