ทหาร (บาลีวันละคำ 737)
ทหาร
บาลีว่าอย่างไร
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“ทหาร (ทะ-หาน) : (คำนาม) ผู้มีหน้าที่สู้รบป้องกันประเทศ, นักรบ. (อะหม หาน ว่า นักรบ)”
คำว่า “ทหาร” แปลเป็นภาษาอังกฤษได้หลายคำ เช่น soldier, warrior, fighter, military man
พจนานุกรมอังกฤษ-บาลี แปลคำอังกฤษข้างต้นเป็นบาลีไว้หลายศัพท์ เช่น –
(1) โยธ, โยธี (โย-ทะ, โย-ที) = นักรบ, ทหาร, นักสู้ (a warrior, soldier, fighter, champion)
“โยธี” คำนี้สันสกฤตเป็น “โยธินฺ” มีที่ใช้ในภาษาไทย เช่น “นาวิกโยธิน” “อากาศโยธิน” และชื่อ “พหลโยธิน” เป็นต้น
(2) ยุทฺธภฏ (ยุด-ทะ-พะ-ตะ) เขียนแบบไทยเป็น “ยุทธภัฏ” (-ภัฏ คำเดียวกับ “ราชภัฏ”) = ผู้รับราชการในหน้าที่รบ
(3) โยธาชีวี (โย-ทา-ชี-วี) = ผู้ดำรงชีวิตอยู่ด้วยการศึกหรือสงคราม (one who lives by battle or war)
(4) ปฏิโยธ (ปะ-ติ-โย-ทะ) = นักรบเผชิญหน้า, นักรบที่บุกเข้าหาข้าศึก ไม่ใช่เอาแต่ตั้งรับ (a counter fighter)
(5) สงฺคามาวจร (สัง-คา-มา-วะ-จะ-ระ) = ผู้เจนต่อสนามรบ (whose sphere is the battle, quite at home on the battlefield)
ข้อสันนิษฐานที่มาของคำว่า “ทหาร” –
(1) นักบาลีหลายท่านเห็นว่า “ทหาร” มาจากบาลีว่า “ทหร” (ทะ-หะ-ระ)
หนังสือ ศัพท์วิเคราะห์ ของ พระธรรมกิตติวงศ์ (ทองดี สุรเตโช ป.ธ.9, ราชบัณฑิต) ที่คำว่า “ทหร” มีคำแปลว่า “ทหาร, คนหนุ่ม, หนุ่มน้อย”
แต่ในบทวิเคราะห์นั่นเองมีคำแปลตามรากศัพท์ว่า “ผู้นำอวัยวะให้เติบโตต่อไปได้โดยยาก”
หมายความว่า “ทหร” ก็คือเด็กที่แม้แต่จะดูแลรักษาตัวเองก็ทั้งยาก แล้วจะทำหน้าที่รบกับข้าศึกได้หรือ ?
(2) หลักนิยมในบาลี “ทหร” มักใช้เทียบคู่กับ “มหลฺลก” (มะ-หัน-ละ-กะ) ที่แปลว่า “ผู้ใหญ่” ตรงกับที่คำไทยพูดว่า “เด็กกับผู้ใหญ่” เมื่อต้องการแสดงความแตกต่างระหว่างวัย (ฝ่ายหนึ่งยังเป็นเด็กอยู่ แต่อีกฝ่ายหนึ่งเป็นผู้ใหญ่แล้ว) “ทหร” จึงมิได้มุ่งแสดงความแข็งแรงหนุ่มแน่นอันเป็นลักษณะของ “ทหาร”
(3) ภาษาไทยมีคำว่า “หาญ” แปลว่า กล้า, เก่ง, เช่น ทหารหาญ; บังอาจ เช่น หาญสู้, บางทีก็ใช้เข้าคู่กับคำอื่น เช่น กล้าหาญ หักหาญ เหี้ยมหาญ ฮึกหาญ (พจน.54) ซึ่งล้วนแต่เป็นลักษณะของ “ทหาร”
(4) ภาษาไทยมีคำพูดว่า“ทแกล้วทหาร” คำว่า “ท-” (ทะ) พจน.54 บอกว่า “ใช้เป็นคํานําหน้านาม แปลว่า คน, ผู้, เช่น ทมูลทนาย ทแกล้วทหาญ”
คำว่า “ทหาร” จึงน่าจะมาจาก “ท+หาญ” หมายถึง “คนผู้กล้าหาญ” ซึ่งเป็นคำที่ล้อกันกับ “ทแกล้ว” หรือ “ทกล้า” ที่แปลว่า “ผู้กล้า” “ทหาญ” ก็คือ “ผู้หาญ” นั่นเอง
(5) เสียง “-หาน” จะใช้ –ญ หรือ –ร หรือ –น สะกด โบราณไม่เคร่งครัด คำหลายคำที่หนังสือเก่าใช้ –ร สะกด เช่น เดิร (เดิน) งาร (งาน) ดังนั้น “-หาญ” โบราณก็อาจสะกดเป็น “หาร” ได้ด้วย
(6) ด้วยเหตุผลดังกล่าว ท+หาญ = ทหาญ > ทหาร ในขณะที่ “เดิร” ยุติเป็น “เดิน” “งาร” ยุติเป็น “งาน” แต่ “ทหาร” ไม่กลับไปเป็น “ทหาญ” คงยุติเป็น “ทหาร” เข้าหลัก “ผิดจนถูก”
คำทหารปลุกใจ : “ตายในสนามรบเป็นเกียรติของทหาร”
คำปลุกใจทหาร : เกียรติของทหารมิใช่อยู่แต่ในสนามรบ
การป้องกันไม่ให้ประเทศเป็นซากศพ ก็เป็นเกียรติของทหาร
—————-
หมายเหตุ :
๑. ข้อสันนิษฐานที่มาของคำว่า “ทหาร” เป็นความเห็นส่วนตัวของผู้เขียนบาลีวันละคำ ไม่ใช่ข้อยุติ ทุกท่านสามารถช่วยกันบูรณาการเพื่อให้ได้ข้อยุติที่ถูกต้องสมบูรณ์
๒. คำว่า “ทหาร” นี้เสนอเป็นบาลีวันละคำเป็นครั้งแรก คำที่ (649) เมื่อ 25-2-57 นำกลับมาเสนอซ้ำตามคำถามของ สานิตย์ สีนาค และถือโอกาสแก้ไขถ้อยคำบางแห่งที่ครั้งก่อนอ้าง พจน.42 ทั้งนี้เพื่อให้ตรงตาม พจน.54
25-5-57
เสนอเป็นครั้งแรก
#บาลีวันละคำ (649)
25-2-57