บูรพาพยัคฆ์ (บาลีวันละคำ 745)
บูรพาพยัคฆ์
(บาลีไทย)
อ่านว่า บู-ระ-พา-พะ-ยัก
เทียบบาลีเป็น “ปุพฺพพฺยคฺฆ” อ่านว่า ปุบ-พะ-พฺยัก-คะ
(พฺยัก- ออกเสียงเหมือน เพียก-)
ประกอบด้วย ปุพฺพ + พฺยคฺฆ
“ปุพฺพ” แปลว่า อดีต, เคยมีมาก่อน, แต่ก่อน, เบื้องหน้า, ตะวันออก
“ปุพฺพ” สันสกฤตเป็น “ปูรฺว” ในภาษาไทยใช้ตามบาลีก็มี เช่น –
(1) เป็น บุพ– เช่น บุพการี = “ผู้ที่ทําอุปการะมาก่อน”
(2) เป็น บุพพ– เช่น บุพพาจารย์ = “อาจารย์ในเบื้องต้น”
ใช้อิงสันสกฤต โดย –
(1) แผลง ปู เป็น บุ แผลง ว เป็น พ : ปูรฺว > บุรว > บุรพ ก็มี เช่น บุรพทิศ = “ทิศตะวันออก”
(2) แผลง ปู เป็น บู แผลง ว เป็น พ = บูรพ ก็มี เช่น บูรพาจารย์ = “อาจารย์ในเบื้องต้น”
(3) แผลง ปูรฺว เป็น บรรพ ก็มี เช่น บรรพบุรุษ = “คนผู้มีมาก่อน” แต่ปางบรรพ์ = แต่ปางก่อน
“พฺยคฺฆ” แปลตามศัพท์ว่า (1) “ผู้ฆ่าแล้วดม” (เล็งถึงลักษณะนิสัยของสัตว์ชนิดนี้) (2) “ผู้ยังสัตว์นั้นๆ ให้ถึงความวิบัติแล้วกิน” หมายถึง เสือ, เสือโคร่ง
“พฺยคฺฆ” ภาษาไทยเขียน “พยัคฆ์”
ปุพฺพ > บูรพ > บูรพา + พฺยคฺฆ > พยัคฆ์ = บูรพาพยัคฆ์ แปลตามศัพท์ว่า “เสือตะวันออก”
“บูรพาพยัคฆ์” เป็นนามเรียกทหารในสังกัดกองพลทหารราบที่ 2 รักษาพระองค์ ซึ่งได้รับพระราชทานพระบรมราชานุญาตให้เป็นหน่วยทหารรักษาพระองค์ในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ได้รับพระราชทานสมญานามจากสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถว่า “ทหารเสือนวมินทราชินี” อันเป็นที่มาของคำว่า “พยัคฆ์” ที่ตั้งและภารกิจความรับผิดชอบของทหารหน่วยนี้อยู่ในพื้นที่ภาคตะวันออก (ที่ตั้งหน่วยอยู่ในพื้นที่จังหวัดปราจีนบุรี สระแก้ว และชลบุรี) จึงเป็นที่มาของคำว่า “บูรพา” ซึ่งหมายถึงทิศตะวันออก
: เสือแท้ ไม่รังแกลูกเมียของมัน ฉันใด
: ทหารเสือไทย ก็ไม่รังแกประเทศชาติและประชาชน ฉันนั้น
—————–
(ส่วนหนึ่งเนื่องมาจากข้อสงสัยของ Likhit Channopakao)
#บาลีวันละคำ (745)
2-6-57