บาลีวันละคำ

แม่พิมพ์ (บาลีวันละคำ 1,326)

แม่พิมพ์

คำไทยประสมบาลี

(๑) “แม่

เป็นคำไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกความหมายไว้ดังนี้ –

(1) หญิงผู้ให้กำเนิดหรือเลี้ยงดูลูก, คำที่ลูกเรียกหญิงผู้ให้กำเนิดหรือเลี้ยงดูตน.

(2) คำที่ผู้ใหญ่เรียกผู้หญิงที่มีอายุน้อยกว่าด้วยความสนิทสนมหรือรักใคร่เป็นต้น ว่า แม่นั่น แม่นี่.

(3) คำใช้นำหน้านามเพศหญิง แปลว่า ผู้เป็นหัวหน้า เช่น แม่บ้าน.

(4) ผู้หญิงที่กระทำกิจการหรืองานอย่างใดอย่างหนึ่ง เช่น ค้าขาย เรียกว่า แม่ค้า ทำครัว เรียกว่า แม่ครัว.

(5) เรียกสัตว์ตัวเมียที่มีลูก เช่น แม่ม้า แม่วัว.

(6) เรียกคนผู้เป็นหัวหน้าหรือเป็นนายโดยไม่จำกัดว่าเป็นชายหรือหญิง เช่น แม่ทัพ แม่กอง.

(7) คำยกย่องเทวดาผู้หญิงบางพวก เช่น แม่คงคา แม่ธรณี แม่โพสพ, บางทีก็ใช้ว่า เจ้าแม่ เช่น เจ้าแม่กาลี.

(8) เรียกสิ่งที่เป็นประธานของสิ่งต่าง ๆ ในพวกเดียวกัน เช่น แม่กระได แม่แคร่ แม่แบบ.

(9) เรียกชิ้นใหญ่กว่าในจำพวกสิ่งที่สำหรับกัน เช่น แม่กุญแจ คู่กับ ลูกกุญแจ.

(10) แม่นํ้า เช่น แม่ปิง แม่วัง.

(11) คำหรือพยางค์ในภาษาไทยที่มีตัวสะกดต่างๆ กันไป เรียกว่า แม่-ต่างๆ เช่น คำหรือพยางค์ที่มีตัว ก ข ค ฆ สะกดเรียกว่า แม่กก, คำหรือพยางค์ที่มีตัว ง สะกด เรียกว่า แม่กง เป็นต้น.

(๒) “พิมพ์

บาลีเป็น “พิมฺพ” (พิม-พะ) รากศัพท์มาจาก –

(1) มนฺ (ธาตุ = รู้) + ปัจจัย, แปลง ที่ -(นฺ) เป็น , อะ ที่ -(นฺ) เป็น อิ, ที่ (ม)-นฺ เป็น , ปัจจัยเป็น

: มนฺ + = มนฺว > พนฺว > พินฺว > พิมฺว > พิมฺพ แปลตามศัพท์ว่า “สิ่งเป็นเหตุให้รู้จัก” คือเมื่อเห็นสิ่งนี้ก็ทำให้รู้ได้ว่าเป็นสิ่งนั้น

(2) วมุ (ธาตุ = สำรอก, อาเจียน, ลอกออก) + ปัจจัย, แปลง ที่ -(มุ) เป็น , อะ ที่ -(มุ) เป็น อิ, ลบสระที่สุดธาตุ (วมุ > วมฺ)

: วมุ > วมฺ + = วมฺพ > พมฺพ > พิมฺพ แปลตามศัพท์ว่า “สิ่งอันเขาลอกแบบมา

พิมฺพ” หมายถึง รูปร่าง, แบบ, ทรวดทรง, รูปเปรียบ

พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “พิมฺพ” ว่า –

(1) shape, image (ทรวดทรง, รูปเปรียบ)

(2) the red fruit of Momordica monadelpha, a species of Amaranth (ผลไม้ชนิดหนึ่ง มีสีแดง, ลูกตำลึง)

พิมฺพ” เดิมเป็นคำเรียก “รูปหุ่นที่ตกแต่งไว้” ธรรมดา “หุ่น” จะทำให้สวยงามขนาดไหนก็ย่อมได้ “พิมฺพ” จึงมีความหมายโดยนัยว่า “ร่างที่สวยงาม” และเป็นคำใช้เรียกสตรีที่มีรูปร่างงาม (ชื่อ “พิมพิลาไลย” น่าจะมีนัยเช่นนี้)

ไทยเอาคำว่า “พิมฺพ” มาใช้ว่า “พิมพ์” พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

พิมพ์ : (คำนาม) รูป, รูปร่าง, แบบ, เช่น หยอดวุ้นลงในพิมพ์ หน้าตาเป็นพิมพ์เดียวกัน. (คำกริยา) ถ่ายแบบ, ใช้เครื่องจักรกดตัวหนังสือหรือภาพเป็นต้นให้ติดบนวัตถุ เช่นแผ่นกระดาษ ผ้า, เช่น พิมพ์ผ้า พิมพ์ขนมเป็นรูปต่าง ๆ. (ป., ส.).”

คำฝรั่งที่เราพูดกันว่า print บาลีใช้ว่า “มุทฺทาเปติ = ถอดแบบ” และ publish บาลีว่า “ปกาเสติ = ประกาศให้ทราบ” ไม่ได้ใช้คำว่า “พิมฺพ” เหมือนในภาษาไทย

แม่ + พิมพ์ = แม่พิมพ์

พจน.54 บอกไว้ว่า –

แม่พิมพ์ : (คำนาม) สิ่งที่เป็นต้นแบบ เช่น แม่พิมพ์ตัวหนังสือ, โดยปริยายหมายถึงครูอาจารย์ซึ่งถือว่าเป็นแบบอย่างความประพฤติของศิษย์.”

อภิปราย :

๑ ครูบาอาจารย์ที่เปรียบเป็น “แม่พิมพ์” นี้ ถ้าเป็นเพศชาย มักมี “คนบ้าจี้” เปลี่ยนคำเรียกเป็น “พ่อพิมพ์

๒ “แม่” มีความหมายหลายอย่าง (ดูข้างต้น) แต่ในคำว่า “แม่พิมพ์” นี้ “แม่” ใช้ในความหมายตามนัยแห่งข้อ (6) เรียกคนผู้เป็นหัวหน้าหรือเป็นนายโดยไม่จำกัดว่าเป็นชายหรือหญิง เช่น แม่ทัพ แม่กอง และข้อ (8) เรียกสิ่งที่เป็นประธานของสิ่งต่าง ๆ ในพวกเดียวกัน เช่น แม่กระได แม่แคร่ แม่แบบ

ไม่ใช่คำแสดงความเป็นเพศหญิงดังที่บางคน (หลายคน) เข้าใจ

๓ การเรียกครูผู้ชายว่า “พ่อพิมพ์” เป็นสิ่งบอกเหตุว่า คนสมัยนี้เข้าใจคำว่า “แม่” ในแง่เดียวเท่านั้น คือ แม่คือเพศหญิง

๔ คงไม่น่าแปลกใจถ้าในอนาคตจะมีคนบ้าจี้เปลี่ยนคำว่า “แม่ทัพ” เป็น “พ่อทัพ” และ “แม่กองบาลีสนามหลวง” เปลี่ยนเป็น  “พ่อกองบาลีสนามหลวง” หรือไม่ก็ “พระกองบาลีสนามหลวง”

: แม่พิมพ์ที่ดีของชีวิต

: สร้างได้ด้วยจิตที่ฝึกอบรมดี

16-1-59

ต้นฉบับ

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *