บาลีวันละคำ

สิริ – ศรี (บาลีวันละคำ 1,412)

สิริศรี

(๑) “สิริ

บาลีอ่านว่า สิ-ริ (บาลีมี “สิรี” อีกรูปหนึ่ง) รากศัพท์มากจาก สิ (ธาตุ = เสพ, คบหา, อาศัย) + ปัจจัย + อิ หรือ อี ปัจจัยเครื่องหมายอิตถีลิงค์

: สิ + = สิร + อิ (อี) = สิริ (สิรี) แปลตามศัพท์ว่า “สิ่งอันผู้ทำความดีไว้ได้สัมผัส” หรือ “สิ่งที่อาศัยอยู่ในบุคคลผู้ทำความดีไว้

พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แยกความหมายของ “สิริ” ไว้ดังนี้ –

1. ความโอ่อ่าอลังการ, ความสวยงาม (splendour, beauty)

2. โชค, ความรุ่งโรจน์, ความมีเดช, ความรุ่งเรือง (luck, glory, majesty, prosperity)

3. เทพธิดาแห่งโชคลาภ (the goddess of luck)

4. (เมื่อ + คพฺภ = สิริคพฺภ) ห้องบรรทม (the royal bed-chamber)

(๒) “ศรี

บาลี “สิริ” หรือ “สิรี” เป็น “ศฺรี” ในสันสกฤต (มีจุดใต้ )

คำว่า “ศฺรี” ในภาษาสันสกฤตมีความหมายอย่างไรบ้าง สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน บอกไว้ดังนี้ –

(สะกดตามต้นฉบับ)

ศฺรี : (คำนาม) ‘ศรี,’ ภาคย์, สัมฤทธิหรือบุณโยทัย; ธน, ทรัพย์; เสาวภาคย์, ความงาม; อาภา, อาโลก; ความรัก, หน้าที่, และทรัพย์; เครื่องแต่งตัว, เครื่องประดับ; ภาวะหรือสถิติ; ทิพยศักดิ์, อมานุษศักดิ์; มติ, พุทธิ, ความรู้, ความเข้าใจ; ผล; เกียรติ; พระลักษมี, ผู้ชายาของพระวิษณุ, และเปน ‘ภควดีศรี’ หรือเจ้าทรัพย์และความเจริญ; นามของสรัสวดี; กานพลู; อุปสรรคหรือบทน่านามเทวดา (ย่อมใช้ซ้ำ), ดุจคำว่า ศรีศรีทุรคา; บทน่าบอกความเคารพต่อวิสามานยนามของบุรุษ, ดุจคำว่า ศรีชัยเทพ; บทน่าครันถ์, ดุจคำว่า ศรีภาควัต; ต้นศรัลหรือต้นสน; fortune, prosperity; wealth, riches; beauty, splendor; light; love, duty, and wealth; dress, decoration; state; superhuman power; intellect, understanding; consequence; fame or glory; the goddess Lakshmi, the wife of Vishṇu, and deity of plenty and prosperity; a name of Sarasvati; cloves; a prefix to the name of deities (often used repeatedly), as Śri Śri Durgā; a prefix of respect to proper names of persons, as Śri Jayadeva; a prefix to works, as Śri Bhāgavat; the Śaral or pine tree.”

ในภาษาไทยใช้ทั้ง “สิริ” และ “ศรี

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกความหมายของ “สิริ” ไว้ดังนี้ –

1. ผสม เช่น สามีภรรยาสิริอายุเข้าด้วยกัน 150 ปี, รวม เช่น สิริอายุได้ 72 ปี

2. (ความหมายข้อนี้เป็น “สิรี” ด้วย) ศรี, มิ่งขวัญ, มงคล, เช่น สิริราชสมบัติ, มักใช้เข้าคู่กับคำ มงคล เป็น สิริมงคล; สวย, งาม, เช่น ทรงมีพระสิริโฉม

และบอกความหมายของ “ศรี” ไว้ดังนี้ –

1. มิ่ง, สิริมงคล, ความรุ่งเรือง, ความสว่างสุกใส, ความงาม, ความเจริญ, เช่น ศรีบ้าน ศรีเรือน ศรีเมือง

2. ใช้นำหน้าคำบางคำเป็นการยกย่อง เช่น พระศรีรัตนตรัย วัดพระศรีรัตนศาสดาราม

3. พลู. (คำมลายู); (ราชาศัพท์) หมากพลู เรียกว่า พระศรี

4. ผู้หญิง (คำเขมร = สี)

5. (คำที่ใช้ในบทกลอน) ลักษณนามใช้แก่คน เช่น พระปิตุราชมาตุรงค์ทรงพระสรวล เห็นสมควรคู่ครองกันสองศรี (จากเรื่องพระอภัยมณี)

…….

ในนิทานสงกรานต์ ท้าวกบิลมหาพรหมถามปัญหาธรรมบาลกุมารว่า เวลาเช้าสิริของคนอยู่ที่ไหน เวลาเที่ยงสิริอยู่ที่ไหน เวลาค่ำสิริอยู่ที่ไหน

ธรรมบาลกุมารตอบว่า –

เวลาเช้าสิริอยู่ที่ใบหน้า เมื่อตื่นนอนคนจึงเอาน้ำล้างหน้า

เวลาเที่ยงสิริอยู่ที่อก เมื่อยามเที่ยงวันคนจึงเอาน้ำลูบอก

เวลาค่ำสิริอยู่ที่เท้า เมื่อจะเข้านอนคนจึงเอาน้ำล้างเท้า

…….

ดูก่อนภราดา!

ถ้ามองไม่เห็นสิริอันมีอยู่แล้วในหัวใจของตน

ดังฤๅจะไปเที่ยวขอสิริมงคลจากใครใด

13-4-59

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย