กิมิชาติ (บาลีวันละคำ 2496)
กิมิชาติ
อ่านว่า กิ-มิ-ชาด
ประกอบด้วยคำว่า กิมิ + ชาติ
(๑) “กิมิ”
อ่านว่า กิ-มิ รากศัพท์มาจาก –
(1) กุ (ตัดมาจากคำว่า “กุจฺฉิต” = น่าเกลียด) + อมฺ (ธาตุ = ไป, ถึง) + อิ ปัจจัย, แปลง อุ ที่ กุ เป็น อิ (กุ > กิ)
: กุ + อมฺ = กุมฺ + อิ = กุมิ > กิมิ แปลตามศัพท์ว่า “สัตว์ที่ถึงความน่าเกลียด”
(2) กิ (ธาตุ = เบียดเบียน) + มิ ปัจจัย
: กิ + มิ = กิมิ แปลตามศัพท์ว่า (1) “สัตว์ที่ถูกสัตว์มีพิษมากกว่าเช่นมดแดงเป็นต้นเบียดเบียน” (2) “สัตว์ที่เบียดเบียนสัตว์อื่น”
“กิมิ” (ปุงลิงค์) ในบาลีใช้ในความหมายดังนี้ –
(1) หนอน, ไส้เดือน (a worm, vermin)
(2) แมลง (an insect)
(3) ตัวไหม (the silk worm)
(๒) “ชาติ”
บาลีอ่านว่า ชา-ติ รากศัพท์มาจาก ชนฺ (ธาตุ = เกิด) + ติ ปัจจัย
กระบวนการทางไวยากรณ์ :
แบบที่ 1 แปลง ชนฺ เป็น ชา : ชน > ชา + ติ = ชาติ
แบบที่ 2 แปลง น ที่ (ช-)นฺ เป็น อา : (ช)นฺ > อา (> ช + อา) = ชา + ติ = ชาติ
แบบที่ 3 ลบ น ที่ (ช-)นฺ ทีฆะ อะ ที่ ช เป็น อา : ชนฺ > ช > ชา + ติ = ชาติ
“ชาติ” (อิตถีลิงค์) แปลตามศัพท์ว่า “การเกิด” ในภาษาบาลีใช้ในความหมายดังต่อไปนี้ –
(1) การเกิด, การเกิดใหม่, กำเนิด (birth, rebirth, possibility of rebirth)
(2) ชาติกำเนิด, เชื้อชาติ, ชั้น, วงศ์วาน (descent, race, rank, genealogy)
(3) จำพวก, ชนิด (a sort of, kind of)
(4) ตามธรรมชาติ (ตรงข้ามกับของที่ตกแต่งขึ้น); แท้จริง, บริสุทธิ์, วิเศษ (ตรงกันขามกับปนเจือ เลว) (by birth or nature, natural [opp. artificial]; genuine, pure, excellent [opp. adulterated, inferior])
ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 เก็บคำว่า “ชาติ” ไว้ 3 คำ บอกไว้ดังนี้ –
(1) ชาติ ๑, ชาติ– ๑ : (คำนาม) การเกิด, กำเนิด, มักใช้ว่า ชาติเกิด หรือ ชาติกำเนิด เช่น ถ้าทำไม่ดีก็เสียชาติเกิด, ความมีชีวิตอยู่ตั้งแต่เกิดจนตาย เช่น สบายทั้งชาติ; เหล่ากอ, เทือกเถา, เผ่าพันธุ์, เช่น ชาตินักรบ ชาติไพร่. (ป., ส.).
(2) ชาติ ๒, ชาติ– ๒ : (คำนาม) ประเทศ เช่น รู้คุณชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์; ประชาชนที่เป็นพลเมืองของประเทศ, ประชาชาติ ก็ว่า; กลุ่มชนที่มีความรู้สึกในเรื่องเชื้อชาติ ศาสนา ภาษา ประวัติศาสตร์ ความเป็นมา ขนบธรรมเนียมประเพณี และวัฒนธรรมอย่างเดียวกัน หรืออยู่ในปกครองรัฐบาลเดียวกัน.
(3) ชาติ ๓, ชาติ– ๓ : (คำนาม) ชนิด, จำพวก, ชั้น, หมู่; คำเพิ่มข้างหลังของคำเดิม เมื่อเพิ่มแล้วความหมายคงเดิม เช่น รสชาติ, หรือหมายถึงพวกหรือหมู่ เช่น คชาชาติ มนุษยชาติ.
ในที่นี้ “ชาติ” ใช้ในความหมายตาม “ชาติ ๓”
ความรู้เสริม :
ในภาษาบาลีมีคำจำพวกหนึ่งเรียกว่า “ศัพท์สกรรถ” (สับ-สะ-กัด) คำว่า “สกรรถ” มาจาก สก = ของตน + อตฺถ = ความหมาย = สกตฺถ > สกรรถ แปลว่า “ความหมายของตน” หมายถึง เมื่อเอา “ศัพท์สกรรถ” ไปต่อท้ายคำใด คำนั้นก็ยังคงมี “ความหมายของตน” เท่าเดิม ดังที่พจนานุกรมฯ บอกว่า “คำเพิ่มข้างหลังของคำเดิม เมื่อเพิ่มแล้วความหมายคงเดิม”
“ศัพท์สกรรถ” ในภาษาไทยตามที่พจนานุกรมฯ ยกตัวอย่าง คือ
– “อากร” ในคำเช่น นรากร ประชากร
– “อาการ” ในคำเช่น คมนาการ ทัศนาการ
– “ชาติ” ในคำเช่น มนุษยชาติ ติณชาติ
– “ประเทศ” ในคำเช่น อุรประเทศ หทัยประเทศ
“ศัพท์สกรรถ” ในภาษาบาลีที่พบบ่อย คือ “ภูต” (พู-ตะ) “ชาต” (ชา-ตะ) “ชาติ” (ชา-ติ)
“ภูต” ตามศัพท์แปลว่า “เป็น” “ชาต” และ “ชาติ” ตามศัพท์แปลว่า “เกิด” แต่เมื่อนำไปต่อท้ายศัพท์อื่นในฐานะเป็น “ศัพท์สกรรถ” ก็ไม่ต้องแปล คงแปลเฉพาะศัพท์หน้าเท่าเดิม
โปรดสังเกตว่า ในบาลี “ศัพท์สกรรถ” มีทั้ง “ชาต” และ “ชาติ”
“ชาต” ใช้ในกรณีที่ต้องการให้ศัพท์นั้นเป็นนปุงสกลิงค์
“ชาติ” ใช้ในกรณีที่ต้องการให้ศัพท์นั้นเป็นอิตถีลิงค์
กิมิ + ชาติ = กิมิชาติ อ่านแบบบาลีว่า กิ-มิ-ชา-ติ อ่านแบบไทยว่า กิ-มิ-ชาด
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“กิมิชาติ : (คำแบบ) (คำนาม) หนอน, หมู่หนอน. (ป.).”
หมายเหตุ: “คำแบบ” หมายถึง คำที่ใช้เฉพาะในหนังสือ ไม่ใช่คำพูดทั่วไป
ปรารภ :
ฝ่ายโหรพราหมณ์ กองพระราชพิธี สำนักพระราชวัง ได้ออกประกาศสงกรานต์ประจำปีพุทธศักราช 2562 มีข้อความตอนหนึ่งว่า –
…………..
เกณฑ์ธัญญาหารได้เศษ 2 ชื่อ วิบัติ
ข้าวกล้าในภูมินาจะเกิดกิมิชาติ (ด้วงกับแมลง)
จะได้ผลกึ่งเสียกึ่ง
…………..
โปรดสังเกตว่า ในประกาศสงกรานต์ คำว่า “กิมิชาติ” มีวงเล็บบอกไว้ว่า “ด้วงกับแมลง”
พจนานุกรมฯ บอกว่า “กิมิชาติ” คือ หนอน, หมู่หนอน
ความหมายในภาษาบาลีบอกว่า “กิมิ” คือ หนอน, ไส้เดือน; แมลง; ตัวไหม
ในสำนวนไทย มีคำว่า “หนอนบ่อนไส้” หมายถึง ฝ่ายตรงข้ามที่เข้ามาทำทีเป็นพวกเพื่อบ่อนทำลาย
“หนอน” ในสำนวนนี้ก็คือ “กิมิ” หรือ “กิมิชาติ” นี่เอง
…………..
ดูก่อนภราดา!
: จิตที่ตั้งไว้ผิดพลาด
: คือกิมิชาติที่บ่อนทำลายตัวเอง
#บาลีวันละคำ (2,496)
13-4-62