เศรษฐกิจ (บาลีวันละคำ 813)
รณรงค์
อ่านว่า รน-นะ-รง
ประกอบด้วยคำว่า รณ + รงค์
(๑) ในบาลี คำว่า “รณ” (ระ-นะ) แปลว่า –
(1) การต่อสู้, การรบ, สงคราม (fight, battle, war) ความหมายนี้แปลตามศัพท์ว่า “การที่ส่งเสียงดัง” อาจเนื่องมาจากธรรมชาติในการสู้รบกันนั้นมักต้องส่งเสียงโห่ร้องอื้ออึง ประกอบด้วยเสียงจากอาวุธยุทโธปกรณ์อีกส่วนหนึ่งด้วย
(2) ความมึนเมา, ความอยาก, บาป, ความผิด (intoxication, desire, sin, fault) รวมไปถึง ความเจ็บปวด, ความปวดร้าว, ความทุกข์ยาก (pain, anguish, distress)
ข้อ (2) นี้เป็นความหมายในทางธรรม หรืออิงแนวคิดทางศาสนา คำที่มีความหมายตรงข้ามหรือเชิงปฏิเสธคือ “อรณ” (อะ-ระ-นะ) หมายถึง ปราศจากอันตราย, ปลอดจากกิเลส หรือตามศัพท์ว่า “ไม่ต้องต่อสู้” เพราะเอาชนะกิเลสได้เด็ดขาดแล้ว คือต่อสู้มาจนจบเสร็จไปแล้วจึงไม่ต้องต่อสู้อีก
(๒) “รงฺค” (รัง-คะ) ในบาลีหมายถึง เวที, โรงละคร, สถานที่ฟ้อนรำ, โรงมหรสพ (a stage, theatre, dancing place, playhouse) ความหมายตามศัพท์ว่า “ย้อมสี” (ในภาษาไทยว่า “รงค์” = สี) หรือ “ย้อมจิตให้ติดความเพลิดเพลิน”
ใน สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน คำว่า “รงฺค” แปลทำนองเดียวกับบาลี แต่มีอีกความหมายหนึ่งแปลว่า “สนามรบ” (a field of battle)
ตามนัยนี้ รณ + รงฺค = รณรงฺค > รณรงค์ จึงแปลได้ว่า เวทีสำหรับการต่อสู้ หรือ “สนามรบ” (a battlefield) ตรงตัว
เป็นที่เข้าใจกันว่า “รณรงค์” ใช้คำอังกฤษว่า campaign
พจนานุกรมอังกฤษ-บาลี แปล campaign เป็นบาลีว่า –
(1) yuddhabhūmi ยุทฺธภูมิ (ยุด-ทะ-พู-มิ) = ยุทธภูมิ คือสนามรบ
(2) yuddhāvatthā ยุทฺธาวตฺถา (ยุด-ทา-วัด-ถา) = การแปรขบวนเข้ารบ
ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
(1) รณ : (คำนาม) เสียง, เสียงดัง; สงคราม. (คำกริยา) รบ, รบศึก. (ป., ส.).
(2) ณรงค์ : (คำกริยา) ต่อสู้ชิงชัย เช่น ณรงค์เพื่อต่อต้านวัณโรค. (คำนาม) การรบ, การต่อสู้. (ตัดมาจาก รณรงค์).
(3) รณรงค์ : (คำนาม) การรบ; สนามรบ. (คำกริยา) ต่อสู้, โฆษณาชักชวนอย่างต่อเนื่องโดยมีเจตนาที่จะต่อสู้เพื่อให้บรรลุเป้าหมายตามที่ต้องการ เช่น รณรงค์หาเสียงในการเลือกตั้ง รณรงค์ให้คนไทยใช้ของไทย. (ส.).
ชนะใจตัวเองได้อย่างเดียว : ชนะได้หมดทั้งสามโลก
แพ้ใจตัวเองอย่างเดียว : แพ้หมดทั้งสามโลก
#บาลีวันละคำ (813)
9-8-57