บรมราชสถิตยมโหฬาร (บาลีวันละคำ 2443)
บรมราชสถิตยมโหฬาร
…………..
ในพระบรมมหาราชวังมีพระที่นั่งหมู่หนึ่ง ตั้งชื่อคล้องจองกันอย่างไพเราะเพราะพริ้งนับได้ถึง 10 ชื่อ ดังนี้ –
(1) มูลสถานบรมอาสน์
(2) สมมติเทวราชอุปบัติ
(3) ดำรงสวัสดิ์อนัญวงศ์
(4) นิพัทธพงศ์ถาวรวิจิตร
(5) บรมราชสถิตยมโหฬาร
(6) อมรพิมานมณี
(7) สุทธาศรีอภิรมย์
(8) บรรณาคมสรนี
(9) ปรีดีราชวโรทัย
(10) เทพดนัยนันทยากร
ผู้เขียนบาลีวันละคำขอนำชื่อพระที่นั่งแต่ละองค์มาแยกศัพท์และแปลสู่กันฟังตามสติปัญญา เพื่อเป็นอลังการทางภาษาและเป็นเครื่องประเทืองปัญญาตามสมควร
อนึ่ง พึงทราบว่า ชื่อพระที่นั่งเหล่านี้เป็นวิสามานยาม (proper name) การแยกศัพท์และแปลจึงกระทำไปเท่าที่ตาเห็น ซึ่งอาจคลาดเคลื่อนไปจากเจตนาของผู้ตั้งชื่อก็เป็นได้
อีกประการหนึ่ง ขอบเขตของบาลีวันละคำมีเพียงแค่แยกศัพท์และแปลความหมายเท่านั้น มิได้แสดงรายละเอียดอื่นๆ ของพระที่นั่งแต่ละองค์ประกอบไว้ด้วย
ดังนั้น หากญาติมิตรท่านใดมีข้อมูลที่แตกต่างไปจากที่แสดงไว้ก็ดี มีรายละเอียดอื่นๆ เกี่ยวกับพระที่นั่งแต่ละองค์ก็ดี หากจะกรุณานำมาร่วมเสนอไว้เพื่อบูรณาการองค์ความรู้ ก็จะเป็นพระคุณอย่างยิ่ง
…………..
“บรมราชสถิตยมโหฬาร” อ่านว่า บอ-รม-มะ-ราด-ชะ-สะ-ถิด-มะ-โห-ลาน แยกศัพท์เป็น บรม + ราช + สถิตย + มโหฬาร
(๑) “บรม”
บาลีเป็น “ปรม” อ่านว่า ปะ-ระ-มะ รากศัพท์มาจากหลายทาง แสดงในที่นี้พอเป็นตัวอย่าง :
(1) ปร (ข้าศึก) + มรฺ (ธาตุ = ตาย) + กฺวิ ปัจจัย ลบที่สุดธาตุ และลบปัจจัย
: ปร + มรฺ = ปรมร + กฺวิ = ปรมรกฺวิ > ปรม แปลตามศัพท์ว่า “ยังธรรมอันเป็นข้าศึกให้ตาย”
(2) ป (ทั่วไป) + รมฺ (ธาตุ = ยินดี) + ณ ปัจจัย, ลบ ณ
: ป + รมฺ = ปรม + ณ = ปรมณ > ปรม แปลตามศัพท์ว่า “ยินดีในความยิ่งใหญ่”
(3) ปรฺ (ธาตุ = รักษา) + ม ปัจจัย
: ปร + ม = ปรม แปลตามศัพท์ว่า “รักษาความสูงสุดของตนไว้”
“ปรม” หมายถึง สูงสุด, พิเศษสุด, เป็นเลิศ, ดีที่สุด (highest, most excellent, superior, best)
“ปรม” ที่ใช้ภาษาไทยว่า “บรม” (บอ-รม) พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“บรม, บรม– : (คำวิเศษณ์) อย่างยิ่ง, ที่สุด, (มักใช้นําหน้าคําที่เกี่ยวกับพระพุทธเจ้า พระเจ้าแผ่นดิน และพระอัครมเหสี เป็นต้น เพื่อแสดงพระเกียรติยศยิ่งใหญ่) เช่น บรมศาสดา บรมบพิตร บรมราชินี บรมมหาราชวัง. (ป., ส. ปรม); (ภาษาปาก) อย่างที่สุด เช่น โง่บรม บรมขี้เกียจ.”
(๒) “ราช”
บาลีอ่านว่า รา-ชะ แปลตามรากศัพท์ว่า –
(1) “ผู้รุ่งเรืองโดยยิ่งเพราะมีเดชานุภาพมาก”
ความหมายนี้ประกอบขึ้นจาก ราชฺ (ธาตุ = รุ่งเรือง) + อ (ปัจจัย) = ราช
หมายความว่า ผู้เป็นพระราชาย่อมมีเดชานุภาพมากกว่าคนทั้งหลาย
(2) “ผู้ยังคนทั้งหลายให้ยินดี”
ความหมายนี้ประกอบขึ้นจาก รญฺชฺ (ธาตุ = ยินดี พอใจ) + ณ (ปัจจัย) ลบ ณ ลบ ญฺ แผลง ร เป็น รา = ราช
หมายความว่า เป็นผู้อำนวยความสุขให้ทวยราษฎร์ จนคนทั้งหลายร้องออกมาว่า “ราชา ราชา” (พอใจ พอใจ)
“ราช” หมายถึง พระราชา, พระเจ้าแผ่นดิน ใช้นำหน้าคำให้มีความหมายว่า เป็นของพระเจ้าแผ่นดิน, เกี่ยวกับพระเจ้าแผ่นดิน หรือเป็นของหลวง
ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“ราช ๑, ราช– : (คำนาม) พระเจ้าแผ่นดิน, พญา (ใช้แก่สัตว์) เช่น นาคราช คือ พญานาค สีหราช คือ พญาราชสีห์, คํานี้มักใช้ประกอบกับคําอื่น, ถ้าคําเดียวมักใช้ว่า ราชา.”
(๓) “สถิตย”
บาลีเป็น “ฐิต” อ่านว่า ถิ-ตะ รากศัพท์มาจาก ฐา (ธาตุ = ตั้งอยู่, ดำรงอยู่, ยืนอยู่) + ต ปัจจัย, แปลง อา ที่ ฐา เป็น อิ (ฐา > ฐิ)
: ฐา + ต = ฐาต > ฐิต (คำกริยาและคุณศัพท์) แปลตามศัพท์ว่า “ตั้งอยู่แล้ว” หมายถึง ยืนอยู่, ไม่เคลื่อนไหว, ดำรงอยู่ (standing, immovable, being)
บาลี “ฐิต” สันสกฤตเป็น “สฺถิต”
สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน บอกไว้ดังนี้ –
(สะกดตามต้นฉบับ)
“สฺถิต : (คำวิเศษณ์) อันไม่เคลื่อนที่; อันอยู่หรือหยุดแล้ว; อันตั้งใจแล้ว; ตรงหรือสัตย์ซื่อ; สาธุหรือธารมิก; อันได้ตกลงแล้ว; immovable or steady; stayed or stopped; determined or resolved; upright, virtuous; agreed.”
ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“สถิต : (คำกริยา) อยู่, ยืนอยู่, ตั้งอยู่, (ใช้เป็นคํายกย่องแก่สิ่งหรือบุคคลที่อยู่ในฐานะสูง) เช่น พระเจ้าสถิตบนสวรรค์ พระมหากษัตริย์สถิตบนพระที่นั่ง สมเด็จพระสังฆราชสถิต ณ วัดบวรนิเวศวิหาร. (ส. สฺถิต; ป. ฐิต).”
อภิปราย :
“สถิต” คำนี้หนังสือเก่าๆ มักสะกดเป็น “สถิตย์” (มี ย การันต์) แบบเดียวกับคำว่า “อารี” ก็มีผู้สะกดเป็น “อารีย์” ทำนองเดียวกับ “จำนง” สะกดเป็น “จำนงค์” “อเนก” สะกดเป็น “เอนก” เป็นต้น ทั้งนี้เป็นการสะกดตามความเข้าใจของบางคนหรือบางสำนักในเวลานั้น คำเช่นนี้มีอยู่เป็นจำนวนมาก
“สถิต” สะกดเป็น “สถิตย์” ก็เป็นหนึ่งในจำนวนคำเหล่านั้น
เมื่อมีพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถานอันเป็นมาตรฐานของการสะกดคำและบอกความหมายของคำในภาษาไทย บรรดาหนังสือทั้งปวงจึงมีหลักเกณฑ์ในการสะกดเป็นแบบเดียวกัน
แม้กระนั้นก็มีหลักอยู่ว่า กรณีที่เป็นวิสามานยนาม คือชื่อเฉพาะ (proper name) ต้นฉบับเดิมสะกดอย่างไร เมื่อยังไม่มีการประกาศเปลี่ยนแปลง ก็คงให้สะกดอย่างนั้นโดยไม่ถือว่าเป็นคำผิด
เฉพาะ “สถิต” สะกดเป็น “สถิตย์” ชวนให้สงสัยอยู่บ้างว่าจะมีความหมายต่างกันได้หรือไม่ โดยยกตัวอย่างคำว่า “บัณฑิต” กับ “บัณฑิตย์” ซึ่งมีความหมายทั้ง 2 คำ เป็นแนวเทียบ
“บัณฑิต” แปลว่า “ผู้มีปัญญา” หมายถึงตัวบุคคล
“บัณฑิตย์” (มี ย การันต์) แปลว่า “ความเป็นคนมีปัญญา” หมายถึงคุณสมบัติของบุคคล ไม่ได้หมายถึงตัวบุคคล
จะเห็นได้ว่า “บัณฑิต” กับ “บัณฑิตย์” มีที่ใช้หรือมีความหมายทั้ง 2 คำ
“สถิต” กับ “สถิตย์” จะมีความหมาย คือใช้ได้ทั้ง 2 คำโดยทำนองเดียวกันได้หรือไม่ โดยอฺธิบายว่า –
“สถิต” เป็นคำกริยาและคุณศัพท์
“สถิตย์” เป็นคำนาม รูปคำเดิมคือ “สถิติ” แปลว่า “การตั้งอยู่” หรือ “ที่ตั้ง” แปลง อิ ที่ –ติ เป็น ย จึงเป็น “สถิตย” และมีความหมายเท่ากับคำว่า “สถิติ” นั่นเอง
-ดังนี้ จะฟังได้หรือไม่?
ตามหลักการกลายรูปแล้วย่อมเป็นไปได้อย่างแน่นอน
แต่ยังมีหลักอื่นเป็นเครื่องกำหนดอีกด้วย นั่นคือ คำที่ลงท้ายด้วย “-ตย” ในสันสกฤต เมื่อแปลงกลับเป็นบาลีจะลงท้ายด้วย “-จฺจ” เช่น –
:ไทย> นิตย์ :สันสกฤต> นิตฺย :บาลี> นิจฺจ
:ไทย> อาทิตย์ :สันสกฤต> อาทิตฺย :บาลี> อาทิจฺจ
:ไทย> กิตย์ :สันสกฤต> กิตฺย :บาลี> กิจฺจ
:ไทย> บัณฑิตย์ :สันสกฤต> ปณฺฑิตฺย :บาลี> ปณฺฑิจฺจ
พอมาถึง “สถิตย” หรือ “สถิตย์” ตามสูตรจะต้องเป็น —
:ไทย> สถิตย (สถิตย์) :สันสกฤต> สถิตฺย :บาลี> ฐิจฺจ
ปรากฏว่า —
สันสกฤต รูปคำเดิม> สถิต มี, สถิติ มี, สถิตฺย ไม่มี
บาลี รูปคำเดิม> ฐิต มี, ฐิติ มี, ฐิจฺจ ไม่มี
เมื่อ “ฐิจฺจ” (บาลี) ไม่มี
“สถิตฺย” (สันสกฤต) ไม่มี
“สถิตย” (สถิตย์) (ไทย) ก็ย่อมจะไม่มี
หมายเหตุ: เนื่องจากผู้เขียนบาลีวันละคำไม่มีความรู้เรื่องหลักของสันสกฤต และขณะที่เขียนคำนี้ก็ยังไม่มีโอกาสตรวจสอบกับผู้รู้สันสกฤต ดังนั้น หากท่านผู้รู้สันสกฤตจะกรุณาให้ความรู้ที่ถูกต้องก็จะเป็นพระคุณอย่างยิ่ง
(๔) “มโหฬาร” รูปคำเดิมมาจาก มหา + อุฬาร
(ก) “มหา” (มะ-หา)
รูปคำเดิมในบาลีเป็น “มหนฺต” (มะ-หัน-ตะ) รากศัพท์มาจาก มหฺ (ธาตุ = เจริญ) + อนฺต ปัจจัย
: มหฺ + อนฺต = มหนฺต แปลตามศัพท์ว่า “สิ่งที่ขยายตัว” มีความหมายว่า ยิ่งใหญ่, กว้างขวาง, โต; มาก; สำคัญ, เป็นที่นับถือ (great, extensive, big; much; important, venerable)
“มหนฺต” เป็นคำเดียวกับที่ใช้ในภาษาไทยว่า “มหันต์”
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“มหันต-, มหันต์ : (คำวิเศษณ์) ใหญ่, มาก, เช่น โทษมหันต์. (เมื่อเข้าสมาสกับศัพท์อื่น เป็น มห บ้าง มหา บ้าง เช่น มหัคฆภัณฑ์ คือ สิ่งของที่มีค่ามาก, มหาชน คือ ชนจำนวนมาก). (ป.).”
ในที่นี้ “มหนฺต” เปลี่ยนรูปเป็น “มห-”
(ข) “อุฬาร” (อุ-ลา-ระ) รากศัพท์มาจาก อุลฺ (ธาตุ = ถึง) + อาร ปัจจัย, แปลง ล ที่ อุลฺ เป็น ฬ
: อุลฺ + อาร = อุลาร > อุฬาร แปลตามศัพท์ว่า “ขึ้นสูง” หรือ “แผ่ออกไป” ใช้เป็นคุณศัพท์ มีความหมายว่า ใหญ่, โอฬาร, ประณีต, เลิศ, ยอดเยี่ยม, สูงส่ง, ประเสริฐ, โอ่โถง (great, eminent, excellent, superb, lofty, noble, rich)
มหา + อุฬาร แปลง อุ เป็น โอ
: มหนฺต > มหา > มห + อุฬาร = มหุฬาร > มโหฬาร อ่านแบบบาลีว่า มะ-โห-ลา-ระ อ่านแบบไทยว่า มะ-โห-ลาน
ในคัมภีร์ พบคำว่า “มหนฺต” และ “อุฬาร” ใช้ในความหมายเดียวกัน (โปรดสังเกตคำแปลเป็นภาษาอังกฤษที่ฝรั่งเป็นผู้แปล) แต่ไม่พบ “มหนฺต” และ “อุฬาร” ที่ประสมเป็นคำเดียวกันอย่าง “มโหฬาร” ในภาษาไทย
ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“มโหฬาร : (คำวิเศษณ์) ยิ่งใหญ่, กว้างใหญ่, เช่น ใหญ่โตมโหฬาร. (ป., ส.).”
การประสมคำ :
(๑) บรม + ราช = บรมราช แปลว่า “พระราชาผู้ยอดเยี่ยม”
(๒) บรมราช + สถิตย = บรมราชสถิตย แปลแบบคำประสมว่า “พระราชาผู้ยอดเยี่ยมประทับอยู่” หรือแปลแบบคำสมาสว่า “สถานที่ประทับของพระราชาผู้ยอดเยี่ยม”
(๓) บรมราชสถิตย + มโหฬาร = บรมราชสถิตยมโหฬาร” แปลว่า “พระที่นั่งอันยิ่งใหญ่เป็นสถานที่ประทับของพระราชาผู้ยอดเยี่ยม”
พระที่นั่ง “บรมราชสถิตยมโหฬาร” องค์เดิมเป็นพระราชมณเฑียรที่ประทับของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว อยู่ทางทิศใต้ของพระที่นั่งมูลสถานบรมอาสน์ และพระที่นั่งสมมติเทวราชอุปบัติ บางครั้งใช้เป็นสถานที่รับรองแขก
…………..
ดูก่อนภราดา!
สพฺพํ รฏฺฐํ สุขํ เสติ
ราชา เจ โหติ ธมฺมิโก.
(ราโชวาทชาดก จตุกกนิบาต พระไตรปิฎกเล่ม 27 ข้อ 637)
: ถ้าพระธรรมประทับอยู่ในพระราชหฤทัย
: พระราชาประทับที่ไหนทวยราษฎร์ก็ร่มเย็นเป็นสุข
#บาลีวันละคำ (2,443)
19-2-62