บาลีวันละคำ

คำปวารณา (บาลีวันละคำ 873)

คำปวารณา

(๑) ความหมายของคำว่า “ปวารณา

ปวารณา” รากศัพท์มาจาก (ทั่ว, ข้างหน้า, ก่อน, ออก) + วรฺ (ธาตุ = ขอ, ต้องการ, ห้าม) + ยุ ปัจจัย แปลงเป็น อน (อะ-นะ), ทีฆะต้นธาตุ, แปลง เป็น + อา ปัจจัยอิตถีลิงค์

: + วรฺ = ปวร + ยุ > อน = ปวรน > ปวารน > ปวารณ + อา = ปวารณา แปลว่า การยอมให้ขอ, การยอมให้ว่ากล่าวตักเตือน, การห้าม (เนื่องจากพอแล้วหรืออิ่มแล้ว)

พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “ปวารณา” เป็นภาษาอังกฤษว่า satisfaction

ในคำปวารณา (ดูต่อไป) มีคำกริยาว่า “ปวาเรมิ” พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปลคำนี้ว่า to invite, offer, present, satisfy

โปรดศึกษาคำแปลภาษาอังกฤษเหล่านี้เพื่อช่วยให้เข้าใจความหมายของคำว่า “ปวารณา” กว้างขวางยิ่งขึ้นนอกเหนือจากที่แปลเป็นไทยไว้แล้ว เช่น –

พจนานุกรม สอ เสถบุตร แปล satisfaction ว่า –

1. ดีถึงขนาดที่ต้องการ, ปฎิบัติให้เป็นที่พอใจ, ความพอใจ, ทำให้พอ (ความต้องการ, ความขาดแคลน)

2. ระงับ (ความหิว), ทำให้อิ่ม

3. พอลบล้าง (ข้อขัดข้อง)

4. ปฎิบัติตาม (ข้อผูกพัน, หนี้)

5. เป็นไปตาม (ความคิด)

(๒) คำปวารณาต่อที่ประชุมสงฆ์ เป็นภาษาบาลี :

สงฺฆมฺภนฺเต  ปวาเรมิ, ทิฏฺเฐน  วา  สุเตน  วา  ปริสงฺกายวา; วทนฺตุ มํ, อายสฺมนฺโต  อนุกมฺปํ  อุปาทาย; ปสฺสนฺโต  ปฏิกฺกริสฺสามิ.

ทุติยมฺปิ  ภนฺเต  สงฺฆํ  ปวาเรมิ  ทิฏฺเฐน  วา … ปฏิกฺกริสฺสามิ.

ตติยมฺปิ  ภนฺเต  สงฺฆํ  ปวาเรมิ  ทิฏฺเฐน  วา … ปฏิกฺกริสฺสามิ.

(ภิกษุผู้มีพรรษาสูงสุดในที่ประชุม ว่า “อาวุโส” แทน “ภนฺเต”)

(๓) แปลตามตัว :

ข้าพเจ้าขอปวารณากะสงฆ์ ด้วยได้เห็นก็ตาม ด้วยได้ยินก็ตาม ด้วยน่าระแวงสงสัยก็ตาม, ขอท่านผู้มีอายุทั้งหลายจงว่ากล่าวกะข้าพเจ้าด้วยอาศัยความหวังดีเอ็นดู, เมื่อข้าพเจ้ามองเห็น จักแก้ไข

แม้ครั้งที่สอง …

แม้ครั้งที่สาม … (ข้อความเหมือนกัน)

(๔) แปลกระชับความ :

ข้าพเจ้าขอปวารณาต่อสงฆ์ ถ้าข้าพเจ้ามีข้อบกพร่องเสียหาย โดยท่านได้เห็นเองก็ตาม มีผู้บอกเล่าก็ตาม หรือนึกระแวงสงสัยก็ตาม, ขอจงว่ากล่าวตักเตือนด้วยความหวังดี เมื่อข้าพเจ้าเข้าใจเรื่องนั้นแล้วจะได้แก้ไขให้ถูกต้อง

(๕) แนวทางปฏิบัติ :

เมื่อใด :

(1) ได้เห็นเหตุการณ์หรือพฤติการณ์ด้วยตาตัวเอง

(2) หรือได้ฟังจากคำบอกเล่าข่าวสาร

(3) ไม่ได้เห็นไม่ได้ยินตรงๆ แต่มีอะไรบางอย่างที่น่าระแวงสงสัย

เมื่อนั้น :

(1) อย่าสรุปเอาเอง

(2) ถ้าใจนักเลง-ก็ถามกันซึ่งๆ หน้า

(3) และถ้าจริงอย่างที่ว่า-ก็เตือนกันดีๆ มีเมตตาธรรม

: คำตักเตือนเหมือนชี้ขุมคลัง

: ต่อให้เก่งเทียมฟ้าเทียมเดือน

ไม่ฟังคำเตือน – ก็พัง

#บาลีวันละคำ (873)

8-10-57

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *