เทโวโรหณะ (บาลีวันละคำ 874)
เทโวโรหณะ
อ่านว่า เท-โว-โร-หะ-นะ
ประกอบด้วยคำว่า เทว + โอโรหณ
“เทว” (เท-วะ) ในภาษาบาลีมีความหมายว่า เทพเจ้า, เทวดา; พระยม, ความตาย; สมมติเทพ, พระราชา; ฟ้า, ท้องฟ้า; ฝน, เมฆฝน.
ในที่นี้ “เทว” มีความหมายเฉพาะ หมายถึง เทวดา, เทวโลก, สวรรค์
“โอโรหณ” (โอ-โร-หะ-นะ) แปลว่า การลงมา, การก้าวลง (descent)
เทว + โอโรหณ = เทโวโรหณ แปลตามศัพท์ว่า “การลงจากเทวโลก” (descent of the gods)
พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ ของท่าน ป.อ.ปยุตฺโต สรุปเรื่องไว้ว่า –
“เทโวโรหณะ” หมายถึงการที่พระพุทธเจ้าเสด็จลงจากเทวโลก ตำนานเล่าว่าในพรรษาที่ 7 แห่งการบำเพ็ญพุทธกิจ พระพุทธเจ้าได้เสด็จไปประทับจำพรรษาในดาวดึงสเทวโลก ทรงแสดงพระอภิธรรมโปรดพระพุทธมารดาพร้อมทั้งหมู่เทพ ณ ที่นั้น เมื่อถึงเวลาออกพรรษาในวันมหาปวารณา (วันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 11) ได้เสด็จลงมาจากสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ กลับคืนสู่โลกมนุษย์ ณ ประตูเมืองสังกัสสะ โดยมีเทวดาและมหาพรหมทั้งหลายแวดล้อมลงมาส่งเสด็จ ฝูงชนจำนวนมากมายก็ได้ไปคอยรับเสด็จ กระทำมหาบูชาเป็นการเอิกเกริกมโหฬาร และพระพุทธเจ้าได้ทรงแสดงธรรม มีผู้บรรลุคุณวิเศษจำนวนมาก
ชาวพุทธในภายหลังได้ปรารภเหตุการณ์พิเศษครั้งนี้ถือเป็นกาลกำหนดสำหรับบำเพ็ญการกุศล ทำบุญตักบาตรคราวใหญ่แด่พระสงฆ์ เป็นประเพณีนิยมสืบมา ดังปรากฏในประเทศไทย เรียกกันว่า “ตักบาตรเทโวโรหณะ” หรือนิยมเรียกสั้นๆ ว่า “ตักบาตรเทโว” บางวัดก็จัดพิธีในวันออกพรรษา คือวันมหาปวารณา ขึ้น 15 ค่ำ เดือน 11 บางวัดจัดถัดเลยจากนั้น 1 วัน คือวันแรม 1 ค่ำ เดือน 11
: ตักบาตรเทโว – ขออนุโมทนา
: ตักบาตรทุกวัน – สวรรค์อนุโมทนา
—————
(ตามคำเสนอแนะของพระคุณท่าน Sunant Pramaha)
#บาลีวันละคำ (874)
9-10-57