รัชกาล (บาลีวันละคำ 1,620)
รัชกาล
อ่านว่า รัด-ชะ-กาน
ประกอบด้วย รัช + กาล
(๑) “รัช”
บาลีเป็น “รชฺช” (รัด-ชะ) รากศัพท์มาจาก ราช (พระราชา) + ณฺย ปัจจัย, ลบ ณฺ (ณฺย > ย), รัสสะ อา ที่ รา-(ช) เป็น อะ (ราช > รช), แปลง ช ที่ (รา)-ช กับ ย ที่ ณฺย ปัจจัย) เป็น ชฺช (ชฺ+ย = ชฺช)
: ราช + ณฺย = ราชณฺย > รชณฺย > รชย > รชฺช แปลตามศัพท์ว่า “ความเป็นแห่งพระราชา”
“รชฺช” (นปุงสกลิงค์) หมายถึง –
(1) ความเป็นพระราชา, ความเป็นเจ้า, อาณาจักร, จักรพรรดิ; รัชสมัย, ราชบัลลังก์ (kingship, royalty, kingdom, empire; reign, throne) (2) ความเป็นเอกราช, อำนาจอธิปไตย (sovereignty)
ขอให้สังเกตขั้นตอนการกลายรูปของ “รชฺช”จะผ่านการเป็น “ราชณฺย” ด้วย
“ราชณฺย” อ่านว่า รา-ชัน-ยะ ถ้าเขียนแบบไทย การันต์ที่ ย ก็จะเป็น “ราชัณย์” ตรงกับรูปคำสันสกฤตที่เป็น “ราชนฺย” (ขั้นตอนนี้ “-ชัณ-” บาลีเป็น ณ เณร) นี่ก็คือคำที่พูดกันในภาษาไทยว่า รา-ชัน นั่นเอง
สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน บอกไว้ว่า –
(สะกดตามต้นฉบับ)
“ราชนฺย : (คำนาม) ‘ราชนย์,’ กษัตริย์, นรผู้ไสนิกหรือกษัตริยวรรณ; นามของอัคนิ; ต้นไม้; a Kshatriya, a man of the military or regal tribe; a name of Agni; a tree.”
ราชา > ราชณฺย ( > ราชนฺย) > รชฺช > รัช–
“รชฺช” ใช้ในภาษาไทยเป็น “รัช” พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“รัช ๒, รัช– : (คำนาม) ความเป็นพระราชา, ราชสมบัติ. (ป. รชฺช).”
(๒) “กาล”
บาลีอ่านว่า กา-ละ รากศัพท์มาจาก กลฺ (ธาตุ = นับ, คำนวณ) + ณ ปัจจัย, ลบ ณ, ทีฆะ (ยืดเสียง) อะ ที่ ก-(ลฺ) เป็น อา (กล > กาล)
: กลฺ + ณ = กลณ > กล > กาล แปลตามศัพท์ว่า “เครื่องนับประมาณอายุเป็นต้น” “ถูกนับว่าล่วงไปเท่านี้แล้ว” “ยังอายุของเหล่าสัตว์ให้สิ้นไป” หมายถึง เวลา, คราว, ครั้ง, หน
“กาล” ที่หมายถึง “เวลา” (time) ในภาษาบาลียังใช้ในความหมายที่ชี้ชัดอีกด้วย คือ :
(ก) เวลาที่กำหนดไว้, เวลานัดหมาย, เวลาตายตัว (appointed time, date, fixed time)
(ข) เวลาที่เหมาะสม, เวลาที่สมควร, เวลาที่ดี, โอกาส (suitable time, proper time, good time, opportunity)
รชฺช + กาล = รชฺชกาล > รัชกาล แปลตามศัพท์ว่า “เวลาแห่งความเป็นพระราชา”
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“รัชกาล : (คำนาม) เวลาที่ครองราชสมบัติของพระมหากษัตริย์องค์หนึ่ง ๆ, โดยอนุโลมใช้หมายถึงองค์พระมหากษัตริย์ในรัชกาลนั้น ๆ เช่น รัชกาลที่ ๕ เสด็จประพาสต้น.”
อภิปราย :
ในสมัยรัตนโกสินทร์ที่มีพระมหากษัตริย์แห่งมหาจักรีบรมราชวงศ์สืบราชสันตติวงศ์มายาวนาน เรานิยมใช้คำว่า “รัชกาล” ต่อด้วยลำดับที่ เช่น “รัชกาลที่ ๑” “รัชกาลที่ ๒” ก็เป็นอันเข้าใจกันว่าหมายถึง “องค์พระมหากษัตริย์” ในรัชกาลนั้นๆ
แต่ในประวัติศาสตร์ที่มีการเปลี่ยนราชวงศ์อยู่บ่อยๆ ถ้าพูดว่า “รัชกาลที่ ๑” “รัชกาลที่ ๒” ก็ไม่สามารถรู้ได้ว่าหมายถึงพระมหากษัตริย์พระองค์ไหน จึงต้องเอ่ยถึงด้วยการระบุพระนาม
คำว่า “รัชกาล” บางทีก็ใช้คำว่า “รัชสมัย” แทน โดยระบุพระนามพระมหากษัตริย์ต่อท้าย เช่น “ในรัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช”
……………
การนับวันเริ่มรัชกาล ถ้าเป็นการสืบราชสันตติวงศ์ โดยปกติย่อมนับตั้งแต่วันที่พระมหากษัตริย์พระองค์ก่อนเสด็จสวรรคต หรือทรงพ้นจากสถานะพระมหากษัตริย์ด้วยเหตุอื่น เช่นกรณีทรงสละราชสมบัติเป็นต้น
ถ้ามิเช่นนั้น ก็เริ่มนับตั้งแต่วันที่พระมหากษัตริย์พระองค์ใหม่ทรงรับสถาปนาขึ้นเป็นพระมหากษัตริย์
……………
: ครู่เดียวที่ทุกข์ทับคับแค้น ช่างแสนยาวนาน
: ร้อยปีที่สุขสำราญ เหมือนครู่เดียว
ดูก่อนภราดา!
บัณฑิตเห็นประจักษ์แจ้งฉะนี้แล้ว
ย่อมขวนขวายเพื่อประโยชน์สุขแห่งมหาชน
ยิ่งกว่าที่จะปรารถนาให้ตนมีอายุยืนยาว
10-11-59