บาลีวันละคำ

เศรษฐกิจพอเพียง (บาลีวันละคำ 1,626)

เศรษฐกิจพอเพียง

บาลีว่าอย่างไร

เศรษฐกิจพอเพียง” ประกอบด้วย เศรษฐกิจ + พอเพียง

(๑) “เศรษฐกิจ” เป็นรูปคำบาลีสันสกฤต

เทียบบาลีเป็น “เสฏฺฐกิจฺจ” (เสด-ถะ-กิด-จะ) ประกอบด้วย เสฏฺฐ + กิจฺจ

1) “เสฏฺฐ” (เสด-ถะ) แปลว่า (1) ประเสริฐ, ดีที่สุด, ยอดเยี่ยม, วิเศษ (best, excellent) (2) สิ่งที่ปรารถนา, สมบัติ, เงินทอง (treasure, wealth)

2) “กิจฺจ” (กิด-จะ) แปลตามศัพท์ว่า “สิ่งที่พึงทำ” หมายถึง หน้าที่, การงาน, การบริการ; พิธี, การกระทำ (duty, obligation, service, attention; ceremony, performance)

เสฏฺฐ + กิจฺจ = เสฏฺฐกิจฺจ ภาษาไทยเขียนอิงสันสกฤตเป็น “เศรษฐกิจ

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

เศรษฐกิจ : (คำนาม) งานอันเกี่ยวกับการผลิต การจําหน่ายจ่ายแจก และการบริโภคใช้สอยสิ่งต่าง ๆ ของชุมชน. (ส. เศฺรษฺฐ + กิจฺจ)”

ในคัมภีร์ไม่พบคำที่ผสมกันว่า “เสฏฺฐกิจฺจ” แต่ในคัมภีร์มหาวังสะ (ว่าด้วยพงศาวดารประเทศศรีลังกา) อันเป็นคัมภีร์รุ่นหลัง พบคำว่า “เสฏฺฐกมฺม” (เสด-ถะ-กำ-มะ) ถ้าเขียนแบบไทยก็คงเป็น “เศรษฐกรรม” (กิจกรรม มีความหมายทางเดียวกัน) ใช้ในความหมายว่า การกระทำที่วิเศษ, การกระทำทางบุญ (excellent, pious deeds) ไม่เกี่ยวกับเรื่อง “เศรษฐกิจ” แต่อย่างใด

เศรษฐกิจ” ตรงกับภาษาอังกฤษว่า economy; economic

พจนานุกรมอังกฤษ-บาลี แปล economy และ economic เป็นบาลีว่า –

(1) dhanapālanavijjā ธนปาลนวิชฺชา (ทะ-นะ-ปา-ละ-นะ-วิด-ชา) = ความรู้ว่าด้วยการบริหารทรัพย์

(2) atthasattha อตฺถสตฺถ (อัด-ถะ-สัด-ถะ) = ศาสตร์ว่าด้วยการจัดสรรผลประโยชน์

นักบาลีในเมืองไทยแปลคำว่า “เศรษฐกิจ” เป็นบาลีว่า “ธนุฏฺฐาน” (ทะ-นุด-ถา-นะ) แปลว่า “การเกิดขึ้นแห่งทรัพย์

สรุปว่า คำว่า “เศรษฐกิจ” ไม่ว่าจะแปลเป็นบาลี เป็นอังกฤษ หรือเป็นไทย ล้วนเกี่ยวข้องด้วยการแสวงหาและจัดสรรผลประโยชน์ทั้งสิ้น

(๒) “พอเพียง” เป็นคำไทย

นักบาลีในเมืองไทยนิยมแปลคำว่า “พอเพียง” ในคำว่า “เศรษฐกิจพอเพียง” นี้เป็นบาลีว่า “มตฺตญฺญุตา” (มัด-ตัน-ยุ-ตา)

มตฺตญฺญุตา” ประกอบด้วย มตฺตา + ญู + ตา

1) “มตฺตา” รากศัพท์มาจาก มา (ธาตุ = กะ, ประมาณ) + ปัจจัย, ซ้อน ระหว่างธาตุกับปัจจัย (มา + ตฺ + ), รัสสะ อา ที่ มา เป็น อะ (มา > ) + อา ปัจจัยเครื่องหมายอิตถีลิงค์

: มา > + ตฺ + = มตฺต + อา = มตฺตา แปลตามศัพท์ว่า “สิ่งอันเขากำหนด” มีความหมายว่า –

(1) ประกอบด้วย, วัดหรือนับได้, ประมาณ (consisting of, measured, measuring)

(2) มากถึง, มากเท่านั้น, เพียงพอ (as much as, so much, some, enough of)

(3) เหมือน, เหมือนเช่น, สิ่งที่เรียกว่า, อาจพูดได้ว่า (like, just as what is called, one may say)

2) มตฺตา + ญา (ธาตุ = รู้) + รู ปัจจัย, รัสสะ อา ที่ มตฺตา เป็น อะ (มตฺตา > มตฺต), ซ้อน ญฺ ระหว่างบทหน้ากับธาตุ (มตฺตา + ญฺ + ญา), ลบสระที่สุดธาตุ (า > ), ลบ ที่ รู ปัจจัย (รู > อู)

: มตฺตา > มตฺต + ญฺ + ญา = มตฺตญฺญา > มตฺตญฺญ + รู > อู = มตฺตญฺญู แปลตามศัพท์ว่า “ผู้รู้ซึ่งประมาณ” หมายถึง รู้จักปริมาตรที่ถูก, รู้จักประมาณหรือความพอควร, รู้จักยับยั้ง (knowing the right measure, moderate, temperate)

3) มตฺตญฺญู + ตา ปัจจัย, รัสสะ อู ที่ (มตฺตญฺ)-ญู เป็น อุ (มตฺตญฺญู > มตฺตญฺญุ)

: มตฺตญฺญู > มตฺตญฺญุ + ตา = มตฺตญฺญุตา แปลตามศัพท์ว่า “ความเป็นผู้รู้ซึ่งประมาณ” หมายถึง ความรู้จักประมาณ (moderation)

มตฺตญฺญุตา” เขียนแบบไทยเป็น “มัตตัญญุตา

พจนานุกรมพุทธศาสตร์ ฉบับประมวลธรรม ของท่าน ป.อ.ปยุตฺโต ข้อ [287] สัปปุริสธรรม 7 ข้อ 4 บอกไว้ดังนี้ –

4. มัตตัญญุตา (ความรู้จักประมาณ คือ ความพอดี เช่น ภิกษุรู้จักประมาณในการรับและบริโภคปัจจัยสี่ คฤหัสถ์รู้จักประมาณในการใช้จ่ายโภคทรัพย์ พระมหากษัตริย์รู้จักประมาณในการลงทัณฑอาชญาและในการเก็บภาษี เป็นต้น — Mattaññutā: moderation; knowing how to be temperate; sense of proportion)

อภิปราย :

คำว่า “เศรษฐกิจพอเพียง” เป็นแนวพระราชดำริในพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ 9 เกี่ยวกับการดำรงชีพ คำเต็มว่า “ปรัชญาแห่งเศรษฐกิจพอเพียง” หรือ “ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง” นิยมเรียกกันสั้นๆ ว่า “เศรษฐกิจพอเพียง

เศรษฐกิจพอเพียง” แปลเป็นคำบาลีว่า “มตฺตญฺญุตา” คำเดียวก็พอ

ไม่ใช่ “เสฏฺฐกิจฺจมตฺตญฺญุตา” หรือ “มตฺตญฺญุตาเสฏฺฐกิจฺจ” ถ้าแปลอย่างนี้ก็จะคล้ายๆ กับเมียเช่าบอกฝรั่งสามีที่กำลังขับรถให้ระวังรถที่สวนทางมาว่า ระวัง car garden !!

คำว่า “เศรษฐกิจพอเพียง” เมื่อถอดความหมายเป็นคำบาลีแล้วก็ตรงกับคำว่า “มัตตัญญุตา” เพราะ มัตตัญญุตา = ความรู้จักประมาณ ครอบคลุมหมดทุกเรื่อง รวมทั้งเรื่องเศรษฐกิจด้วย

………….

: ถ้าเอาความพอเป็นประมาณ เท่าไรก็อิ่ม

: แต่ถ้าเอาความอิ่มเป็นประมาณ เท่าไรก็ไม่พอ

16-11-59