ขันติ-ข้อ 9 ในทศพิธราชธรรม (บาลีวันละคำ 1,638)
ขันติ-ข้อ 9 ในทศพิธราชธรรม
………………………………………
“ทศพิธราชธรรม” (ทด-สะ-พิด-ราด-ชะ-ทำ)
บาลีเป็น “ทสวิธราชธมฺม” (ทะ-สะ-วิ-ทะ-รา-ชะ-ทำ-มะ)
ทส = สิบ (จำนวนสิบ)
วิธ = มี-ชนิด, ประกอบด้วย-, มี-อย่าง, มี-ประการ
ราช = พระราชา, พระเจ้าแผ่นดิน, ผู้ปกครองบ้านเมือง
ธมฺม = หลักธรรม, หลักการ, หลักปฏิบัติ
“ทสวิธ” แปลว่า “มีสิบอย่าง” (tenfold)
“ราชธมฺม” แปลว่า “ราชธรรมหรือหลักของการเป็นพระเจ้าแผ่นดิน”, คือ กฎของการปกครอง, แบบแผนของความเป็นกษัตริย์ (“king’s rule,” i. e. rule of governing, norm of kingship)
พจนานุกรมพุทธศาสตร์ ฉบับประมวลธรรม ของท่าน ป.อ.ปยุตฺโต ข้อ [326] ราชธรรม 10 บอกความหมายไว้ว่า –
“ธรรมของพระราชา, กิจวัตรที่พระเจ้าแผ่นดินควรประพฤติ, คุณธรรมของผู้ปกครองบ้านเมือง, ธรรมของนักปกครอง (Rājadhamma: virtues or duties of the king; royal virtues; virtues of a ruler).”
“ทสวิธราชธมฺม – ทศพิธราชธรรม” ประกอบด้วย – 1 ทาน 2 ศีล 3 ปริจจาคะ 4 อาชชวะ 5 มัททวะ 6 ตบะ 7 อักโกธะ 8 อวิหิงสา 9 ขันติ 10 อวิโรธนะ
………………………………………
“ขันติ” เขียนแบบบาลีเป็น “ขนฺติ” อ่านว่า ขัน-ติ รากศัพท์มาจาก ขมฺ (ธาตุ = อดทน) + ติ ปัจจัย, แปลง ติ เป็น นฺติ, ลบ มฺ ที่สุดธาตุ (ขมฺ > ข)
: ขมฺ > ข + ติ > นฺติ : ข + นฺติ = ขนฺติ
หรือจะว่าอีกนัยหนึ่ง ขมฺ (ธาตุ = อดทน) + ติ ปัจจัย, แปลง มฺ ที่สุดธาตุเป็น นฺ (ขมฺ > ขนฺ)
: ขมฺ + ติ = ขมติ > ขนฺติ
“ขนฺติ” (อิตถีลิงค์) แปลตามศัพท์ว่า “กิริยาที่อดทนได้” หมายถึง ความอดทน, ความอดกลั้น, การให้อภัย (patience, forbearance, forgiveness)
บาลี “ขนฺติ” สันสกฤตเป็น “กฺษานฺติ”
สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน บอกไว้ว่า –
“กฺษานฺติ : (คำนาม) ความเพียร; ความอดกลั้น, ความอดทน; patience; forbearance; endurance.”
ในทางวิชาการ ท่านว่าคุณธรรมเหล่านี้เป็นองค์ประกอบอย่างหนึ่งของ ขันติ (เมื่อมีขันติ ก็จะมีคุณธรรมเหล่านี้แฝงอยู่ด้วยเสมอ) กล่าวคือ :
(1) เมตตา = ความรัก (love)
(2) ตีติกขา = ความอดกลั้น (forbearance)
(3) อวิหิงสา = ความไม่เบียดเบียน (tolerance)
(4) อักโกธะ = ความไม่โกรธ (meekness)
(5) โสรัจจะ = ความสงบเสงี่ยม, ความว่านอนสอนง่าย (docility, tractableness)
(6) มัททวะ = ความสุภาพอ่อนโยน (gentleness)
ในทางปฏิบัติ ท่านนิยมใช้ขันติใน 3 ทาง คือ –
(1) ทนลำบาก คือทนต่ออาการเจ็บป่วยไม่สบายต่างๆ
(2) ทนตรากตรำ คือทนต่อหนาวร้อนในการทำกิจการงาน
(3) ทนเจ็บใจ คือทนต่อกิเลสที่เกิดขึ้นในใจตน
……………
ความหมายเฉพาะของ “ขันติ” ข้อ 9 ในทศพิธราชธรรม :
คัมภีร์ชาตกัฏฐกถา ภาค 8 อันเป็นคัมภีร์ที่อธิบายมหาหังสชาดกซึ่งเป็นที่มาของหลักทศพิธราชธรรม หน้า 283 ไขความคำว่า “ขันติ” ไว้ว่า –
“อธิวาสนํ ขนฺติ”
แปลว่า “ความอดกลั้น ชื่อว่า ขันติ”
ขยายความ :
“อธิวาสน” (อะ-ทิ-วา-สะ-นะ) ที่เป็นคำขยายความของ “ขันติ” แปลตามศัพท์ว่า “การทับไว้” หมายถึง มีความไม่พอใจ ไม่ชอบใจ หรือขัดใจเกิดขึ้น ก็กด ข่ม หรือทับอาการไม่พอใจนั้นไว้ไม่ให้เผยอขึ้น
“อธิวาสน” มีความหมายอีกนัยหนึ่งว่า การยอมรับ (assent) เช่นรับคำเชิญ โดยนัยนี้ “ขันติ” จึงหมายถึงการไม่ปฏิเสธสถานการณ์ที่มาถึงหรือที่กำลังได้รับอยู่ หากแต่พร้อมเผชิญด้วยเต็มใจ
พจนานุกรมพุทธศาสตร์ ฉบับประมวลธรรม ของท่าน ป.อ.ปยุตฺโต ข้อ [326] ขยายความไว้ว่า –
“ขันติ (ความอดทน คือ อดทนต่องานที่ตรากตรำ ถึงจะลำบากกายน่าเหนื่อยหน่ายเพียงไร ก็ไม่ท้อถอย ถึงจะถูกยั่วถูกหยันด้วยคำเสียดสีถากถางอย่างใด ก็ไม่หมดกำลังใจ ไม่ยอมละทิ้งกรณีย์ที่บำเพ็ญโดยชอบธรรม — Khanti: patience; forbearance; tolerance).”
……………
ดูก่อนภราดา!
: ถ้าไม่ทนคนไม่ทนงาน อย่าหาญเข้ามารับใช้ประชาชน
: ถ้าไม่สามารถครองกิเลสในใจตน จะครองใจคนได้ดังฤๅ
28-11-59