ทุเรศ (บาลีวันละคำ 1,763)
ทุเรศ
อาจไม่ทุเรศอย่างที่คิด
อ่านว่า ทุ-เรด
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 เก็บคำว่า “ทุเรศ” ไว้ 2 คำ บอกไว้ดังนี้ –
(1) ทุเรศ ๑ : (คำวิเศษณ์) ลักษณะที่ขัดหูขัดตา น่ารังเกียจ หรือน่าสมเพช เป็นต้น, (ภาษาปาก) คำที่เปล่งออกมาแสดงการไม่ยอมรับหรือแสดงความรังเกียจ.
(2) ทุเรศ ๒ : (คำที่ใช้ในบทร้อยกรอง) (คำวิเศษณ์) ไกล เช่น ต้องทนทุราคมทุเรศ ดลเขตรคิรีไกล (ดุษฎีสังเวย).
พจนานุกรมฯ ไม่ได้บอกว่า “ทุเรศ” เป็นภาษาอะไรหรือมาจากภาษาอะไร
ผู้เขียนบาลีวันละคำขอเสนอทฤษฎีว่า “ทุเรศ” มาจาก ทูร + อีศ
(๑) “ทูร”
(ทู– สระ อู) อ่านว่า ทู-ระ รากศัพท์มาจาก ทุ (คำอุปสรรค = ยาก, ลำบาก) + อรฺ (ธาตุ = ไป, ถึง, เป็นไป) + อ ปัจจัย, ใช้สูตร “ลบสระหลัง ทีฆะสระหน้า” คือ (ทุ + อรฺ : ทุ อยู่หน้า อรฺ อยู่หลัง) ลบ อะ ที่ อรฺ (อรฺ > ร) ทีฆะ อุ ที่ ทุ เป็น อู (ทุ > ทู)
: ทุ + อรฺ = ทุร > ทูร + อ = ทูร (นปุงสกลิงค์) แปลตามศัพท์ว่า “ที่ที่ไปถึงโดยยาก” หมายถึง ไกล, ห่าง, ห่างไกล (far, distant, remote)
ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“ทูร– : (คำวิเศษณ์) คําประกอบหน้าคําศัพท์ หมายความว่า ไกล เช่น ทูรบถ ทูรมรรคา ว่า ทางยาว, ทางไกล. (ป.).”
(๒) “อีศ”
อ่านแบบบาลีสันสกฤตว่า อี-สะ จะอ่านแบบไทยว่า อีด ก็ได้ เป็นคำจำพวกที่เรียกในตำราฉันทลักษณ์ว่า “ศ เข้าลิลิต” หมายถึงคำที่เติม “อีศ” (แล้วมักแผลงเป็น “เอศ”) เข้าข้างท้ายเพื่อให้ได้รูปหรือเสียงที่ต้องการในทางฉันทลักษณ์ เช่นเพื่อให้ได้คำที่รับสัมผัสกับคำอื่นเป็นต้น แต่คงมีความหมายเท่าเดิม เช่น –
นารี > นาเรศ
มยุรา > มยุเรศ
นาวา > นาเวศ
สาคร > สาคเรศ
ทูร + อีศ = ทูรีศ แล้วแผลงเป็น “ทูเรศ” แต่คงมีความหมายเท่าเดิมคือ ไกล, ห่าง (ดูความหมายที่ ทุเรศ ๒ ข้างต้น)
“ทูเรศ” นั่นเองเสียงกร่อนเป็น “ทุเรศ” ทำนองเดียวกับ “ทูรกันดาร” กร่อนเป็น “ทุรกันดาร” (ดูข้อสันนิษฐานที่ “ทุรกันดาร [2]” บาลีวันละคำ (1,561) 12-9-59)
แต่แม้กระนั้น เวลาพูดเน้นเสียง (หรือพูดแบบยานคาง) ก็ยังมีคนออกเสียงกลับไปหาคำเดิมเป็น ทู่-เรด = ทูเรศ
…………..
อภิปราย :
ว่าโดยรูปศัพท์ “ทุเรศ” อาจมาจาก ทุร (ทุ– สระ อุ) + อีศ ได้หรือไม่?
“ทุร-” คำนี้เป็นคำอุปสรรค รูปคำสันสกฤต ตรงกับบาลีว่า “ทุ” ซึ่งนักเรียนบาลีในไทยท่องจำคำแปลได้ตั้งแต่ชั้นไวยากรณ์ว่า “ชั่ว, ยาก, ลําบาก, ทราม, น้อย”
“ทุ” ในบาลีจะแปลงเป็น “ทุร” หรือ “ทูร” เมื่อคำที่ “ทุ” ไปประสมขึ้นต้นด้วยสระ เช่น ทุ + อาคม (อา– เป็นสระ)
: ทุ > ทุร + อาคม = ทุราคม (แปลว่า การถึงลําบาก, การอยู่ทางไกล)
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“ทุร– : (คำวิเศษณ์) คําประกอบหน้าคําศัพท์ หมายความว่า ชั่ว, ยาก, ลําบาก, น้อย, ไม่มี, เช่น ทุรค ว่า ที่ไปถึงยาก, ทางลําบาก. (ส.).”
ถ้า “ทุเรศ” มาจาก “ทุร” (+ อีศ) ก็มีปัญหาว่า “ทุร” ต้องประกอบหน้าคำศัพท์ตามที่พจนานุกรมฯ ว่าไว้ แต่ในคำว่า “ทุเรศ” นี้ “ทุร” ยังไม่ได้ประกอบหน้าคำศัพท์ใดๆ เลย (ในที่นี้ “อีศ” ไม่ใช่คำศัพท์) ซึ่งต่างจาก “ทูร” ที่เป็นคำนามอยู่ในตัว (แม้พจนานุกรมฯ จะบอกว่าเป็นคำวิเศษณ์ก็ตาม)
เว้นไว้แต่จะอนุโลมตามหลักนิยมในภาษาไทยทำนองเดียวกับคำนามบาลี เราเอามาใช้เป็นคำกริยา คำกริยาเราเอามาใช้เป็นคำนาม เพราะฉะนั้น “ทุร” คำอุปสรรคเราก็เลยเอามาใช้เป็นคำนาม หมายถึง อะไรก็ได้ที่ชั่ว, ยาก, ลําบาก, น้อย, ไม่มี
ถ้าอนุโลมแบบนี้ “ทุเรศ” ก็อาจมาจาก ทุร + อีศ ได้ด้วย
จาก “ทูเรศ” เป็น “ทุเรศ” และหมายถึง ไกล ทำไมความหมายถึงกลายเป็น “ลักษณะที่ขัดหูขัดตา น่ารังเกียจ” ?
สันนิษฐานว่า เกิดจากจินตนาการทำให้ความหมายเคลื่อนที่ คือ อะไรที่ไกล ย่อมทำให้รู้สึกว่าลำบาก เมื่อลำบากก็ย่อมจะไม่ชอบ ไม่พอใจ ไม่ถูกใจหรือขัดใจ แล้ว-ขัดหูขัดตา น่ารังเกียจ-ก็ตามมา
สรุปว่า “ไกล” เป็นความหมายเดิมของ “ทุเรศ” ส่วน “ลักษณะที่ขัดหูขัดตา น่ารังเกียจ” เป็นความหมายที่กลายมาทีหลัง
ที่ว่ามานี้เป็นข้อสันนิษฐานของผู้เขียนบาลีวันละคำแต่เพียงผู้เดียว ญาติมิตรทั้งปวงไม่จำเป็นต้องเห็นด้วยแต่ประการใด
…………..
ดูก่อนภราดา!
: “ทุเรศ” ไม่ใช่คำหยาบ
: ใจที่คิดทุเรศต่างหากที่หยาบ
4-4-60