บาลีวันละคำ

ธรรมสามี (บาลีวันละคำ 1,773)

ธรรมสามี

พระพุทธศาสนานี้ใครเป็นเจ้าของ

อ่านว่า ทำ-มะ-สา-มี

แยกศัพท์เป็น ธรรม + สามี

(๑) “ธรรม

บาลีเป็น “ธมฺม” (ทำ-มะ) รากศัพท์มาจาก ธรฺ (ธาตุ = ทรงไว้) + รมฺม (ปัจจัย) ลบ รฺ ที่สุดธาตุ (ธรฺ > ) และ ต้นปัจจัย (รมฺม > มฺม)

: ธรฺ > + รมฺม > มฺม : + มฺม = ธมฺม (ปุงลิงค์) แปลตามศัพท์ว่า –

(1) “กรรมที่ทรงไว้ซึ่งความดีทุกอย่าง” (หมายถึงบุญ)

(2) “สภาวะที่ทรงผู้ดำรงตนไว้มิให้ตกไปในอบายและวัฏทุกข์” (หมายถึงคุณธรรมทั่วไปตลอดจนถึงโลกุตรธรรม)

(3) “สภาวะที่ทรงไว้ซึ่งสัตว์ผู้บรรลุมรรคเป็นต้นมิให้ตกไปในอบาย” (หมายถึงโลกุตรธรรม คือมรรคผล)

(4) “สภาวะที่ทรงลักษณะของตนไว้ หรืออันปัจจัยทั้งหลายทรงไว้” (หมายถึงสภาพหรือสัจธรรมทั่วไป)

(5) “สภาวะอันพระอริยะมีโสดาบันเป็นต้นทรงไว้ ปุถุชนทรงไว้ไม่ได้” (หมายถึงโลกุตรธรรม คือมรรคผล)

คำแปลตามศัพท์ที่เป็นกลางๆ “ธมฺม” คือ “สภาพที่ทรงไว้

ธมฺม” สันสกฤตเป็น “ธรฺม” เราเขียนอิงสันสกฤตเป็น “ธรรม

ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกความหมายของ “ธรรม” ไว้ดังนี้ –

(1) คุณความดี เช่น เป็นคนมีธรรมะ เป็นคนมีศีลมีธรรม

(2) คําสั่งสอนในศาสนา เช่น แสดงธรรม ฟังธรรม ธรรมะของพระพุทธเจ้า

(3) หลักประพฤติปฏิบัติในศาสนา เช่น ปฏิบัติธรรม ประพฤติธรรม

(4) ความจริง เช่น ได้ดวงตาเห็นธรรม

(5) ความยุติธรรม, ความถูกต้อง, เช่น ความเป็นธรรมในสังคม

(6) กฎ, กฎเกณฑ์, เช่น ธรรมะแห่งหมู่คณะ

(7) กฎหมาย เช่น ธรรมะระหว่างประเทศ

(8) สิ่งของ เช่น เครื่องไทยธรรม

ในที่นี้ “ธรรม” มีความหมายเน้นที่-คําสั่งสอนและหลักประพฤติปฏิบัติในพระพุทธศาสนา

(๒) “สามี

รากศัพท์มาจาก (แทนศัพท์ว่า “ธน” = ทรัพย์) + อามี ปัจจัย

: + อามี = สามี

มีสูตรกระจายคำเพื่อแสดงความหมาย (ภาษาไวยากรณ์เรียกว่า “รูปวิเคราะห์”) ว่า

: สํ ธนํ อสฺสตฺถีติ สามี = สะ คือทรัพย์ ของผู้นั้น มีอยู่ เหตุนั้น ผู้นั้นจึงชื่อว่า สามี = ผู้มีทรัพย์

สามี” ในบาลีใช้ในความหมายว่า –

(1) เจ้าของ, ผู้ปกครอง, เจ้า, นาย (owner, ruler, lord, master)

(2) สามี (husband)

บาลี “สามี”  สันสกฤตเป็น “สฺวามินฺ

สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน บอกไว้ว่า –

(สะกดตามต้นฉบับ)

สฺวามินฺ : (คำนาม) ‘สวามิน,’ เจ้าของ, คำว่า ‘สวามี, บดี, อธิการี, หรือสวามินี, ฯลฯ.’ ก็มีนัยอย่างเดียวกัน; นาย, เจ้าหรือจ้าว, คำว่า ‘อธิภู, นายก, อธิป, ฯลฯ.’ ก็มีนัยอย่างเดียวกัน ผัว, คำว่า ‘ภรฺตา, ปติ, สฺวามี, ฯลฯ.’ ก็มีนัยอย่างเดียวกัน; อธิราช, ราชันหรือราชา; อุปาธยาย, อาจารย์, ครูผู้สั่งสอนธรรมหรือเวท; พราหมณ์หรือบัณฑิตผู้คงแก่เรียน; การติเกย; พระวิษณุ; พระศิวะ; มุนิวัตสยายน; ครุฑ; an owner, proprietor, a master or mistress, &c.; a master or lord, &c.; a husband, a lover, &c.; a sovereign, a monarch; a spiritual preceptor, religious teacher; a learned Brāhmaṇ or Paṇḍit; Kartikeya; Vishṇu; Śiva; the Muni Vatsyāyana; Garuḍa.”

จะเห็นว่า “สฺวามิน” ในสันสกฤตมีความหมายกว้างกว่า “สามิ” หรือ “สามี” ในบาลี

ธมฺม + สามี ซ้อน สฺ ตามกฎการสมาสของบาลี

: ธมฺม + สฺ + สามี = ธมฺสฺสามี (ทำ-มัด-สา-มี) แปลตามศัพท์ว่า “ผู้เป็นเจ้าของแห่งธรรม

ธมฺสฺสามี” ในภาษาไทยตัดตัวซ้อนออกตามหลักนิยม ใช้อิงสันสกฤตเป็น “ธรรมสามี

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

ธรรมสามี : (คำนาม) ผู้เป็นเจ้าของธรรม หมายถึง พระพุทธเจ้า. (ป. ธมฺมสามิ).”

…………..

ในคัมภีร์มีคำที่กล่าวถึงพระพุทธเจ้าโดยใช้ศัพท์เป็นชุดว่า –

ภควา ธมฺมิสฺสโร ธมฺมราชา ธมฺมสฺสามี ตถาคโต (พระผู้มีพระภาคเจ้า “ผู้ธรรมิสระ” เป็นใหญ่ในธรรม “ธรรมราชา” เป็นพระราชาโดยธรรม “ธรรมสวามี” เป็นเจ้าของแห่งธรรม เป็น “ตถาคต” ผู้ตรัสพระวาจาจริง)

พระธรรมมีอยู่โดยธรรมชาติธรรมดา แต่เพราะพระพุทธเจ้าเป็นผู้ทรงค้นพบและนำมาตรัสสอนเวไนยนิกร ดังนั้น พระองค์จึงอยู่ในฐานะ “ธรรมสามี” ผู้เป็นเจ้าของแห่งธรรม

…………..

ดูก่อนภราดา!

: ไม่ต้องขโมยประพฤติธรรมความดี

: เพราะพระธรรมสามีท่านไม่เคยหวงพระธรรม

14-4-60