บาลีวันละคำ

สมถะ (บาลีวันละคำ 1,916)

สมถะ

ไม่ได้แปลว่ามักน้อย

อ่านว่า สะ-มะ-ถะ

สมถะ” บาลีเขียน “สมถ” (สะ-มะ-ถะ) รากศัพท์มาจาก สมฺ (ธาตุ = สงบ, ระงับ) + ปัจจัย

: สมฺ + = สมถ (ปุงลิงค์) แปลตามศัพท์ว่า “ธรรมที่ยังความพอใจในกามให้สงบ

สมถ” ในบาลีใช้ในความหมายดังนี้ –

(1) สงบนิ่ง, สงบใจ (calm, quietude of heart)

(2) การระงับอธิกรณ์ (settlement of legal questions) ดังคำในพระวินัยว่า “อธิกรณสมถะ” (ธรรมเครื่องระงับอธิกรณ์, วิธีดำเนินการเพื่อระงับอธิกรณ์)

บาลี “สมถ” สันสกฤตเป็น “ศมถ

สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน บอกไว้ดังนี้ –

ศมถ : (คำนาม) ความสงบหรือระงับ; พุทธิสหาย, อมาตย์; tranquillity; a counsellor, a minister.”

คำที่คู่กับ “สมถะ” คือ “วิปัสสนา” = การเห็นแจ้ง, ความเห็นวิเศษ, ญาณพิเศษ, ปัญญาเครื่องเห็นแจ้ง (inward vision, insight, intuition, introspection) (ดูเพิ่มเติม: “วิปัสสนาธุระ” บาลีวันละคำ (1,864) 17-7-60)

ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกความหมายของ “สมถะ” ไว้ว่า –

สมถ-, สมถะ : (คำนาม) การทำใจให้สงบโดยเพ่งสิ่งใดสิ่งหนึ่งเป็นอารมณ์. (คำวิเศษณ์) มักน้อย เช่น คนสมถะมีความเป็นอยู่เรียบง่าย. (ป.; ส. ศมถ).”

ขยายความ :

เป็นที่รู้เข้าใจกันในหมู่นักปฏิบัติกรรมฐานว่า “อารมณ์ของสมถะ” (คือสิ่งที่นิยมใช้เป็นอุปกรณ์ให้จิตเข้าไปกำหนดในการเจริญสมถภาวนา) ซึ่งพึงเลือกใช้ให้เหมาะกับตน เช่นให้ตรงกับจริต มี 40 อย่าง ได้แก่ กสิณ 10 อสุภะ 10 อนุสสติ 10 พรหมวิหาร 4 อาหาเรปฏิกูลสัญญา 1 จตุธาตุววัตถาน 1 อรูป 4 (พึงศึกษาความหมายของคำเหล่านี้ต่อไป)

สมถภาวนา” หรือการเจริญสมถกรรมฐานทำจิตให้แน่วแน่เป็นสมาธิมี 3 ขั้น คือ –

1. บริกรรมภาวนา ภาวนาขั้นตระเตรียม คือ กำหนดอารมณ์กรรมฐาน

2. อุปจารภาวนา ภาวนาขั้นจวนเจียน คือ เกิดอุปจารสมาธิ

3. อัปปนาภาวนา ภาวนาขั้นแน่วแน่ คือ เกิดอัปปนาสมาธิเข้าถึงฌาน

(ดูเพิ่มเติม: “ภาวนา” พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ ของท่าน ป.อ. ปยุตฺโต)

…………..

อภิปราย :

ในภาษาไทย ถ้าพูดว่า “สมถะ” มักเข้าใจกันว่าหมายถึง-มักน้อย เช่น คนสมถะมีความเป็นอยู่เรียบง่าย ดังที่พจนานุกรมฯ บอกไว้

ความหมายตามที่เข้าใจกันเช่นนี้ ภาษาบาลีไม่ได้ใช้คำว่า “สมถ” แต่ใช้คำว่า “อปฺปิจฺฉ” (อับ-ปิด-ฉะ) แปลตามศัพท์ว่า “ผู้มีความปรารถนาน้อย” หมายถึง มีความปรารถนาน้อยหรือไม่มีเอาเลย, มีความมักน้อย, ไม่อวดตน, พอใจในสิ่งที่มีอยู่, ไม่อวดใหญ่หรือทำเขื่อง (desiring little or nothing, easily satisfied, unassuming, contented, unpretentious)

อีกคำหนึ่งที่มีความหมายไปในแนวเดียวกันคือ “สลฺลหุกวุตฺตี” (สัน-ละ-หุ-กะ-วุด-ตี) แปลตามศัพท์ว่า “ผู้มีความประพฤติอันเคลื่อนไปด้วยดี” หมายถึง ผู้ซึ่งความต้องการของเขาปฏิบัติตามได้อย่างง่ายดาย, มีความประพฤติเบาพร้อม (whose wants are easily met, frugal)

คำทั้ง 2 นี้ไม่เป็นที่รู้จักกันในภาษาไทย

นักอธิบายธรรมะเมื่อพูดถึง “มักน้อย” มักมีคำว่า “สันโดษ” ควบเข้ามาด้วย เช่น “มักน้อยสันโดษ” หรือ “สันโดษมักน้อย” จนคนทั้งหลายพากันเข้าใจว่า “สันโดษ” แปลว่า มักน้อย

สันโดษ” บาลีเป็น “สนฺโตส” (สัน-โต-สะ และมี “สันตุฏฺฐิ” อีกรูปหนึ่ง) แปลตามศัพท์ว่า “ภาวะเป็นเหตุยินดีพร้อม” หมายถึง ความรู้สึกว่ามีความสุขตามฐานะ (satisfaction, contentment) (ดูเพิ่มเติม: “สันโดษ” บาลีวันละคำ (535) 2-11-56)

ขยายความว่า คนไม่สันโดษ มีร้อย ไม่มีความสุขกับร้อย แต่โหยหาพัน ครั้นได้พัน ก็ไม่มีความสุขกับพัน แต่โหยหาหมื่น และโหยหาต่อไปเรื่อยๆ

จะเห็นว่าคนไม่สันโดษจะไม่มีความสุขตลอดชีวิต

ส่วนคนสันโดษ มีร้อย ก็สุขกับร้อย ไม่โหยหาพัน

แต่ถ้าสามารถหาพันได้ ก็ใช้ความสามารถหามาอย่างเต็มที่

ครั้นได้พัน ก็มีความสุขกับพัน ไม่โหยหาหมื่น

มีความสามารถแค่ไหน ก็ใช้ความสามารถหามาอย่างเต็มที่

ข้อสำคัญอยู่ตรงที่-ได้มาเท่าไรก็มีความสุขกับสิ่งที่ได้มา

จะเห็นว่าคนมีสันโดษจะมีความสุขตามฐานะตลอดชีวิต

สันโดษจึงไม่ใช่มักน้อยอย่างที่เข้าใจกัน

เช่นเดียวกับ “สมถะ” ในภาษาบาลีก็ไม่ใช่มักน้อยอย่างที่เข้าใจกันในภาษาไทย

…………..

ดูก่อนภราดา!

: อยากมาก สุขน้อย

: อยากน้อย สุขมาก

: หมดอยาก บรมสุข

7-9-60

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย