บาลีวันละคำ

ปิยกรณธรรม (บาลีวันละคำ 2,324)

ปิยกรณธรรม

เคล็ดลับที่ทำให้คนรัก

อ่านว่า ปิ-ยะ-กะ-ระ-นะ-ทำ

ประกอบด้วยคำว่า ปิย + กรณ + ธรรม

(๑) “ปิย” (ปิ-ยะ)

รากศัพท์มาจาก ปี (ธาตุ = รักใคร่, ชอบใจ) + ณฺย ปัจจัย, ลบ , รัสสะ อี ที่ ปี เป็น อิ (ปี > ปิ

: ปี + ณฺย = ปีณฺย > ปีย > ปิย แปลตามศัพท์ว่า “ผู้อันบุคคลพึงรักใคร่” “สิ่งที่ควรรักชอบ

ปิย” ในบาลีมีความหมายว่า –

(1) ที่รัก, ผู้เป็นที่รัก (dear, beloved)

(2) น่าพึงพอใจ, คบได้, เป็นที่ชอบ (pleasant, agreeable, liked)

(๒) “กรณ” (กะ-ระ-นะ)

รากศัพท์มาจาก กรฺ (ธาตุ = ทำ) + ยุ ปัจจัย แปลงเป็น อน (อะ-นะ) ประกอบท้ายธาตุที่ลงท้ายด้วย รฺ ให้แปลง เป็น

: กรฺ + ยุ > อน = กรน > กรณ (นปุงสกลิงค์) แปลตามศัพท์ว่า “การทำ” “เครื่องทำ” (คืออุปกรณ์หรือวิธีสำหรับทำกิจอย่างใดอย่างหนึ่ง)

กรณ” ในบาลี หมายถึง –

(1) กระทำ, สร้าง, ก่อให้เกิด, ผลิต (doing, making, causing, producing)

(2) การสร้าง, การผลิต; การทำ, การประกอบ (the making, producing of; the doing, performance of)

(๓) “ธรรม

บาลีเป็น “ธมฺม” (ทำ-มะ) รากศัพท์มาจาก ธรฺ (ธาตุ = ทรงไว้) + รมฺม (ปัจจัย) ลบ รฺ ที่สุดธาตุ (ธรฺ > ) และ ต้นปัจจัย (รมฺม > มฺม)

: ธรฺ > + รมฺม > มฺม : + มฺม = ธมฺม (ปุงลิงค์) แปลตามศัพท์ว่า –

(1) “กรรมที่ทรงไว้ซึ่งความดีทุกอย่าง” (หมายถึงบุญ)

(2) “สภาวะที่ทรงผู้ดำรงตนไว้มิให้ตกไปในอบายและวัฏทุกข์” (หมายถึงคุณธรรมทั่วไปตลอดจนถึงโลกุตรธรรม)

(3) “สภาวะที่ทรงไว้ซึ่งสัตว์ผู้บรรลุมรรคเป็นต้นมิให้ตกไปในอบาย” (หมายถึงโลกุตรธรรม คือมรรคผล)

(4) “สภาวะที่ทรงลักษณะของตนไว้ หรืออันปัจจัยทั้งหลายทรงไว้” (หมายถึงสภาพหรือสัจธรรมทั่วไป)

(5) “สภาวะอันพระอริยะมีโสดาบันเป็นต้นทรงไว้ ปุถุชนทรงไว้ไม่ได้” (หมายถึงโลกุตรธรรม คือมรรคผล)

คำแปลตามศัพท์ที่เป็นกลางๆ “ธมฺม” คือ “สภาพที่ทรงไว้

ธมฺม” สันสกฤตเป็น “ธรฺม” เราเขียนอิงสันสกฤตเป็น “ธรรม

การประสมคำ :

ปิย + กรณ = ปิยกรณ (ปิ-ยะ-กะ-ระ-นะ) แปลว่า “ทำให้เป็นที่รัก

ปิยกรณ + ธมฺม = ปิยกรณธมฺม (ปิ-ยะ-กะ-ระ-นะ-ทำ-มะ) แปลว่า “หลักธรรมที่ทำให้เป็นที่รัก” หมายถึง หลักคำสอนที่ใครปฏิบัติตามให้เต็มที่แล้ว ผู้นั้นจะเป็นที่รักของคนทั้งหลาย

ปิยกรณธมฺม” เขียนในภาษาไทยเป็น “ปิยกรณธรรม” (ปิ-ยะ-กะ-ระ-นะ-ทำ) หรือจะเรียกสั้นๆว่า หลัก “ปิยกรณ์” (ปิ-ยะ-กอน) ก็ได้

ขยายความ :

ปิยกรณธรรม” หรือ หลัก “ปิยกรณ์” ท่านแสดงไว้ในคัมภีร์อังคุตรนิกาย ฉักกนิบาต พระไตรปิฎกเล่ม 22 ข้อ 283 ในนาม “สารณียธรรม

ขอนำข้อความที่ประมวลไว้ใน พจนานุกรมพุทธศาสตร์ ฉบับประมวลธรรม ของท่าน ป.อ. ปยุตฺโต ข้อ [273] มาเสนอดังนี้ –

…………..

สารณียธรรม 6 (ธรรมเป็นที่ตั้งแห่งความให้ระลึกถึง, ธรรมเป็นเหตุให้ระลึกถึงกัน, ธรรมที่ทำให้เกิดความสามัคคี, หลักการอยู่ร่วมกัน — Sāraṇīyadhamma: states of conciliation; virtues for fraternal living) สาราณียธรรม ก็ใช้

1. เมตตากายกรรม (ตั้งเมตตากายกรรมในเพื่อนพรหมจรรย์ ทั้งต่อหน้าและลับหลัง คือ ช่วยเหลือกิจธุระของผู้ร่วมหมู่คณะด้วยความเต็มใจ แสดงกิริยาอาการสุภาพ เคารพนับถือกัน ทั้งต่อหน้าและลับหลัง — Mettākāyakamma: to be amiable in deed, openly and in private)

2. เมตตาวจีกรรม (ตั้งเมตตาวจีกรรมในเพื่อนพรหมจรรย์ ทั้งต่อหน้าและลับหลัง คือ ช่วยบอกแจ้งสิ่งที่เป็นประโยชน์ สั่งสอน แนะนำตักเตือนด้วยความหวังดี กล่าววาจาสุภาพ แสดงความเคารพนับถือกัน ทั้งต่อหน้าและลับหลัง — Mettāvacīkamma: to be amiable in word, openly and in private)

3. เมตตามโนกรรม (ตั้งเมตตามโนกรรมในเพื่อนพรหมจรรย์ ทั้งต่อหน้าและลับหลัง คือ ตั้งจิตปรารถนาดี คิดทำสิ่งที่เป็นประโยชน์แก่กัน มองกันในแง่ดี มีหน้าตายิ้มแย้มแจ่มใสต่อกัน — Mettāmanokamma: to be amiable in thought, openly and in private)

4. สาธารณโภคิตา (ได้ของสิ่งใดมาก็แบ่งปันกัน คือ เมื่อได้สิ่งใดมาโดยชอบธรรม แม้เป็นของเล็กน้อย ก็ไม่หวงไว้ผู้เดียว นำมาแบ่งปันเฉลี่ยเจือจาน ให้ได้มีส่วนร่วมใช้สอยบริโภคทั่วกัน — Sādhāraṇabhogitā: to share any lawful gains with virtuous fellows) ข้อนี้ ใช้อัปปฏิวิภัตตโภคี ก็ได้

5. สีลสามัญญตา (มีศีลบริสุทธิ์เสมอกันกับเพื่อนพรหมจรรย์ทั้งหลาย ทั้งต่อหน้าและลับหลัง คือ มีความประพฤติสุจริตดีงาม ถูกต้องตามระเบียบวินัย ไม่ทำตนให้เป็นที่น่ารังเกียจของหมู่คณะ — Sīlasāmaññatā: to keep without blemish the rules of conduct along with one’s fellows, openly and in private)

6. ทิฏฐิสามัญญตา (มีทิฏฐิดีงามเสมอกันกับเพื่อนพรหมจรรย์ทั้งหลาย ทั้งต่อหน้าและลับหลัง คือ มีความเห็นชอบร่วมกัน ในข้อที่เป็นหลักการสำคัญอันจะนำไปสู่ความหลุดพ้น สิ้นทุกข์ หรือขจัดปัญหา — Diṭṭhisāmaññatā: to be endowed with right views along with one’s fellows, openly and in private)

ธรรม 6 ประการนี้ มีคุณคือ เป็น สารณียะ (ทำให้เป็นที่ระลึกถึง — making others to keep one in mind) เป็น ปิยกรณ์ (ทำให้เป็นที่รัก — endearing) เป็น ครุกรณ์ (ทำให้เป็นที่เคารพ — bringing respect) เป็นไปเพื่อ ความสงเคราะห์ (ความประสานกลมกลืน — conducing to sympathy or solidarity) เพื่อ ความไม่วิวาท (to non-quarrel) เพื่อ ความสามัคคี (to concord; harmony) และเพื่อ เอกีภาพ (ความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน — to unity)

…………..

23 ตุลาคม วันปิยมหาราช

…………..

ดูก่อนภราดา!

: ประพฤติธรรมที่ทำให้เป็นที่รักให้จงหนัก

: อย่าทำแค่นึกถึงคนที่เรารักเพียงปีละครั้ง

#บาลีวันละคำ (2,324)

23-10-61

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *