บาลีวันละคำ

บาลีวันละคำ

ถวายพรพระ-ถวายพระพร (บาลีวันละคำ 443)

ถวายพรพระ-ถวายพระพร

“พร” มาจากคำบาลีว่า “วร” แปลตามศัพท์ว่า “ภาวะอันบุคคลปรารถนา” เป็นคำคุณศัพท์ แปลว่า ประเสริฐ, วิเศษ, เลิศ, อริยะ. เป็นคำนามตรงกับคำที่เราใช้ว่า “พร” แปลว่า ความปรารถนา, ความกรุณา
พจน.42 บอกไว้ว่า
“พร : (พอน) คําแสดงความปรารถนาให้ประสบสิ่งที่เป็นสิริมงคล เช่น ให้พร ถวายพระพร, สิ่งที่ขอเลือกเอาตามประสงค์ เช่น ขอพร”

คำว่า “พระ” มีผู้ให้ความเห็นว่าน่าจะมาจาก “วร” (วะ-ระ) ในบาลีสันสกฤต แปลว่า “ผู้ประเสริฐ” แปลง ว เป็น พ ออกเสียงว่า พะ-ระ แล้วกลายเสียงเป็น พฺระ (ร กล้ำ)
พจน.42 บอกความหมายของ “พระ” ไว้ 13 อย่าง
“พระ” ในคำว่า “ถวายพรพระ” หมายถึงพระพุทธเจ้า หรือ เนื่องด้วยพระพุทธเจ้า “พรพระ” ก็คือ พรของพระพุทธเจ้า

“ถวายพรพระ” เป็นคำเรียกบทสวดมนต์ชุดหนึ่ง ประกอบด้วย นะโม, อิติปิ โส (พุทธคุณ ธรรมคุณ สังฆคุณ), พาหุง, มะหาการุณิโก และ ภะวะตุ สัพพะมังคะลัง พระสงฆ์จะสวดในพิธีทำบุญเลี้ยงพระ โดยเฉพาะบท พาหุง และมะหาการุณิโกนั้นว่าด้วยชัยชนะของพระพุทธเจ้า ซึ่งถือว่าเป็นสิ่งอันประเสริฐ คือ “พรของพระพุทธเจ้า” สันนิษฐานว่าเดิมพระสงฆ์ใช้สวดถวายพระเจ้าแผ่นดิน จึงเรียกว่า “ถวายพรพระ”

ส่วนคำว่า “ถวายพระพร” หมายถึงคําแสดงความปรารถนาต่อเจ้านายให้ประสบสิ่งที่เป็นสิริมงคล เช่น พสกนิกรถวายพระพรแด่พระบาทสมเด็จพระอยู่หัวขอให้ทรงพระเจริญ
ในที่นี้คำว่า “พระ” เป็นคำใช้ประกอบหน้าคําอื่นแสดงความยกย่อง

“ถวายพระพร” ยังใช้เป็นคําเริ่มที่พระสงฆ์พูดกับเจ้านายและเป็นคํารับ เหมือนกับที่พระสงฆ์พูดกับบุคลทั่วไปใช้คำว่า “เจริญพร” เทียบกับคำของชาวบ้านก็คือ “ครับ” นั่นเอง

: พระสงฆ์ท่านสวดบทถวายพรพระเป็นการถวายพระพร
: เราพสกนิกรถวายพระพรขอให้ทุกพระองค์ทรงพระเจริญ

Read More
บาลีวันละคำ

เยาว์ (บาลีวันละคำ 442)

เยาว์

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2542 บอกไว้ว่า
“เยาว์ (เยา) : อ่อนวัย, รุ่นหนุ่ม, รุ่นสาว, เช่น เยาว์วัย วัยเยาว์. (แผลงมาจาก ยุว)”

“ยุว” บาลีอ่านว่า ยุ-วะ แปลตามศัพท์ว่า “ผู้ปะปนกัน” คือมีลักษณะผสมกันระหว่างเด็กกับผู้ใหญ่ หรือพ้นจากวัยเด็ก แต่ยังไม่เข้าสู่วัยผู้ใหญ่
ความหมายก็คือ คนหนุ่มคนสาว ที่เรียกว่า “เยาวชน” นั่นเอง
“เยาวชน” พจน.42 ว่า บุคคลอายุเกิน 14 ปีบริบูรณ์แต่ยังไม่ถึง 18 ปีบริบูรณ์ (ความหมายตามหลักกฎหมาย)

กระบวนการกลายคำ “ยุว” เป็น “เยาว์” คือ
1 แปลง อุ ที่ ยุ เป็น โอ = โยว (โย-วะ)
2 แปลง โอ เป็น เอา = เยาว (เยา-วะ)
(ถ้าตามสูตรบาลีต้องบอกว่า แปลง โอ เป็น อว (อะ-วะ) เสียง “อว” ในบาลีเท่ากับ “เอา” ในเสียงไทย)
3 ในภาษาไทย ถ้าอยู่ท้ายคำ ว ไม่ออกเสียง จึงการันต์ที่ ว = เยาว์ อ่านว่า เยา

คำว่า “เยาว์” จึงใช้กับคนเท่านั้น
ถ้าจะให้หมายถึงสินค้ามีราคาถูก หรือมีราคาพอสมควร ต้องเขียนว่า “ย่อมเยา” (ไม่มี ว การันต์)
“เยา” เป็นคำไทย มีความหมายว่า เบา, อ่อน, น้อย

“เยา” ไทย เคยถูก “จับบวช” เป็น “เยาว์” บาลี โดยมีผู้ทำท่าจะรู้พยายามอธิบายผิดให้เป็นถูกว่า “ราคาย่อมเยาว์” (มี ว การันต์) น่าจะใช้ได้ เพราะเป็นการพูดโดยอุปมาโวหาร คือเปรียบราคาสินค้าเหมือนอายุคน “ราคาย่อมเยาว์” ก็คืออายุของราคาสินค้ายังน้อยอยู่ คือมีราคาถูก หรือมีราคาพอสมควร อันเป็นความหมายเดียวกับ “เยา” นั่นเอง

“ราคาย่อมเยาว์” – ผิด
“ราคาย่อมเยา” – ถูก

: แก้คำผิดให้ถูก
: ดีกว่าอธิบายคำผิดให้เป็นถูก

Read More
บาลีวันละคำ

เบญจางคประดิษฐ์ (บาลีวันละคำ 441)

เบญจางคประดิษฐ์

อ่านว่า เบน-จาง-คะ-ปฺระ-ดิด
แยกคำเป็น เบญจ + องค + ประดิษฐ์

“เบญจ” บาลีเป็น “ปญฺจ” (ปัน-จะ) แปลว่า ห้า (จำนวน ๕) ในภาษาไทยนิยมแปลงเป็น “เบญจ”

“องค” บาลีเป็น “องฺค” (อัง-คะ) แปลว่า ส่วนของร่างกาย, อวัยวะ, ชิ้นส่วน, องค์ประกอบ, ส่วนประกอบ, ส่วนประกอบของทั้งหมด หรือของระบบ (เช่น ศีลข้อปาณาติบาตจะขาด ต้องประกอบด้วยองค์ห้า)
เบญจ + องค = เบญจงค แล้วยืดเสียง อัง-คะ เป็น อาง-คะ = เบญจางค แปลตามศัพท์ว่า “องค์ห้า”

“ประดิษฐ์” บาลีเป็น “ปติฏฺฐิต” (ปะ-ติด-ถิ-ตะ) แปลว่า ตั้งขึ้น, ดำรงไว้, ประดิษฐาน, ยืนอยู่ เราเขียนอิงสันสกฤตเป็น “ประดิษฐ์” ใช้ในความหมายว่า ตั้งขึ้น, จัดทําขึ้น, คิดทําขึ้น, สร้างขึ้น, แต่งขึ้น

ในที่นี้ “ประดิษฐ์” มีความหมายว่า “จรดลงอย่างตั้งใจ”

เบญจ + องค = เบญจางค + ประดิษฐ์ = เบญจางคประดิษฐ์ แปลตามศัพท์ว่า “การจรดลงอย่างตั้งใจด้วยองค์ห้า” หมายถึงการกราบโดยให้อวัยวะทั้ง 5 คือ เข่า 2 ฝ่ามือ 2 และหน้าผาก 1 สัมผัสลงกับพื้น เป็นกิริยาแสดงความเคารพอย่างสูงสุด ใช้ในการกราบพระ (พระรัตนตรัย เช่นกราบที่โต๊ะหมู่บูชา, กราบพระสงฆ์)

“เบญจางคประดิษฐ์” ภาษาบาลีใช้ว่า “ปญฺจปติฏฺฐิต” (ปัน-จะ-ปะ-ติด-ถิ-ตะ) ไม่ใช่ “ปญฺจงฺคปติฏฺฐิต” (ไม่มี “องค” เหมือนในภาษาไทย)

: ชนใดรูปทราม แม้นกราบพระงาม ลบทรามกลับงามชวนชม
: ชนใดรูปงาม แม้นกราบพระทราม ลบงามกลับทรามซวนซม
: ชนใดรูปทราม ซ้ำกราบพระทราม สิ้นงามสามภพลบจม
: ชนใดรูปงาม ซ้ำกราบพระงาม ยิ่งงามสามภพนบนิยม

——————
(ปรับปรุงจาก ปญฺจปฺปติฏฺฐิต บาลีวันละคำ (50) 22-6-55)

Read More
บาลีวันละคำ

อัฐฬส (บาลีวันละคำ 440)

อัฐฬส

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2542 เก็บคำว่า “อัฐ” (อัด) (คำโบราณ) ไว้ มีความหมายดังนี้ –
1 เรียกเงินปลีกสมัยก่อน 8 อัฐ เท่ากับ 1 เฟื้อง
2 เงิน, เงินตรา เช่น คนมีอัฐ
3 ราคาถูก ในสํานวนว่า ไม่กี่อัฐ, ไม่กี่อัฐฬส ก็ว่า

คำว่า “ฬส” ย่อมาจาก “โสฬส” (โส-ลด) พจน.42 บอกความหมายไว้ดังนี้ –
1 ชั้นพรหมโลก 16 ชั้น ถือกันว่าเป็นที่มีสุขอย่างยอดยิ่ง
2 ตําราเล่นการพนันครั้งโบราณสําหรับเล่นหวย เล่นถั่ว
3 เรียกเงินปลีกสมัยก่อน 16 อัน เป็น 1 เฟื้อง, เรียกย่อว่า ฬส

ความหมายที่ตรงกันของ “อัฐ” และ “ฬส” (“โสฬส”) ก็คือ เป็นคำเรียกเงินปลีกสมัยก่อน 8 อัฐ (= “อัฐ”) หรือ 16 อัน (= “โสฬส”) เป็น 1 เฟื้อง
มาตราเงินตามวิธีโบราณ เริ่มจาก โสฬส > อัฐ > เฟื้อง > สลึง > บาท > ตำลึง > ชั่ง
จะเห็นได้ว่า โสฬส หรือ อัฐ เป็นหน่วยย่อยที่สุด คำว่า “อัฐฬส” (อัด-ลด) จึงมีความหมายว่า ราคาถูก หรือของที่แทบไม่มีราคา

“อัฐ” บาลีเป็น “อฏฺฐ” อ่านว่า อัด-ถะ แปลว่า แปด (จำนวน 8)
“โสฬส” บาลีอ่านว่า โส-ละ-สะ แปลว่า สิบหก (จำนวน 16)

สำนวนบาลีเมื่อกล่าวถึงสิ่งที่มีค่ามากน้อยกว่ากันเมื่อเทียบกัน นิยมพูดว่า เอาสิ่งที่มีค่ามากกว่ามาแบ่งออกเป็น “16 ส่วน” แล้วเอา 1 ใน 16 ส่วนนั้นมาแบ่งออกไปอีก 16 ส่วน แบ่งโดยทำนองนี้ถึง 16 ครั้ง เอาทั้งหมดของสิ่งที่มีค่าน้อยกว่ามาเทียบก็ยังมีค่าไม่ถึงส่วนเสี้ยวเดียวของสิ่งที่มีค่ามากกว่าซึ่งแบ่งเป็นครั้งที่ 16 ดังกล่าวแล้ว

: เงินหมื่นล้านแสนล้านที่โกงเขามา ให้ความสุขได้ไม่ถึงเสี้ยวที่ 16 ของเงินบาทเดียวที่หามาได้โดยสุจริต

Read More
บาลีวันละคำ

สยามมกุฎราชกุมาร (บาลีวันละคำ 439)

สยามมกุฎราชกุมาร

“สยาม” เป็นชื่อเรียกประเทศไทยในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ต่อมาได้เปลี่ยนชื่อเป็น “ประเทศไทย” เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2482; คำนี้หมายถึง “ของประเทศไทย” ก็ได้

“มกุฎ” บาลีเป็น “มกุฏ” (มะ-กุ-ตะ, ฏ ปฏัก สะกด) แปลตามศัพท์ว่า “เครื่องประดับ” หมายถึงเครื่องสวมศีรษะ มีลักษณะต่าง ๆ กัน และมีความหมายว่า ยอด, สูงสุด, ยอดเยี่ยม ภาษาไทยใช้ว่า “มกุฏ” (มะกุด) และ “มงกุฏ” (มง-กุด) (ฎ ชฏา สะกด)

“ราชกุมาร” บาลีอ่านว่า รา-ชะ-กุ-มา-ระ คำว่า “กุมาร” แปลตามรากศัพท์ว่า “ผู้เล่นสนุก” “ผู้ขีดดินเล่น” “ผู้สนุกอยู่บนดิน” “ผู้อันบิดามารดาปรารถนา”
“ราชกุมาร” หมายถึง เจ้าชาย, โอรสของพระราชา

“สยามมกุฎราชกุมาร” (สะ-หฺยาม-มะ-กุด-ราด-ชะ-กุ-มาน) แปลตามศัพท์ว่า “เจ้าชายผู้ได้รับมงกุฎแห่งสยาม” ขยายความว่า เจ้าชายแห่งสยามผู้ได้รับเครื่องประดับพระเศียรอันเป็นเครื่องหมายแห่งผู้ที่จะสืบราชสันตติวงศ์ต่อไป

พระอิสริยยศ “สยามมกุฎราชกุมาร” (เทียบคำอังกฤษ The Crown Prince) นี้ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเป็นผู้ทรงกำหนดขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2429 เพื่อเป็นรัชทายาทแทนกรมพระราชวังบวรสถานมงคล หรือ วังหน้า และตำแหน่งพระมหาอุปราช ซึ่งใช้สืบเนื่องมาตั้งแต่ครั้งกรุงศรีอยุธยา

สยามมีพระราชกุมารที่ดำรงพระอิสริยยศ “สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช สยามมกุฎราชกุมาร” จนถึงปัจจุบันนับได้ 3 พระองค์ ได้แก่ –
1 สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ สยามมกุฎราชกุมาร (ในรัชกาลที่ 5)
2 สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราวุธ สยามมกุฎราชกุมาร (ในรัชกาลที่ 5)
3 สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราลงกรณ สยามมกุฎราชกุมาร (รัชกาลปัจจุบัน)

: 28 กรกฎาคม วันพระราชสมภพ สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราลงกรณ สยามมกุฎราชกุมาร

ขอจงทรงพระเจริญ

Read More
บาลีวันละคำ

เพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดี (บาลีวันละคำ 438)

เพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดี

อ่านว่า เพ็ด-ชะ-รัด-ราด-ชะ-สุ-ดา สิ-หฺริ-โส-พา-พัน-นะ-วะ-ดี

แต่ละคำมีคำแปลและความหมายดังนี้ –

“เพชร” บาลีเป็น “วชิร” (วะ-ชิ-ระ) แปลตามศัพท์ว่า “สิ่งที่ไปได้เรื่อย” (คือไม่มีอะไรขัดขวางการไปได้) หรือ “สิ่งที่ไปอย่างไม่มีอะไรขัดขวาง” โดยความมุ่งหมายแล้วคำนี้หมายถึงอสนีบาต หรือสายฟ้า ซึ่งถือว่าเป็น “อาวุธพระอินทร์” ความหมายที่เข้าใจกันคือ แก้วที่แข็งที่สุดและมีนํ้าแวววาวมากกว่าพลอยอื่น ๆ
“เพชร” ในที่นี้หมายถึงพระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งทรงมีพระนามว่า “เจ้าฟ้ามหาวชิราวุธ”

“รัตน” บาลีเป็น “รตน” (ระ-ตะ-นะ) แปลตามศัพท์ว่า “สิ่งที่ขยายความยินดี”( คือเพิ่มความยินดีให้) “สิ่งเป็นที่ชื่นชอบแห่งผู้คน” “สิ่งที่นำไปสู่ความยินดี” “สิ่งที่ยังความยินดีให้เกิดขึ้น” ความหมายที่เข้าใจกันคือ แก้วที่ถือว่ามีค่ายิ่ง
คำนี้ใช้ประกอบคําอื่นหมายถึงยอดเยี่ยมในพวกนั้น ๆ เช่น บุรุษรัตน์ นารีรัตน์ รัตนกวี

“ราช” แปลตามศัพท์ว่า “ผู้รุ่งเรืองโดยยิ่งเพราะมีเดชานุภาพมาก” “ผู้ยังคนทั้งหลายให้ยินดี” ความหมายที่เข้าใจกันคือ พระราชา, พระเจ้าแผ่นดิน, พระมหากษัตริย์

“สุดา” บาลีเป็น “สุตา” (สุ-ตา) แปลตามศัพท์ว่า “ผู้อันบิดามารดาปกครอง” “ผู้เชื่อฟัง” หมายถึง ลูกสาว (ถ้า “สุต” (สุ-ตะ)หมายถึง ลูกชาย)

“สิริ” แปลว่า ความรุ่งเรือง, ความสว่างสุกใส, ความงาม, ความดี, ความเจริญ, โชค, ความมีเดช

“โสภา” แปลว่า ความงดงาม, ความเปล่งปลั่ง, ความสวยงาม

“พัณณวดี” บาลีเป็น “วณฺณวตี” (วัน-นะ-วะ-ตี) แปลว่า ผู้มีผิวพรรณอันควรชม, ผู้มีผิวพรรณผุดผ่อง

“เพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดี” เป็นพระนามของสมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดี พระราชธิดาในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว กับพระนางเจ้าสุวัทนา พระวรราชเทวี
พระนามนี้มีความหมายว่า

“พระราชธิดาผู้มีผิวพรรณอันทรงพระสิริโฉม ผู้เป็นดั่งดวงแก้วแห่งมหาวชิราวุธ”

สมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดี สิ้นพระชนม์เมื่อวันที่ 27 กรกฎาคม พุทธศักราช 2554 พระชันษา 85 พรรษา

: เสวยสุขทุกทุกภพจบจักรวาล
: กว่าจะพบพระนฤพานผ่านภพเทอญ

Read More
บาลีวันละคำ

สัจอธิษฐาน (บาลีวันละคำ 437)

สัจอธิษฐาน
(บาลีไทย)

ในช่วงเวลาเข้าพรรษา 3 เดือน มีคนจำนวนมากตั้งใจงดการกระทำบางอย่าง เช่น ดื่มสุรา สูบบุหรี่ เล่นการพนัน เที่ยวกลางคืน เป็นต้น และเรียกการตั้งใจงดเช่นนั้นว่า “สัจอธิษฐาน”

“สัจ” บาลีเป็น “สจฺจ” อ่านว่า สัด-จะ หมายถึง ความจริง, ความจริงใจ, ความสัตย์, คำจริง ใช้เป็นคุณศัพท์หมายถึง จริง, แท้
ในทางธรรม “สจฺจ” หมายถึง สัจธรรม (ความจริงแท้), นิพพาน
“สจฺจ” แปลตามรากศัพท์ว่า –
“สิ่งที่มีในคนดีทั้งหลาย” (สัจจะจึงต้องเป็นไปในทางดี)
“สิ่งที่เบียดเบียนทุกข์” (สัจจะจึงต้องใช้เพื่อแก้ทุกข์ คือแก้ปัญหา)
“สัจจะ” เป็นบารมีอย่างหนึ่ง เรียกว่า สัจบารมี (สัด-จะ-บา-ระ-มี)

“อธิษฐาน” บาลีเป็น “อธิฏฺฐาน” (อะ-ทิด-ถา-นะ) มาจาก อธิ + ฐาน ซ้อน ฏ = อธิฏฺฐาน แปลตามศัพท์ว่า ความตั้งใจแน่วแน่, การตัดสินใจ, ความตกลงใจ
“อธิฏฺฐาน – อธิษฐาน” ตามความหมายเดิมคือ ความตั้งใจมั่น, การตัดสินใจเด็ดเดี่ยว, ความตั้งใจมั่นแน่วที่จะทำการให้สำเร็จลุจุดหมาย, ความตั้งใจหนักแน่นเด็ดเดี่ยวว่าจะทำการนั้นๆ ให้สำเร็จ และมั่นคงแน่วแน่ในทางดำเนินและจุดมุ่งหมายของตน เป็นบารมีอย่างหนึ่ง เรียกว่า อธิษฐานบารมี (อะ-ทิด-ถา-นะ-บา-ระ-มี)

สจฺจ + อธิฏฺฐาน เขียนแบบไทยตามหลักของราชบัณฑิตยสถาน ตัด จ ออกตัวหนึ่ง และไม่ต้องประวิสรรชนีย์ เป็น “สัจอธิษฐาน” อ่านว่า สัด-จะ-อะ-ทิด-ถาน มีความหมาย (ตามเจตนา) ว่า “ตั้งสัจจะอย่างมั่นคง”

ความจริง การตั้งใจทำความดี เพียงมี “สัจจะ” หรือ “อธิษฐาน” อย่างใดอย่างหนึ่ง ก็สำเร็จได้ คือ –
จริงใจที่จะทำความดี = สัจจะ (เมื่อจริงใจ ก็ไม่เลิกล้ม)
ตั้งมั่นอยู่ในความดีที่ทำ = อธิษฐาน (เมื่อมั่นคงในความดี ก็ไม่เลิกล้ม)

: มีทั้ง “สัจจะ” มีทั้ง “อธิษฐาน” ขอให้ชนะมารโดยทั่วกันเทอญ !

Read More
บาลีวันละคำ

ธัมมจักกัปปวัตนสูตร (บาลีวันละคำ 436)

ธัมมจักกัปปวัตนสูตร

“ธมฺม” (ทำ-มะ) แปลตามศัพท์ว่า “สภาพที่ทรงไว้” ความหมายกลางๆ คือ หลักธรรม, หลักการ, หลักปฏิบัติ ในที่นี้หมายถึงพระธรรม, คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ซึ่งแสดงธรรมให้เปิดเผยปรากฏขึ้น (ดูเพิ่มเติมที่ บาลีวันละคำ (115) 31-8-55)

“จกฺก” (จัก-กะ) แปลว่า ล้อรถ, แผ่นกลม, วงกลม

“ปวตฺตน” (ปะ-วัด-ตะ-นะ) แปลตามศัพท์ว่า “การเคลื่อนไปข้างหน้า” ในที่นี้เป็นอาการของ “ล้อ” จึงมีความหมายว่า “หมุนไป”

“สูตร” บาลีเป็น “สุตฺต” (สุด-ตะ) หมายถึง เส้นด้าย, เส้นเชือก (ความหมายนี้แปลตามศัพท์ว่า “สิ่งที่ยาวออกไป”) และหมายถึงพระพุทธพจน์หรือพระสูตรต่างๆ ในพระไตรปิฎก (ความหมายนี้แปลตามศัพท์ว่า “วจนะที่หลั่งเนื้อความออกมา” และ “วจนะที่รักษาอรรถไว้ด้วยดี” เป็นต้น)

ธมฺม + จกฺก + ปวตฺตน + สุตฺต = ธมฺมจกฺกปฺปวตฺตนสุตฺต (สังเกต จกฺก + ปวตฺตน ซ้อน ปฺ) เขียนแบบไทยเป็น ธัมมจักกัปปวัตนสูตร แปลความว่า “พระสูตรว่าด้วยการหมุนกงล้อแห่งธรรม”

เนื้อหาแห่งพระสูตรนี้ (เรียกสั้นๆ ว่า “พระธรรมจักร” หรืออีกชื่อหนึ่งว่า “ปฐมเทศนา”) ว่าด้วยอริยสัจสี่ พระพุทธองค์ทรงแสดงแก่พระปัญจวัคคีย์ เป็นการเริ่มประกาศพระพุทธศาสนา เมื่อวันเพ็ญเดือนอาสาฬหะหลังจากตรัสรู้แล้ว 2 เดือน เมื่อจบพระสูตร ท่านโกณฑัญญะ หนึ่งในปัญจวัคคีย์บรรลุธรรม ทูลขออุปสมบทเป็นพระสงฆ์องค์แรกในพระพุทธศาสนา ทำให้มีพระรัตนตรัย คือ พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ครบบริบูรณ์

: การแสดงพระสูตรนี้ มีคำพรรณนาไว้ว่า อุปมาดั่งจักรพรรดิราชธรรมราชา ทรงกรีธากองทัพธรรม ย่ำยีบดขยี้กิเลสมารน้อยใหญ่ นำเวไนยนิกรให้ลุถึงอมตนครมหานฤพานฉะนั้นแล

Read More
บาลีวันละคำ

จํานําพรรษา (บาลีวันละคำ 435)

จํานําพรรษา

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2542 บอกไว้ว่า
“จํานําพรรษา : เรียกผ้าที่ถวายแก่พระสงฆ์ที่อยู่จําพรรษาในวัดนั้น ๆ ว่า ผ้าจํานําพรรษา”

ตาม พจน.42 ทำให้มีปัญหาว่า “ผ้าจํานําพรรษา” คือผ้าอะไร ถวายเมื่อไร

“ผ้าจํานําพรรษา” ภาษาบาลีว่า “วสฺสาวาสิกสาฎก” หรือ “วสฺสาวาสิกสาฏิกา”

“วสฺสา” (วัด-สา) แปลว่า พรรษา หมายถึงฤดูฝน
“วาสิก” (วา-สิ-กะ) แปลว่า ผู้อยู่, ผู้อาศัยอยู่
“สาฏก” (สา-ตะ-กะ) หรือ “สาฏิกา” (สา-ติ-กา) แปลว่า ผ้า (ตามวัฒนธรรมการแต่งกายของชาวชมพูทวีปโบราณ หมายถึงเสื้อผ้าชั้นนอก หรือผ้าคลุม ใช้เมื่อเวลาออกนอกบ้าน)

“วสฺสาวาสิกสาฎก” หรือ “วสฺสาวาสิกสาฏิกา” หมายถึง ผ้าที่ทายกถวายแก่พระสงฆ์ผู้อยู่จำพรรษาครบแล้ว
โปรดสังเกตว่า “อยู่จำพรรษาครบแล้ว” คือหลังจากออกพรรษาแล้ว ไม่ใช่ก่อนเข้าพรรษา หรือระหว่างสามเดือนในพรรษา

เพราะฉะนั้น “ผ้าจํานําพรรษา” ก็คือผ้าที่ถวายหลังจากออกพรรษาแล้ว ด้วยวัตถุประสงค์ที่จะให้พระท่านผลัดเปลี่ยนจีวรชุดเก่าที่ใช้มาตลอดพรรษา คือตลอดปีที่ผ่านมานั่นเอง

ผ้าที่เกี่ยวกับ “พรรษา” อีกชนิดหนึ่ง ภาษาบาลีเรียก “วสฺสิกสาฎก” หรือ “วสฺสิกสาฏิกา” (วัด-สิ-กะ-สา-ตะ-กะ / วัด-สิ-กะ-สา-ติ-กา)
“วสฺสิก” เป็นคุณศัพท์ แปลว่า สำหรับฤดูฝน, ซึ่งอยู่ในฤดูฝน, ซึ่งอยู่จำพรรษา
“วสฺสิกสาฎก” หรือ “วสฺสิกสาฏิกา” ก็คือ “ผ้าอาบน้ำฝน” เรียกสั้นๆ ว่า “ผ้าอาบ” คนเก่าๆ เรียก “ผ้าชุบอาบ” หรือ “ผ้าชุบสรง”
“ผ้าอาบน้ำฝน” นี้ ต้องถวายก่อนเข้าพรรษา ด้วยวัตถุประสงค์ที่จะให้พระภิกษุสามเณรใช้ผลัดอาบนํ้าในระหว่างจำพรรษา

“ผ้าอาบน้ำฝน” จึงไม่ใช่ “ผ้าจํานําพรรษา” อย่างที่มักเรียกกันผิดๆ
(แล้วยังลามไปเรียก “เทียนพรรษา” ว่า “เทียนจํานําพรรษา” ผิดซ้ำเข้าไปอีกด้วย)

: ถ้าเมืองตาหลิ่วยังมีตางาม ก็อย่าหลิ่วตาตามไปเสียทุกเรื่อง

Read More
บาลีวันละคำ

พรรษา (บาลีวันละคำ 434)

พรรษา

บาลีเป็น “วสฺส” อ่านว่า วัด-สะ สันสกฤตเป็น “วรฺษ” เราเขียนอิงสันสกฤตเป็น “พรรษา” อ่านว่า พัน-สา

“วสฺส – พรรษา” แปลตามศัพท์ว่า
1 “น้ำที่หลั่งรดลงมา” = ฝน
2 “ฤดูเป็นที่ตกแห่งฝน” = ฤดูฝน
3 “กาลอันกำหนดด้วยฤดูฝน” = ปี

“วสฺส -วรฺษ” ไทยเราน่าจะใช้เป็น “พรรษ” (พัด) แต่ที่เป็น “พรรษา” อาจเป็นเพราะ –
1 ในบาลีมักใช้ในรูปพหูพจน์ คือเป็น “วสฺสา” (สัน.วรฺษา) เราจึงใช้ตามที่คุ้นเป็น “พรรษา”
2 คำที่หมายถึงฤดูฝนมีอีกคำหนึ่ง คือ “วสฺสาน” (วัด-สา-นะ) คำนี้อาจกร่อนเป็น “วสฺสา-” เราก็เลยใช้เป็น “พรรษา”

ในภาษาไทย พจน.42 บอกความหมายของ “พรรษา” ไว้ว่า
– ช่วงระยะเวลา 3 เดือนในฤดูฝน เช่น เข้าพรรษา จําพรรษา
– ปี เช่น บวช 3 พรรษา, มีพระชนมายุ 25 พรรษา

คำที่เราพูดว่า “เข้าพรรษา” บาลีใช้ว่า “วสฺสูปนายิกา” (วัด-สู-ปะ-นา-ยิ-กา) แปลว่า “ดิถีเป็นที่น้อมไปสู่กาลฝน” หมายถึงดิถีเข้าพรรษา, วันเข้าพรรษา

: “พรรษา” แปลว่า ปี ควรฤๅจะทำดีแค่สามเดือน ?

Read More