บาลีวันละคำ

บาลีวันละคำ

สาลา (บาลีวันละคำ 453)

สาลา

ในภาษาไทยใช้ตามรูปสันสกฤตเป็น “ศาลา”

“สาลา” แปลตามศัพท์ว่า “โรงเรือนเป็นที่ผู้คนไปหา” (สลติ คจฺฉติ เอตฺถาติ สาลา = บุคคลย่อมไปในที่นั้น เหตุนั้น ที่นั้นจึงเรียกว่า สาลา)
“ศาลา-สาลา” หมายถึง ห้องโถง, ห้องใหญ่, บ้าน; เพิง, โรงสัตว์

ความหมายในภาษาไทย พจน.42 บอกว่า –
“ศาลา : อาคารทรงไทย ปล่อยโถง ไม่กั้นฝา ใช้เป็นที่พักหรือเพื่อประโยชน์การงานอย่างใดอย่างหนึ่ง เช่น ศาลาวัด ศาลาที่พัก ศาลาท่านํ้า, โดยปริยายหมายถึงอาคารหรือสถานที่บางแห่ง ใช้เพื่อประโยชน์การงานอย่างใดอย่างหนึ่ง เช่น ศาลาพักร้อน ศาลาสวดศพ”

ภาษาไทยคำเก่าๆ ใช้คำว่า “ศาลา” ในความหมายว่า –
1 สถานที่ปฏิบัติราชการ เช่น ศาลาว่าการกระทรวง.. ศาลากลางจังหวัด.. สุขศาลา (ปัจจุบันเรียกว่า สถานีอนามัย)
2 สถานที่ปฏิบัติกิจบางอย่าง (เฉพาะคราวหรือประจำ) เช่น ศาลาการเปรียญ (ศาลาวัดสำหรับพระสงฆ์แสดงธรรมและใช้เป็นที่บำเพ็ญกุศลต่างๆ ด้วย)

“ศาลา” ในภาษาไทยใช้เรียกสถานที่ทุกระดับ ตั้งแต่สถานที่เฉพาะพระราชามหากษัตริย์ ไปจนถึงสถานที่สำหรับคนอนาถา มีทั้งที่ต้องอธิบายจึงจะรู้ว่าเป็นสถานที่อะไร และที่เอ่ยขึ้นมาก็รู้กันดีโดยไม่ต้องอธิบาย เช่น

– “ศาลาลงสรง” = ศาลาที่สร้างขึ้นชั่วคราวสำหรับใช้ในพระราชพิธีโสกันต์หรือพระราชพิธีเกศากันต์และพระราชพิธีลงท่า
– “อาโรคยศาลา” หรือ “อาโรคยศาล”= โรงพยาบาล
– “ศาลาลูกขุน” = ที่ทำการของลูกขุน
– “ศาลาราย” = ศาลาที่สร้างเป็นหลัง ๆ เรียงเป็นแนวรอบโบสถ์หรือวิหาร เช่น ศาลารายวัดพระศรีรัตนศาสดาราม
– “ศาลาฉทาน” = สถานที่แจกจ่ายอาหารแก่คนทั่วไปเป็นการกุศล
– “ศาลาพักร้อน”
– “ศาลาริมทาง”
– “ศาลาวัด”

: แม้เป็นเพียงศาลา
อย่าดูถูกว่าต้อยต่ำ
ถามตัวเองสักคำ
ทำประโยชน์เหมือนศาลาได้บ้างหรือยัง

Read More
บาลีวันละคำ

ศาล (บาลีวันละคำ 452)

ศาล

อ่านว่า สาน

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2542 บอกความหมายของคำว่า “ศาล” ไว้ดังนี้ –
1 องค์กรที่มีอํานาจพิจารณาพิพากษาอรรถคดีโดยดำเนินการตามรัฐธรรมนูญ ตามกฎหมายและในพระปรมาภิไธยพระมหากษัตริย์ ได้แก่ ศาลรัฐธรรมนูญ ศาลยุติธรรม ศาลปกครอง และศาลทหาร
2 ที่ชำระความ เช่น ศาลแพ่ง ศาลอาญา
3 ที่สิงสถิตของเทวดา เทพารักษ์ หรือเจ้าผี เป็นต้น เช่น ศาลเทพารักษ์ ศาลเจ้า ศาลเจ้าแม่ทับทิม

พจน.42 ไม่ได้บอกว่าคำว่า “ศาล” มาจากภาษาอะไร
มีคำเก่าบางคำที่เก็บไว้ คือ –
1 “ศาลาลูกขุน” = ที่ทำการของลูกขุน
2 “ลูกขุน ณ ศาลหลวง” = คณะข้าราชการชั้นสูงฝ่ายตุลาการ ซึ่งรวมกันเรียกว่า ลูกขุน ณ ศาลหลวง มีหน้าที่พิพากษาคดีอย่างศาลยุติธรรม แต่มิได้เป็นผู้พิจารณาคดี เพราะมีตระลาการที่จะพิจารณาคดีแล้วขอคําตัดสินจากลูกขุน ณ ศาลหลวงอีกชั้นหนึ่ง
3 “ลูกขุน ณ ศาลา” = คณะข้าราชการชั้นสูงฝ่ายธุรการ ซึ่งมีตําแหน่งต่าง ๆ มีเสนาบดีเป็นต้น รวมกันเรียกว่า ลูกขุน ณ ศาลา

แสดงให้เห็นว่า “ศาล” กับ “ศาลา” น่าจะมีความเกี่ยวข้องกัน

1 คำว่า “องค์กรที่มีอํานาจพิจารณาพิพากษาอรรถคดี” (ศาล-ในความหมายที่ 1) ตรงกับบาลีว่า “วินิจฺฉยมหามตฺต” (วิ-นิด-ฉะ-ยะ-มะ-หา-มัด-ตะ) = อำมาตย์ผู้พิพากษาอรรถคดี

2 คำว่า “ที่ชำระความ” (ศาล-ในความหมายที่ 2) บาลีใช้คำว่า
– “วินิจฺฉยสาลา” (วิ-นิด-ฉะ-ยะ-สา-ลา) = ศาลาพิพากษาอรรถคดี
– “วินิจฺฉยฏฺฐาน” (วิ-นิด-ฉะ-ยัด-ถา-นะ) = สถานที่พิพากษาอรรถคดี
– “วินิจฺฉยสภา” (วิ-นิด-ฉะ-ยะ-สะ-พา) = ที่ประชุมพิพากษาอรรถคดี

3 คำว่า “ที่สิงสถิตของเทวดา เทพารักษ์ หรือเจ้าผี เป็นต้น” (ศาล-ในความหมายที่ 3) บาลีใช้คำว่า
– “เทวฏฺฐาน” (เท-วัด-ถา-นะ) = เทวสถาน, สถานที่ศักดิ์สิทธิ์
– “เทวายตน” (เท-วา-ยะ-ตะ-นะ) = ศาลเจ้า, เทวาลัย

ศาลสถิตยุติธรรม หรือศาลเจ้า คงจะได้ต้นเค้าไปจาก “ศาลา”
“ศาล” ทั้งสองความหมายนี้เป็นที่ตั้งแห่งความเคารพของผู้คนในสังคม

: ทำตัวให้น่าเคารพ ก็เป็นได้ครบทุกศาล

Read More
บาลีวันละคำ

กเลวะราก, กะเลวะราด, กะเลกะราด (บาลีวันละคำ 451)

กเลวะราก, กะเลวะราด, กะเลกะราด

“ติดฝิ่น กินสุรา ตีหัวหมา ด่าแม่เจ๊ก ลักเล็กขโมยน้อย คอยเกะกะระราน อยู่ที่ไหนชาวบ้านนอนตาไม่หลับ”
สมัยก่อนมีคำเรียกคนประเภทนี้ ฟังได้ว่า “พวกกะเลวะราก” บางทีก็ว่า พวกกะเลวะราด, กะเลกะราด (อาจจะสะกดเป็นอย่างอื่นอีกแล้วแต่ว่าจะได้ยินเป็นอย่างไร)

คำนี้มีที่มาอย่างไร ?

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2542 มีคำว่า “กเฬวราก” (อ่านว่า กะ-เล-วะ-ราก) บอกความหมายไว้ว่า “ซากศพ, บางทีใช้เข้าคู่กันเป็น กเฬวรากซากศพ, เขียนเป็น กเฬวราก์ ก็มี เช่น เผากเฬวราก์ผู้อนาถ”

นอกจากนี้ยังมีคำว่า “กเลวระ” (อ่านว่า กะ-เล-วะ-ระ) บอกไว้ว่า “ซากศพ เช่น ถึงกระนั้นก็จะพบพานซึ่งกเลวระร่าง มิเลือดก็เนื้อจะเหลืออยู่บ้างสักสิ่งอัน. (ม. ร่ายยาว มัทรี), ใช้ว่า กเฬวราก ก็มี”

“กเฬวราก” บาลีเป็น “กเฬวร” (อ่านว่า กะ-เล-วะ-ระ, เฬ- ฬ จุฬา) เขียนเป็น “กเลวร” (เล- ล ลิง ก็มี)
ความหมายเดิมของ “กเฬวร” มาจาก กเฬ (= จิต) + วร (ธาตุ = ระวัง, ป้องกัน) : กเฬ เจตสิ วรติ สํวรตีติ = กเฬวรํ
“กเฬวร” แปลตามศัพท์ว่า “ร่างที่ป้องกันที่จิต” (= ศูนย์กลางที่ทำให้ร่างดำรงอยู่ได้คือจิต) หมายถึง “ร่างกาย”

ศัพท์ว่า “กเฬวร” พบว่าใช้ในความหมาย 3 อย่าง คือ
1 ร่างกาย (the body)
2 ร่างที่ตายแล้ว, ซากศพ (a dead body, corpse, carcass)
3 ขั้นบันได (the step in a flight of stairs)

อย่างไรก็ตาม ความหมายที่ใช้บ่อยจนถือได้ว่าเป็นความหมายหลัก คือ ร่างที่ตายแล้ว หรือซากศพ

เราลากเสียง “กเฬวร” เป็น “กเฬวราก” เพื่อให้คล้องจองกับ “ซากศพ” เวลาพูดควบกันจึงเป็น “กเฬวรากซากศพ”

ซากศพเป็นที่น่ารังเกียจฉันใด คนเกะกะระรานทำให้ชาวบ้านเดือดร้อนก็น่ารังเกียจฉันนั้น จึงเป็นที่มาของคำเรียกคนชนิดนั้นว่า “กเฬวรากซากศพ”
ต่อมาคำว่า “ซากศพ” หายไป เหลือแต่ “กเฬวราก” แล้วก็เพี้ยนเป็น กะเลวะราด, กะเลกะราด หรือลากเข้าคำไทยเป็น “กะเรี่ยกะราด” ก็มี

: คนดีแม้จะตาย คนยังเสียดาย ไม่คิดว่าเป็นซากศพ
: คนเลวบัดซบ เป็นศพตั้งแต่ยังไม่ตาย

Read More
บาลีวันละคำ

เถยสังวาส-ลักเพศ (บาลีวันละคำ 450)

เถยสังวาส-ลักเพศ

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2542 เก็บคำว่า “เถยสังวาส” (เถย-ยะ-สัง-วาด) และบอกความหมายไว้ว่า “ลักเพศ”

“เถยสังวาส” บาลีเป็น “เถยฺยสํวาส” อ่านว่า เถย-ยะ-สัง-วา-สะ
“เถยฺย” มาจากศัพท์ว่า “เถน” (เถ-นะ) ที่แปลว่า “ขโมย” (คนที่เป็นขโมย)
“เถยฺย” แปลตามศัพท์ว่า “ความเป็นขโมย” = การขโมย, การลัก, โจรกรรม

“สํวาส” มาจาก สํ + วาส แปลตามศัพท์ว่า “การอยู่ร่วมกัน” “การอยู่ด้วยกัน” และรวมความไปถึงความสนิทสนมกัน การสมสู่อยู่กิน หรือครองคู่กันฉันผัวเมีย (ดู บาลีวันละคำ (317) 25-3-56)

“เถยฺยสํวาส” จึงแปลว่า “การอยู่ร่วมโดยความเป็นขโมย” คือตัวเองไม่มีสิทธิ์ที่จะอยู่ร่วมกับเขา แต่ “ขโมย” เขามาอยู่
คำนี้ความหมายเดิมคือการปลอมตัวเข้ามาอยู่ร่วมกับสงฆ์โดยตัวเองไม่ได้เป็นพระจริง แต่นุ่งห่มแสดงตนเป็นพระ คือขโมยเพศพระมาใช้ จึงแปลว่า “ลักเพศ”

“ลักเพศ” พจน.42 บอกคำอ่านว่า ลัก-กะ-เพด และบอกความหมายว่า ทําหรือแต่งตัวปลอมแปลงให้ผิดไปจากเพศของตน เช่นคฤหัสถ์แต่งตัวปลอมเพศเป็นสมณะ ผู้ชายแต่งตัวเป็นผู้หญิง; (ปาก) ทํานอกลู่นอกทาง

: มองหาดีที่เราเป็นให้เห็นประจักษ์
: เป็นแบบลักเพศเป็นไม่เห็นขำ
: ดีที่เป็นเป็นที่ดีอยู่ที่กรรม
: เป็นแล้วทำหน้าที่อย่าดีแต่เป็น

Read More
บาลีวันละคำ

พุทธาภิเษก (บาลีวันละคำ 449)

พุทธาภิเษก

อ่านว่า พุด-ทา-พิ-เสก
ประกอบด้วย พุทธ + อภิเษก

“พุทธ” บาลีเขียน “พุทฺธ” (โปรดสังเกตจุดใต้ ทฺ ซึ่งทำให้ ทฺ เป็นตัวสะกด) อ่านว่า พุด-ทะ หมายถึง “พระพุทธเจ้า”
“พุทฺธ – พุทธ” แปลตามความหมายว่า
ผู้รู้ = รู้สรรพสิ่งตามความเป็นจริง
ผู้ตื่น = ตื่นจากกิเลสนิทรา ความหลับไหลงมงาย
ผู้เบิกบาน = บริสุทธิ์ผ่องใสเต็มที่

“อภิเษก” บาลีเป็น “อภิเสก” (อะ-พิ-เส-กะ) แปลว่า การอภิเษก, การประพรม, การเจิม, การทำพิธีสถาปนา (เป็นกษัตริย์), การถวายน้ำศักดิ์สิทธิ์ให้เป็นพระราชา, การแต่งตั้ง, การบรรลุ
ในภาษาไทยใช้ว่า “อภิเษก” พจน.42 บอกความหมายว่า “แต่งตั้งโดยการทําพิธีรดนํ้า เช่นพิธีขึ้นเสวยราชย์ของพระเจ้าแผ่นดิน”

“อภิเสก – อภิเษก” ความหมายเดิมคือทำพิธีรดน้ำเพื่อประกาศสถานภาพบางอย่าง เช่นความเป็นกษัตริย์ ความเป็นคู่ครอง เมื่อเอาคำนี้มาใช้ในวัฒนธรรมไทยความหมายก็ค่อยๆ กลายเป็นว่า ทำพิธีในวาระสำคัญ ทำพิธีเพื่อให้เกิดความศักดิ์สิทธิ์
คำว่า “เสก” และ “ปลุกเสก” ที่หมายถึงร่ายมนตร์เพื่อทำให้ขลังหรือศักดิ์สิทธิ์ ก็น่าจะกร่อนกลายมาจากคำว่า “อภิเสก” นี่เอง

พุทธ + อภิเษก = พุทธาภิเษก เป็นคำที่เราผูกขึ้นใช้ พจน.42 ให้ความหมายไว้ว่า –
ชื่อพิธีในการปลุกเสกพระพุทธรูปหรือวัตถุมงคล โดยมีพระเถระผู้เชี่ยวชาญในการทำสมาธิจำนวนหนึ่ง ซึ่งเรียกว่า คณะปรก นั่งภาวนาส่งกระแสจิตเพ่งคุณพระรัตนตรัยเข้าไปสู่องค์พระหรือวัตถุมงคลนั้น ๆ

: “ลูกเอ๋ย อย่าปลุกเสกพ่อเลย
พ่อตื่นแล้ว
ลูกต่างหากที่ยังหลับอยู่”

————————–
(ตามคำเสนอแนะของพระคุณท่าน Sunant Sukantharam)

Read More
บาลีวันละคำ

พระมหา (บาลีวันละคำ 448)

พระมหา
มีที่มาอย่างไร

การใช้คำว่า “มหา” ประกอบชื่อพระภิกษุมีมาตั้งแต่สมัยพุทธกาล แต่ใช้ในฐานะเป็นคำบอกลักษณะบางอย่าง เช่น
– บอกรูปร่าง ดังชื่อ “พระมหาโมคคัลลานะ” สันนิษฐานว่าเพราะท่านมีรูปร่างสูงใหญ่
– เพื่อให้ต่างจากองค์อื่น เช่น “พระมหากาล” เพื่อให้ต่างจาก “พระจุลกาล” “พระมหาปันถก” เพื่อให้ต่างจาก “พระจุลปันถก”
– บอกคุณสมบัติบางอย่าง เช่นมีอายุพรรษามาก หรือมีอาวุโสกว่าองค์อื่นๆ ที่อยู่รวมกัน ก็เรียกว่า “พระมหาเถระ”

แต่ “พระมหา” ที่หมายถึง สมณศักดิ์ที่ใช้นําหน้าชื่อภิกษุผู้ที่สอบไล่ได้ตั้งแต่เปรียญธรรม 3 ประโยคขึ้นไป (พจน.42) ไม่เกี่ยวกับรูปร่าง หรือบอกความต่างจากองค์อื่น หรืออายุพรรษา แต่เป็นนามสมณศักดิ์ที่เกิดจากความสำเร็จการศึกษาทางพระปริยัติธรรม

สันนิษฐานกันว่า คำว่า “พระมหา” น่าจะมาจากคำเต็มว่า “พระมหาชาติ”
“มหาชาติ” เป็นชื่อเรียกเวสสันดรชาดก เป็นชาดกสำคัญที่คนไทยนิยมสดับตรับฟังกันมาแต่โบราณกาล ต้นฉบับในพระไตรปิฎกและอรรถกถาเป็นภาษาบาลี
ผู้ที่จะสามารถอ่านเข้าใจและนำ “มหาชาติ” มาเทศนาได้ดีที่สุดคือผู้ที่เรียนภาษาบาลีจนแตกฉาน จึงนิยมเรียกพระสงฆ์ที่รู้ภาษาบาลีว่า “พระมหาชาติ” ด้วยสามารถเทศน์เรื่องมหาชาติได้แตกฉานเป็นมูลเดิม
แม้พระเจ้าแผ่นดินก็ทรงสนับสนุนให้พระสงฆ์ศึกษาเล่าเรียนภาษาบาลีด้วยเห็นว่าเป็นทางรักษาสืบอายุพระศาสนา และทรงตั้งพระสงฆ์ที่รู้ภาษาบาลีถึงขนาด ให้เป็น “พระมหาชาติ” อนุวัตตามความนิยมนั้นด้วย
ต่อมา คำว่า “พระมหาชาติ” กร่อนไป เหลือเพียง “พระมหา” และภาษาปากเรียกสั้นๆ ว่า “มหา” คำเดียวก็มี

วิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี (คำว่า “พระมหา”) เขียนไว้ว่า –
“บางครั้งชาวบ้านใช้คำว่า ‘มหา’ เรียกอุบาสกบางท่าน ที่มีศรัทธาในพระพุทธศาสนาและมีความรู้เรื่องพระศาสนาดี หรือดำรงตนเป็นพุทธมามกะที่เคร่งครัด เพื่อเป็นการยกย่องและให้เกียรติ”

โปรดทราบว่า “พระมหา” หรือ “มหา” เป็นคำเรียกเฉพาะผู้ที่สอบไล่ได้ตั้งแต่เปรียญธรรม 3 ประโยคขึ้นไปเท่านั้น ถ้าใช้คำนี้เรียกผู้ที่ไม่มีคุณสมบัติเช่นนั้นย่อมเป็นการล้อเลียนหรือล้อเล่น มิใช่การยกย่องให้เกียรติแต่ประการใด

: “พระม-หา” คำนี้มีนัยะ
: สาธุสะเพราะซื่อสะอาดในศาสนา
: อย่าให้ใครสลับคำคว่ำราคา
: เป็น “พระห-มา” เพราะไม่ซื่อเสียชื่อเอย

Read More
บาลีวันละคำ

มหาเปรียญ (บาลีวันละคำ 447)

มหาเปรียญ

“มหา” ศัพท์เดิมในบาลีเป็น “มหนฺต” (มะ-หัน-ตะ) มีความหมายว่า ยิ่งใหญ่, กว้างขวาง, โต, มาก, สำคัญ, เป็นที่นับถือ
เมื่อผ่านกรรมวิธีทางไวยากรณ์ได้รูปเป็น “มหา-” มักใช้เป็นส่วนหน้าของสมาส

“มหา” ในคำว่า “มหาเปรียญ” หมายถึง สมณศักดิ์ที่ใช้นําหน้าชื่อภิกษุผู้ที่สอบไล่ได้ตั้งแต่เปรียญธรรม 3 ประโยคขึ้นไป (พจน.42)

“เปรียญ” (ปะ-เรียน) ผู้รู้บอกว่า น่าจะมาจากคำเก่าว่า “บาเรียน”
พจน.42 บอกว่า “บาเรียน : ผู้เล่าเรียน, ผู้รู้ธรรม, ผู้คงแก่เรียน, เปรียญ”
รูปคำ “เปรียญ” ท่านก็ว่ามาจากคำว่า “ปริญญา” หมายถึงความเข้าใจ, ความรอบรู้, ความรู้ที่ถูกต้องถ่องแท้
คำว่า “เปรียญ” ที่ใช้ในภาษาไทยอีกคำหนึ่งคือ “การเปรียญ” พจน.42บอกว่า “เรียกศาลาวัดสําหรับพระสงฆ์แสดงธรรมว่า ศาลาการเปรียญ”

“เปรียญ” ในคำว่า “มหาเปรียญ” หมายถึง ผู้สอบความรู้พระปริยัติธรรมสายบาลีได้ตามหลักสูตรตั้งแต่ 3 ประโยคขึ้นไป (พจน.42)

จะเห็นได้ว่า “มหา” กับ “เปรียญ” ในคำว่า “มหาเปรียญ” มีความหมายเท่ากัน
ข้อควรทราบคือ
1 “มหา” ใช้เป็นคำนําหน้าชื่อภิกษุผู้ที่สอบไล่ได้ตั้งแต่เปรียญธรรม 3 ประโยคขึ้นไป เรียกเต็มว่า “พระมหา” เช่น “พระมหาทองย้อย”
2 สามเณรที่สอบไล่ได้ตั้งแต่เปรียญธรรม 3 ประโยคขึ้นไป ไม่ใช้คำว่า “มหา” นำหน้าชื่อ แต่ให้ใช้คำว่า “เปรียญ” ต่อท้ายชื่อ นามสกุล เช่น “สามเณรทองย้อย แสงสินชัย เปรียญ” ต่อเมื่อได้อุปสมบทแล้วจึงใช้คำว่า “พระมหา-” และไม่ต้องมีคำว่า “เปรียญ” ต่อท้ายอีก
3 ถ้าเรียกเฉพาะภิกษุ ใช้คำว่า “พระมหา” ไม่ใช่ “พระมหาเปรียญ” เพราะแยกกันแล้วว่า “มหา” หมายถึงภิกษุ “เปรียญ” หมายถึงสามเณร ดังนั้นจึงไม่มี “พระมหาเปรียญ”
4 “มหาเปรียญ” (ไม่มีคำว่า “พระ”) เป็นคำรวมเรียกภิกษุสามเณรที่สอบไล่ได้ตั้งแต่เปรียญธรรม 3 ประโยคขึ้นไป รวมถึงที่ลาเพศไปแล้วด้วย เช่นที่พูดว่า พวกดอกเตอร์ พวกหมอ พวกครูบาอาจารย์ พวกมหาเปรียญ

ชอบกล :
จบเปรียญธรรม 9 ประโยคแล้วไปเรียนจนจบ ‘ดอกเตอร์’ มีมาก
จบ ‘ดอกเตอร์’ แล้วไปเรียนจนจบเปรียญธรรม 9 ประโยค ยังไม่มี

Read More
บาลีวันละคำ

น้ำมัน (บาลีวันละคำ 446)

น้ำมัน
ในภาษาบาลี

ข่าว “น้ำมันรั่วในอ่าวไทย” เมื่อวันที่ 27 กรกฎาคม 2556 ทำให้ชวนถามว่า “น้ำมัน” ภาษาบาลีว่าอย่างไร

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2542 บอกไว้ว่า
“น้ำมัน : ของเหลวที่มีลักษณะเป็นมันลื่น ไม่ละลายน้ำ สกัดจากพืช สัตว์ แร่บางชนิด เช่น ถ่านหิน, หรือที่สูบขึ้นมาจากแหล่งกำเนิด, โดยปริยายหมายถึงสิ่งที่มีลักษณะคล้ายคลึงเช่นนั้น เช่น น้ำมันใส่ผม. (อ. oil)”

พจนานุกรมอังกฤษ-บาลี แปล oil เป็นบาลีว่า “เตล”
“เตล” (เต-ละ) แปลตามรากศัพท์ว่า “น้ำที่เกิดจากเมล็ดงา” (ติลโต สมฺภูตํ = เตลํ) แสดงว่าแรกเริ่มเดิมทีมนุษย์ที่พูดภาษาตระกูล Indo-European รู้จัก “น้ำมัน” ที่สกัดจากเมล็ดงาก่อน จากนั้นมาน้ำมันทั่วไปแม้ไม่ได้สกัดจากเมล็ดงา ก็เรียกว่า “เตล” ไปด้วย

“เตล” คำเดียวหมายถึงน้ำมันทั่วๆ ไป ที่ใช้สำหรับดื่ม, เจิม, ทา และจุดไฟ
ส่วนน้ำมันที่สกัดจากแร่บางชนิด เช่น ถ่านหิน หรือที่สูบขึ้นมาจากแหล่งกำเนิด ที่เรียกเป็นคำอังกฤษว่า gasoline, petrol หรือ petroleum เป็นน้ำมันที่เกิดขึ้นใหม่ พจนานุกรมอังกฤษ-บาลี ผูกศัพท์บาลีขึ้นใช้ดังนี้ –

1 gasoline = “อสุทฺธ-ภูมิเตล” (อะ-สุด-ทะ พู-มิ-เต-ละ) แปลว่า น้ำมันจากพื้นดินที่ยังไม่ได้กลั่น

2 petrol (ไทยเรียกว่าเบนซิน อเมริกันเรียกว่า gasoline) = “โสธิต-ขณิชเตล” (โส-ทิ-ตะ ขะ-นิ-ชะ-เต-ละ) คำนี้น่าจะแปลว่า น้ำมันที่เกิดจากขุดเจาะขึ้นมา และกลั่นแล้ว

3 petroleum = “ภูมิชเตล” (พู-มิ-ชะ เต-ละ) แปลว่า น้ำมันที่เกิดจากพื้นดิน

: กตฺถจิ ปตฺถิยํ เตลํ
น้ำมัน จำปรารถนาในที่บางแห่ง
: สติ สพฺพตฺถ ปตฺถิยา
สติ จำปรารถนาในที่ทั้งปวง

Read More
บาลีวันละคำ

ถวายพระพรลา (บาลีวันละคำ 445)

ถวายพระพรลา

คำว่า “ถวายพระพรลา” เป็นคำในชุด “ถวายอนุโมทนา ถวายอดิเรก ถวายพระพรลา”

“ถวายพระพรลา” มีความหมายเฉพาะคำว่า พระสงฆ์ทูลลาเจ้านาย แต่เมื่ออยู่ในชุด “ถวายอนุโมทนา ถวายอดิเรก …” คำว่า “ถวายพระพรลา” หมายถึงพระสงฆ์ทูลพระเจ้าแผ่นดินและ/หรือพระบรมราชินี (คือถวายอดิเรกแก่พระองค์ไหนก็ทูลลาพระองค์นั้น)

การถวายพระพรลาจะกระทำในกรณีที่สถานที่ประกอบพิธีอยู่ในเขตพระราชฐานที่ประทับเท่านั้น ทั้งนี้อนุวัตตามธรรมเนียมผู้เป็นอาคันตุกะเข้าไปยังเคหสถานของท่าน เมื่อจะกลับก็ต้องบอกลาเจ้าของบ้านฉะนั้น

เพื่อให้เห็นลำดับการปฏิบัติโดยภาพรวม ขอสรุปดังนี้ –

1 เมื่อพิธีถึงขั้นตอนสุดท้าย ทรงประเคนจตุปัจจัยไทยธรรมแล้ว พระสงฆ์ “ถวายอนุโมทนา” (พูดตามภาษาชาวบ้านคือ ยะถา-สัพพี)

2 เมื่อพระสงฆ์สวดถวายอนุโมทนาจบบทสัพพี (ที่ลงท้ายว่า … อายุ วัณโณ สุขัง พะลัง) ประธานสงฆ์ “ถวายอดิเรก” (ตั้งพัดยศ ว่าองค์เดียว) จบแล้วพระสงฆ์สวดถวายอนุโมทนาต่อไปจนจบ (ที่ลงท้ายว่า ..ภะวันตุ เต)

3 พระสงฆ์รูปที่สองกล่าวคำ “ถวายพระพรลา” (ตั้งพัดยศ ว่าองค์เดียว) จบแล้วพระสงฆ์ทั้งนั้นลุกจากอาสนะออกจากมณฑลพิธีไป

คำ “ถวายพระพรลา” มีข้อความเป็นแบบแผนดังนี้ –

“ขอถวายพระพร เจริญพระราชสิริสวัสดิ์พิพัฒนมงคลพระชนมสุขทุกประการ จงมีแด่สมเด็จบรมบพิตรพระราชสมภารพระองค์ สมเด็จพระปรมินทรธรรมิกมหาราชาธิราชเจ้าผู้ทรงพระคุณอันประเสริฐ เวลานี้สมควรแล้ว อาตมภาพทั้งปวงขอถวายพระพรลา แด่สมเด็จบรมบพิตรพระราชสมภารพระองค์ผู้ทรงพระคุณอันประเสริฐ ขอถวายพระพร”

Read More
บาลีวันละคำ

ถวายอดิเรก (บาลีวันละคำ 444)

ถวายอดิเรก

“อดิเรก” บาลีเป็น “อติเรก” (อะ-ติ-เร-กะ) มาจาก อติ (= ยิ่ง, เกิน, ล่วง) + เอก (= หนึ่ง, เป็นหนึ่ง, เป็นเอก) ลง ร อาคม : อติ + ร + เอก = อติเรก กล่าวอีกนัยหนึ่ง ระหว่าง อติ กับ เอก เติมเสียง ร ตรงกลางเพื่อความสละสลวย จึงเป็น “อติเรก” แทนที่จะเป็น “อติเอก”

“อติเรก” แปลตามศัพท์ว่า “เกินหนึ่ง” “ยิ่งกว่าหนึ่ง” “เกินจากเป็นหนึ่งขึ้นไปอีก” (= เป็นหนึ่งหรือเป็นเอกอยู่แล้ว แต่นี่สูงกว่านั้นขึ้นไปอีก) ความหมายก็คือ มีปริมาณที่มากกว่าปกติ, นอกเหนือไปจาก (ที่มี ที่ได้ ที่ทำ) ปกติ, พิเศษกว่าปกติ หรือเป็นกรณีพิเศษ

“อติเรก” ภาษาไทยใช้เป็น “อดิเรก” (อะ-ดิ-เหฺรก) เมื่อใช้กับคำบางคำความหมายเบี่ยงเบนไป เช่น “งานอดิเรก” พจน.42 บอกว่า “งานที่ทำเพื่อความเพลิดเพลิน”

“อดิเรก” ในคำว่า “ถวายอดิเรก” เป็นชื่อพรพิเศษที่พระสงฆ์ถวายพระมหากษัตริย์ในพระราชพิธีบำเพ็ญพระราชกุศลในระหว่างอนุโมทนา

มีข้อควรทราบดังนี้ –

1 “พิธีบำเพ็ญพระราชกุศล” หมายถึงงานบุญที่พระเจ้าแผ่นดินทรงปฏิบัติเป็นพระราชกรณียกิจ (พูดตามภาษาชาวบ้านว่า พระเจ้าแผ่นดินเป็นเจ้าภาพ) และมีพิธีสงฆ์เป็นส่วนหนึ่งของงาน ทั้งนี้ไม่ว่าจะเสด็จฯ ด้วยพระองค์เอง หรือโปรดเกล้าฯ ให้มีผู้แทนพระองค์ หรือเป็นงานที่มีผู้ขอรับพระราชทานไปปฏิบัติ (เช่นกฐินพระราชทานเป็นต้น)

2 พระสงฆ์ที่จะถวายอดิเรกต้องมีสมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะ (ที่เรียกกันเป็นสามัญว่า “ท่านเจ้าคุณ”) ขึ้นไป ปัจจุบันนี้ อนุญาตให้พระครูสัญญาบัตรชั้นเอก ผู้ดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสพระอารามหลวง ซึ่งถือพัดยศเปลวเพลิงเป็นผู้ถวายอดิเรกได้โดยอนุโลม

3 ในขณะที่พระสงฆ์กล่าวคำถวายอดิเรก ผู้ร่วมพิธีไม่ต้องประนมมือ ผู้มีสิทธิ์ประนมมือรับพรคือพระเจ้าแผ่นดินเท่านั้น (ข้อนี้มักปฏิบัติผิดกันทั่วแผ่นดินแม้แต่คนระดับผู้ว่าราชการจังหวัด เห็นบ่อยที่สุดในงานกฐินพระราชทาน)

4 คำถวายอดิเรกเป็นภาษาบาลีมีข้อความดังนี้

อติเรกวสฺสสตํ ชีวตุ
อติเรกวสฺสสตํ ชีวตุ
อติเรกวสฺสสตํ ชีวตุ
ทีฆายุโก โหตุ อโรโค โหตุ
ทีฆายุโก โหตุ อโรโค โหตุ
สุขิโต โหตุ ปรมินฺทมหาราชา
สิทฺธิกิจฺจํ สิทฺธิกมฺมํ สิทฺธิลาโภ ชโย นิจฺจํ
ปรมินฺทมหาราชวรสฺส ภวตุ สพฺพทา ขอถวายพระพร

ในกรณีสมเด็จพระบรมราชินีเสด็จด้วย หรือสมเด็จพระบรมราชินีเสด็จพระองค์เดียว ข้อความเปลี่ยนแปลงจากนี้เล็กน้อย แต่ใจความหลักคงเดิม

5 ที่เรียกว่า “ถวายอดิเรก” ก็เนื่องมาจากคำขึ้นต้นว่า “อติเรกวสฺสสตํ …” นั่นเอง

คำถวายอดิเรกนี้ท่านไม่ได้แปลกันไว้ จึงขออนุญาตแปลเป็นไทยเพื่อให้ญาติมิตรชาว Facebook พอได้ทราบใจความ เป็นการเจริญศรัทธา ดังนี้

ขอสมเด็จบรมบพิตรจงทรงดำรงพระชนม์ยิ่งร้อยพรรษกาล
ขอสมเด็จบรมบพิตรจงทรงดำรงพระชนม์ยิ่งร้อยพรรษกาล
ขอสมเด็จบรมบพิตรจงทรงดำรงพระชนม์ยิ่งร้อยพรรษกาล

ขอจงทรงพระเจริญยิ่งยืนนาน ขอจงทรงบำราศจากพระโรคาพาธ
ขอจงทรงพระเจริญยิ่งยืนนาน ขอจงทรงบำราศจากพระโรคาพาธ

ขอพระปรมินทรมหาราชจงทรงพระเกษมสำราญ

Read More